กรุงเทพฯ--7 เม.ย.--กรมส่งเสริมสหกรณ์
กรมส่งเสริมสหกรณ์ เดินหน้าพัฒนาผู้ตรวจการสหกรณ์ ตามแผนพัฒนาความเข้มแข็งสหกรณ์ ปี2559-2560 ติวเข้มองค์ความรู้ เพิ่มทักษะและประสบการณ์ให้ผู้ตรวจการสหกรณ์ ทำหน้าที่ตรวจสอบป้องปรามเพื่อระงับยับยั้งปัญหาการทุจริต และนำเสนอแนวทางการแก้ไขข้อบกพร่องในสหกรณ์ไม่ให้ลุกลามขยายออกไป
นายพิเชษฐ์ วิริยะพาหะ รองอธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ กล่าวว่า ตามมติที่ประชุมของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน 2558 มีมติเห็นชอบแผนพัฒนาความเข้มแข็งสหกรณ์ ปี 2559 – 2560 โดยมอบหมายให้กรมส่งเสริมสหกรณ์ขับเคลื่อนแผนนี้ สู่การปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม พร้อมทั้งกำหนดมาตรการให้บรรลุตามแผนรวม 5 มาตรการ ซึ่งหนึ่งในมาตรการสนับสนุนแผนพัฒนาความเข้มแข็งสหกรณ์นี้คือ โครงการพัฒนาผู้ตรวจการสหกรณ์ โดยมีเป้าหมายในการพัฒนาองค์ความรู้แก่ผู้ตรวจการสหกรณ์ เพื่อทำหน้าที่ในการเข้าไปกำกับดูแลการดำเนินงานของสหกรณ์ รวมถึงเป็นกลไกการตรวจสอบของหน่วยงานภาครัฐให้มีความเข้มแข็งยิ่งขึ้น และรวดเร็วทันต่อเหตุการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ทั้งนี้ บุคลากรที่ได้รับมอบหมายให้ทำหน้าที่ผู้ตรวจการสหกรณ์นับว่ามีความสำคัญในการเข้าไปติดตามดูแลตรวจสอบการดำเนินงานของสหกรณ์ให้เป็นไปตามระเบียบข้อบังคับและกฎหมาย รวมถึงป้องปรามไม่ให้มีข้อบกพร่องหรือเกิดการทุจริตขึ้นในสหกรณ์ ดังนั้น กรมฯจึงเล็งเห็นถึงความจำเป็นในการเพิ่มพูนองค์ความรู้ด้านต่างๆ รวมถึงพัฒนาทักษะและประสบการณ์ให้แก่ผู้ตรวจการสหกรณ์ ให้สามารถปฏิบัติงานได้ตามแนวทางที่นายทะเบียนสหกรณ์กำหนด รวมถึงสามารถระงับยับยั้งป้องปราบการทุจริตและสามารถแก้ไขข้อบกพร่องต่างๆ ที่เกิดขึ้นไม่ให้เกิดการลุกลามขยายตัวออกไป ขณะเดียวกันยังเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยเหลือนายทะเบียนสหกรณ์ ในการตรวจการสหกรณ์ในพื้นที่ วิเคราะห์ คัดกรองและวางแนวทางแก้ไขปัญหา ตลอดจนติดตามผลการแก้ปัญหาข้อบกพร่องของสหกรณ์ได้อย่างทันท่วงทีกับข้อบกพร่องที่ตรวจพบ
สำหรับความสำคัญและประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นจากการจัดโครงการผู้ตรวจการสหกรณ์ในครั้งนี้คือการตรวจการสหกรณ์ เป็นเครื่องมือของภาครัฐในการควบคุม หรือช่วยกำกับดูแลระบบสหกรณ์ของประเทศ ให้สามารถดำเนินงานได้อย่างถูกต้องตามหลักการและวิธีการสหกรณ์ โดยคัดเลือกเป้าหมายสหกรณ์จากสหกรณ์ที่มีความเสี่ยงสูง สหกรณ์การเกษตรระดับอำเภอและสหกรณ์ที่มีผลการวิเคราะห์สถานภาพสหกรณ์ว่าต้องเฝ้าระวัง ซึ่งทีมตรวจสอบสหกรณ์จะต้องตรวจการสหกรณ์ให้ครบ
ทุกแห่งภายใน 3 ปี ทั้งนี้จะไปในรูปแบบของคณะผู้ตรวจการสหกรณ์ประจำจังหวัด ในส่วนของการกำหนดประเด็นเพื่อการตรวจสอบต้องตรวจให้ครบทุกประเด็น และเป็นไปตามแนวทางการตรวจการสหกรณ์ตามที่กำหนด พร้อมด้วยวิเคราะห์ข้อมูลขั้นต้นของสหกรณ์ ที่จะเข้าตรวจสอบจากรายงานการตรวจสอบบัญชีและรายงานผลการส่งเสริมสหกรณ์ตามระบบ CPS