กรุงเทพฯ--7 เม.ย.--กรมประมง
ภาคการประมงของประเทศไทยมีบทบาทสำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ แต่ทว่าเกษตรกรชาวประมงบางรายอาจผลิตสินค้าสัตว์น้ำโดยขาดความรู้ในเรื่องที่ทำทั้งในการรับรู้ข้อมูลข่าวสารและทักษะด้านการตลาดเพื่อช่วยประกอบการตัดสินใจสำหรับวางแผนการผลิตสินค้าประมงที่ปลอดภัยและได้มาตรฐาน ดังนั้นการสร้างความภาคภูมิใจและความมั่นคงในการประกอบอาชีพประมงด้วยวิธีการพัฒนาความรู้ ความสามารถให้ครอบคลุมในทุกด้านของการเลี้ยงสัตว์น้ำจึงเป็นเรื่องสำคัญที่จะต้องเสริมสร้างให้กับเกษตรกรชาวประมงของไทย
นายอดิศร พร้อมเทพ อธิบดีกรมประมง กล่าวว่า การสร้าง Smart Farmer ทุกพื้นที่ของประเทศไทยเป็นอีกหนึ่งแนวทางในการพัฒนาศักยภาพของเกษตรกรทั้งภาคการเกษตร ประมง และปศุสัตว์ ให้มีความรู้ในการประกอบอาชีพของตัวเองอย่างดี สามารถแก้ไขปัญหาได้และรู้จักการวางแผนการผลิตให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดโดยการใช้ข้อมูลต่างๆ ประกอบการตัดสินใจ ตลอดจนการใช้เทคโนโลยีต่างๆ เพื่อลดปัญหาในเรื่องของแรงงานอันจะนำมาซึ่งการผลิตสินค้าที่มีคุณภาพมีความปลอดภัยกับผู้บริโภคและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
จากข้อมูลของกรมประมงมีผู้ประกอบอาชีพการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำที่ขึ้นทะเบียนไว้จำนวน560,000 ราย ปัญหาอุปสรรคที่พบทั่วไปในการประกอบอาชีพเกษตรส่วนใหญ่ คือ ชาวประมงบางรายประสบปัญหาต้นทุนการเลี้ยงสัตว์น้ำสูง การเสื่อมโทรมของสภาพแวดล้อมโดยทั่วไปและการลดลงของทรัพยากรสัตว์น้ำ ทำให้
ผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำส่วนใหญ่ยังเป็นผู้ที่มีรายได้ต่ำกว่า180,000 บาท/ครัวเรือน/ปี ดังนั้นเพื่อพัฒนาให้เกษตรกรไทย
มีรายได้เพิ่มมากขึ้น มีศักยภาพทั้งด้านการผลิต การแปรรูป และการตลาด ในปี 2560 กรมประมงจึงได้ตั้งเป้าหมายจัดตั้งศูนย์ส่งเสริมแหล่งเรียนรู้ของเกษตรกรต้นแบบด้านการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ 77 แห่งทั่วประเทศ และจะคัดกรองเกษตรกร Smart Farmer จำนวน 15,000 รายเพื่อเป็นแกนนำการพัฒนางานด้านประมงในแต่ละท้องถิ่น โดยเกษตรกรที่ได้รับการคัดเลือกนั้นจะมีเพื่อนคู่คิดของเกษตรกร (Smart Officer) เจ้าหน้าที่ของ
