กรุงเทพฯ--7 เม.ย.--สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย
ดร.ลักษมี ปลั่งแสงมาศ ผู้ว่าการ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี พร้อมด้วยหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน สถาบันการศึกษาและหน่วยงานวิจัยพันธมิตรจากต่างประเทศ ร่วมลงนามความร่วมมือการพัฒนาเขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor of Innovation : EECi ) โดยมีขอบเขตความร่วมมือ ดังนี้ 1.สนับสนุนข้อมูลและองค์ความรู้ ตลอดจนบุคลากรและทรัพยากรอื่นใดตามความสมควรและเหมาะสม เพื่อให้การพัฒนานโยบายและการวางแผนขับเคลื่อนการพัฒนาโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก EECi เป็นไปอย่างรอบคอบและมีประสิทธิภาพ 2.ดำเนินกิจกรรมวิจัย พัฒนาและนวัตกรรมร่วมกัน และ/หรือให้บริการตามภารกิจและบทบาทของแต่ละฝ่ายเพื่อส่งเสริมสนับสนุนกิจกรรมวิจัย พัฒนา และนวัตกรรมในพื้นที่ EECi และ 3.สนับสนุนข้อมูลและองค์ความรู้ตลอดจนบุคลากรและทรัพยากรอื่นใดตามสมควรและเหมาะสมในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับกิจกรรมวิจัย พัฒนา และนวัตกรรมของทุกภาคส่วนในพื้นที่ EECi (ในวันที่ 5 เมษายน 2560 ณ ห้องประชุม อาคารที่พักผู้โดยสาร (อาคาร 2) การท่าอากาศยานอู่ตะเภา อ.บ้านฉาง จ.ระยอง)
ทั้งนี้ กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ได้นำเสนอแผนงานการลงทุนการยกระดับและพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออกให้เป็นพื้นที่เศรษฐกิจใหม่ด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม (Eastern Economic Corridor of innovation : EECi) เพื่อส่งเสริมให้เกิดการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมขั้นสูงในพื้นที่บริเวณระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก โดยจะมีระบบนิเวศนวัตกรรมที่เหมาะสม เพื่อให้เกิดการทำวิจัยพัฒนาและสร้างนวัตกรรมร่วมกันระหว่างภาครัฐ เอกชน มหาวิทยาลัย รวมถึงชุมชนเพื่อให้เกิดการยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนในพื้นที่ ด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม ตลอดจนนำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนต่อไปในอนาคต เพื่อยกระดับอุตสาหกรรมทั้งในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก และอุตสาหกรรมในพื้นที่อื่น ๆ ทั่วประเทศ
โดย EECi นั้นมีวัตถุประสงค์ในการดำเนินงานหลักดังนี้ (1) วิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมอัจฉริยะของไทย เพื่อถ่ายทอดให้กับอุตสาหกรรมเป้าหมายในระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก ให้ผู้ประกอบการสามารถใช้เครื่องจักร อุปกรณ์ และระบบอัตโนมัติในราคาที่เหมาะสม และสร้างความเข้มแข็งให้กับอุตสาหกรรรมในพื้นที่ ตลอดจนสร้างอุตสาหกรรมใหม่ที่อาศัยเทคโนโลยีขั้นสูง เช่น อุตสาหกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ และอุตสาหกรรมอากาศยาน
(2) เชื่อมโยงภาคอุตสาหกรรมของไทยกับระบบการค้าของโลกผ่านการใช้เทคโนโลยีอัจฉริยะตลอดห่วงโซ่อุปทาน (End-to-End Intelligent Supply Chain) เพื่อยกระดับเศรษฐกิจของประเทศและส่งเสริมให้ระเบียงเศรษฐกิจตะวันออกเป็นศูนย์กลางการค้าการลงทุนด้วยเทคโนโลยีอัจฉริยะ
(3) ส่งเสริมให้เกิดวิสาหกิจเริ่มต้น (Startup) ทางด้านเทคโนโลยีอัจฉริยะและนวัตกรรมเพื่อเป็นพื้นฐานรองรับการเติบโตของอุตสาหกรรมใหม่ อุตสาหกรรมในระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก และอุตสาหกรรมทั่วประเทศในอนาคต
(4) เชื่อมโยงเครือข่ายการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมในประเทศกับต่างประเทศ เพื่อสร้างสังคมนวัตกรรมของประเทศรองรับความต้องการใช้เทคโนโลยีขั้นสูง ในลักษณะบูรณาการการทำงานร่วมกันระหว่างภาคธุรกิจ ภาคการศึกษา และภาครัฐ โดยพิจารณาในมิติของการส่งเสริมและพัฒนาธุรกิจ การวิจัยพัฒนานวัตกรรมขั้นสูง และความชัดเจนต่อเนื่องของนโยบายและมาตรการส่งเสริม (Triple Helix) และขยายผลต่อยอดไปสู่การมีส่วนร่วมของประชาชน (Quadruple Helix)
(5) ขับเคลื่อนให้ประเทศไทยก้าวสู่ประเทศนวัตกรรม (Innovation Thailand) ด้วยการพัฒนาระบบนิเวศนวัตกรรมที่สมบูรณ์ให้เป็นพื้นที่เศรษฐกิจใหม่ที่มีความเข้มข้นของงานวิจัยและพัฒนา ห้องปฏิบัติการวิจัยทั้งภาครัฐและเอกชน ห้องทดลองภาคสนาม (Living Lab) ศูนย์ทดสอบชั้นนำ ควบคู่กับการยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนในพื้นที่ด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม
จุดเด่นของ EECi คือ การสร้างพื้นที่ที่มีระบบนิเวศนวัตกรรมอย่างสมบูรณ์แบบ หรือเป็นเมืองนวัตกรรม (Innovation City) ที่เป็นต้นแบบของการพัฒนางานวิจัยเทคโนโลยีและนวัตกรรมในลักษณะองค์รวม ที่เน้นการบูรณาการการทำงานร่วมกันตามแนวทางประชารัฐ มีการใช้ทรัพยากรร่วมกันเพื่อก่อเกิดประโยชน์สูงสุด ด้วยการรวมศูนย์ห้องปฏิบัติการและสนามทดสอบนวัตกรรม (Fabrication Laboratory & Test-bed Sandbox) ศูนย์รับรองมาตรฐานนวัตกรรมทางด้านระบบและอุปกรณ์อัจฉริยะ โดยจัดตั้งเป็นเขตทดสอบนวัตกรรมอัจฉริยะของประเทศ ที่ผ่อนปรนกฎระเบียบที่อาจเป็นอุปสรรคต่อการคิดค้นนวัตกรรมใหม่ ตลอดจนการเป็นชุมชนการจ้างงานผู้เชี่ยวชาญเทคโนโลยีระดับสูงของทั้งหน่วยงานภาครัฐและเอกชน ควบคู่กับการยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนในพื้นที่ด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม เพื่อนำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนต่อไปในอนาคต