กรุงเทพฯ--7 เม.ย.--กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่
กพร. เตรียมพร้อมเข้าสู่กระบวนการปรึกษาหารือ ภายใต้กรอบความตกลงการค้าเสรีระหว่างไทย - ออสเตรเลีย (TAFTA)
กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) กระทรวงอุตสาหกรรม ย้ำคำสั่ง คสช. ระงับการทำเหมืองแร่ทองคำทุกราย ไม่เลือกปฏิบัติ ป้องกันและระงับผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชน พร้อมตั้งคณะทำงานเจรจาตามกระบวนการปรึกษาหารือ เพื่อหาข้อสรุปที่ชัดเจน
ตามที่ปรากฏเป็นข่าวกรณีบริษัท คิงส์เกต คอนโซลิเดทเต็ด ลิมิเต็ด ผู้ถือหุ้นใหญ่ บริษัท อัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) ส่งหนังสือแจ้งรัฐบาลไทยละเมิดข้อตกลงการค้าเสรีไทย - ออสเตรเลีย (TAFTA) หลังมีคำสั่งปิดเหมืองทองอย่างไม่เป็นธรรมในช่วงสิ้นปี 2559 นั้น
นายสมบูรณ์ ยินดียั่งยืน อธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ กล่าวว่า เนื่องจากมีการร้องเรียนและคัดค้านการประกอบกิจการเหมืองแร่ทองคำว่าการประกอบกิจการก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และสุขภาพของประชาชน รวมถึงปัญหาความขัดแย้งของประชาชนในพื้นที่โครงการทำเหมืองแร่ทองคำหลายแห่ง หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติจึงมีคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 72/2559 เรื่องการแก้ไขปัญหาผลกระทบจากการประกอบกิจการเหมืองแร่ทองคำ เป็นมาตรการตามความจำเป็นในการป้องกันและระงับผลกระทบ รวมถึงข้อขัดแย้งของประชาชนในพื้นที่ เพื่อประโยชน์ในการรักษาความสงบเรียบร้อย ส่งเสริมความสามัคคีและความสมานฉันท์ของประชาชนในชาติ โดยให้ผู้ประกอบการที่ได้รับประทานบัตรและใบอนุญาตต่าง ๆ ตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการประกอบกิจการเหมืองแร่ทองคำทุกราย ระงับการประกอบกิจการไว้จนกว่าคณะกรรมการนโยบายบริหารจัดการแร่แห่งชาติ จะมีมติเป็นอย่างอื่น ซึ่งกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ ได้ดำเนินการตามคำสั่งดังกล่าวมาโดยตลอดในการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่าง ๆ ในการวิเคราะห์ข้อเท็จจริงและปัญหา พร้อมทั้งเสนอมาตรการและแนวทางในการแก้ไขปัญหา การพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน และเสนอกรอบนโยบายและแผนยุทธศาสตร์ในการบริหารจัดการทรัพยากรแร่ทองคำต่อคณะกรรมการนโยบายบริหารจัดการแร่แห่งชาติเพื่อพิจารณาต่อไป
นายสมบูรณ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับการดำเนินการของบริษัท คิงส์เกตฯ ตามที่เป็นข่าว เป็นการดำเนินการตามกลไกภายใต้กรอบความตกลงการค้าเสรีระหว่างไทย - ออสเตรเลีย (Thailand - Australia Free Trade Agreement: TAFTA) เพื่อปรึกษาหารือถึงแนวทางปฏิบัติตามสิทธิของบริษัทฯ ซึ่งกระทรวงอุตสาหกรรมอยู่ระหว่างพิจารณาข้อเท็จจริงต่าง ๆ ที่มีความละเอียดอ่อนอย่างรอบด้าน เพื่อวางแนวทางในการแก้ไขปัญหา อย่างไรก็ตาม กระทรวงอุตสาหกรรมเคารพในสิทธิของบริษัทฯ และได้มีการเตรียมความพร้อมโดยจะมีการแต่งตั้งผู้แทนจากหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องร่วมเป็นคณะทำงานในการเจรจาตามกระบวนการปรึกษาหารือ (Consultations) ร่วมกับบริษัทฯ เพื่อหาข้อสรุปที่ชัดเจนต่อไป