กรมประมงที่มีความรู้และความเชี่ยวชาญให้ความรู้ทั้งทางตรงและทางอ้อม รวมถึงการเรียนรู้จากประสบการณ์จริงในการทำการประมงของ Smart Farmer ต้นแบบอย่างใกล้ชิด ทั้งนี้กรมประมงได้ตั้งเป้าหมายว่าจะพัฒนาเกษตรกร Smart Farmer ให้มีรายได้เฉลี่ยปีละไม่ต่ำกว่า 180,000 บาท เพื่อเป็นการช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตให้กับเกษตรกรรุ่นเก่ารวมถึงเป็นการจูงใจคนรุ่นใหม่ให้หันมาสนใจประกอบอาชีพทางด้านการเกษตรมากยิ่งขึ้น
นายสุรชัย แซ่จิว เกษตรกรปราดเปรื่องต้นแบบ (Smart Farmer) อ.บางเสาธง จ.สมุทรปราการ กล่าวว่า การเข้าสู่เส้นทางอาชีพประมงสำหรับตัวผมเริ่มต้นมาจากการล้มลุกคลุกคลานก็ว่าได้ ตอนนั้นเพราะพิษเศรษฐกิจทำให้ผมต้องออกจากงานและหันมารับช่วงต่อจากพ่อ-แม่ ทำอาชีพเกษตรกรรมและเริ่มเลี้ยงปลาเมื่อปี พ.ศ. 2518 เริ่มต้นยังไม่ค่อยมีประสบการณ์ส่งผลทำให้ยิ่งทำ ยิ่งเป็นหนี้ จนสุดท้ายมีหนี้มากสุดถึง 5 แสนบาท จุดเปลี่ยนที่ทำให้ผมกลับมาสู้อีกครั้งคือ "พ่อหลวงรัชกาลที่ 9" กับทฤษฎีพอเพียงทำจากน้อยไปหามาก แบ่งปัน ยิ่งให้ยิ่งได้ ช่วงนั้นผลผลิตสัตว์น้ำขาดทุนสิ่งที่เหลืออยู่ก็จะเป็นผลไม้อินทรีย์ อาทิ ฟักทอง มะม่วงมะพร้าว ฯลฯ ผมได้แบ่งให้ชาวบ้านเอาไปกิน ไม่นานจากการที่ผมเริ่มแบ่งปันก็เริ่มเห็นผล เริ่มมีคนสนใจมาซื้อผลไม้ที่สวนของผม ไม่นานผมตัดสินใจลงกุ้งขาวและปลานิลในบ่อเดียวกันอีกครั้งโดยครั้งนี้ขอคำปรึกษากับทางกรมประมง และผู้มีประสบการณ์โดยตรง ซึ่งเหมือนว่าจะไปได้ดีแต่ก็ต้องเจอกับช่วงวิกฤติอีกครั้ง เมื่อกุ้งในบ่อผมต้องเจอกับโรคกลุ่มอาการตายด่วน (EMS) ทำให้ต้องขาดทุนอีกครั้ง แต่ครั้งนี้กลับเป็นจุดเปลี่ยนของชีวิตเพราะผมได้รู้ว่าปลานิลเลี้ยงรวมกับกุ้งขาวได้ ผมเริ่มศึกษาวิธีการเลี้ยงปลาแบบผสมผสานโดยได้ยกคันดินรอบๆ ให้สูงและหนาขุดคูคลองรอบๆ พื้นที่นา ตรงกลางทำเป็นนาเพื่อปลูกข้าว ด้านพันธุ์สัตว์น้ำจะเลี้ยงกุ้งและปลากินพืชกินเนื้อรวมกันไร่ละ 1,500 ตัว ปล่อยกุ้งขาวไร่ละ 10,000 ตัว ทุก 2 เดือน / รุ่น ต่อเนื่องกัน เพราะมีการจับกุ้งขายทุกวัน โดยจะเน้นเติมเกลือในบ่อ ทุก 15 วัน เป็นการกระตุ้นช่วยให้กุ้งลอกคราบดีและโตไวตลอดทั้งปี โดยการปล่อยสัตว์น้ำลงบ่อจะปล่อยกุ้งและปลากินพืชลงพร้อมกันเพื่อให้ทำการปรับสภาพน้ำและดินให้พร้อมก่อน หลังจากนั้นประมาณ 20 วัน จึงปล่อยปลากินเนื้อตามลงไป ด้านอาหารสัตว์น้ำถือเป็นปัจจัยสำคัญในการลดต้นทุนการผลิต ผมจะทำอาหารเอง โดยสูตรอาหารปลาลดต้นทุนหลักๆ จะใช้รำละเอียด ต้นกล้วยสับ มูลไก่ และจุลินทรีย์ ผสมให้เข้ากัน จากวิธีการเลี้ยงแบบผสมผสานนี้แค่เพียง 3 ปี ทำให้สามารถปลดหนี้ได้ทั้งหมด ในปี 2558 ผลผลิตในฟาร์มสามารถสร้างผลกำไรได้ 350,000 บาท และในปี 2559-2560 (ข้อมูล ณวันที่ 12 มีนาคม 2560) เนื่องจากน้ำแล้งจึงทำให้ผลผลิตน้อย โดยรายได้จากผลผลิตที่เก็บเกี่ยวแล้วมียอดรวม เป็นเงิน 492,000 บาท แบ่งเป็น ปลา 6 ตัน (162,000 บาท) กุ้ง 2 ตัน (320,000 บาท) ผลไม้ 900 กก. (10,000 บาท)
ซึ่งรายได้หลังจากหักต้นทุนประมาณ 90,000 บาท จะเหลือรายได้ประมาณ 402,000 บาท ซึ่งยังไม่นับรวมกับผลผลิตที่ยังไม่ได้เก็บเกี่ยวจากปี 58 ได้แก่ ปลา และข้าว นับเป็นผลกำไรที่น่าพึงพอใจมากและสามารถยึดอาชีพนี้ใช้เลี้ยงครอบครัวได้เป็นอย่างดี หลังจากนั้นไม่นานกรมประมงได้คัดเลือกให้เป็นเกษตรกรปราดเปรื่อง (Smart Farmer) ผมได้มีโอกาสพัฒนาความรู้และประสบการณ์ จนได้เป็นเกษตรกรดีเด่นด้านบัญชีปี 2558 ประมงอาสาดีเด่นระดับจังหวัด ปี 2558 ปราชญ์ปลานิล ปี 2554 และเริ่มมีผู้สนใจเข้ามาศึกษาดูงานและนั่นก็กลายเป็นจุดเริ่มต้นของการเป็นศูนย์เรียนของผมโดยมีแนวคิดที่ว่า "พออยู่ พอกินลดต้นทุนการผลิต" นอกจากนี้ผมยังเป็นเครือข่ายประมงอาสาช่วยถ่ายทอดและแจ้งข่าวสารจากกรมประมงให้กับชาวประมงในพื้นที่อีกด้วย
ปัจจุบันฟาร์มของผมเป็นศูนย์เรียนรู้โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริอำเภอบางเสาธง มีพื้นที่ 28 ไร่ ตั้งอยู่บ้านเลขที่ 10/1 บ้านศรีษะจระเข้ใหญ่ หมู่ 8 ถ.วัดจระเข้ใหญ่ ต.ศรีษะจรเข้ใหญ่อ.บางเสาธง จ.สมุทรปราการ อีกทั้งกรมประมงได้คัดเลือกเป็นแหล่งเรียนรู้การเพาะเลี้ยงปลานิลจังหวัดสมุทรปราการ และเป็นศูนย์การเรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตรปี 2560 โดยที่นี่จะแบ่งฐานการเรียนรู้ เป็น 9 ฐาน ได้แก่ ฐานที่ 1 การทำปุ๋ยหมัก ฐานที่ 2 โรงสีข้าวชุมชน ฐานที่3 น้ำส้มควันไม้ ฐานที่ 4 การเลี้ยงปลาเบญจพรรณผสมกุ้งขาว ฐานที่ 5 การทำก๊าซหุงต้มจากมูลสัตว์ ฐานที่ 6 การปลูกข้าวปลอดสารพิษ ฐานที่ 7 อนุรักษ์ดินด้วยหญ้าแฝก ฐานที่ 8 บัญชีรับ-จ่ายครัวเรือน ท่านใดสนใจสามารถติดต่อได้ที่ แหล่งเรียนรู้การเพาะเลี้ยงปลานิลจังหวัดสมุทรปราการ