กรุงเทพฯ--10 เม.ย.--กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน
กระทรวงแรงงาน ย้ำนายจ้างมีลูกจ้างตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป ต้องจัดทำข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน และต้องเป็นไปตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน หากฝ่าฝืนมีความผิดทางอาญา
นายสุเมธ มโหสถ อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) กระทรวงแรงงานเปิดเผยว่า พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 กำหนดให้นายจ้างซึ่งมีลูกจ้างรวมกันตั้งแต่สิบคนขึ้นไปต้องจัดทำข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน และเก็บไว้ ณ สถานประกอบกิจการพร้อมให้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบ
โดยมีรายละเอียดเกี่ยวกับ วัน เวลาทำงาน การจ่ายค่าจ้าง การลงโทษทางวินัย เป็นต้น ทั้งนี้ข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานถือเป็นกฎ กติกา ในการทำงานร่วมกันระหว่างนายจ้างและลูกจ้าง ซึ่งจะช่วยให้การบริหารจัดการด้านแรงงานเป็นไปด้วยความราบรื่น เกิดความร่วมมือร่วมใจและความสัมพันธ์อันดีระหว่างนายจ้างและลูกจ้างในสถานประกอบกิจการ เพราะทั้งสองฝ่ายได้ทราบและเข้าใจข้อกฎหมายและกติกา
ในการทำงานร่วมกัน ทั้งนี้ข้อบังคับฯที่ขัดต่อกฎหมายจะไม่สามารถใช้บังคับกับลูกจ้างได้ และนายจ้างมีความผิดตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน ซึ่งมีโทษจำคุกตั้งแต่ 6 เดือน ถึง 2 ปี ปรับตั้งแต่ 5,000 บาท ถึง 800,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กล่าวเพิ่มเติมว่า กรณีที่มีการแก้ไข ปรับปรุงพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน(ฉบับที่..) พ.ศ..... ซึ่งมีข้อกำหนดให้นายจ้างไม่ต้องส่งสำเนาข้อบังคับฯให้กับเจ้าหน้าที่ เพื่อลดภาระของนายจ้าง เกิดภาพลักษณ์ที่ดีต่อประเทศไทยในการลดขั้นตอนการประกอบธุรกิจ ซึ่งส่งผลดีต่อการจูงใจในการเข้ามาลงทุนในประเทศไทยตามนโยบายของรัฐบาล และเมื่อมีการลงทุนเพิ่มมากขึ้นก็จะก่อให้เกิดการจ้างงานเพิ่มขึ้นด้วย อย่างไรก็ตามการแก้ไขกฎหมายดังกล่าวไม่ได้ทำให้สิทธิที่มีอยู่ตามกฎหมาย เช่น สิทธิเกี่ยวกับการลา วันหยุด ค่าจ้าง ของลูกจ้างลดลง เพราะนายจ้างยังคงต้องปฏิบัติตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน นายจ้าง ลูกจ้างมีข้อสงสัยสอบถามได้ที่ สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 1 - 10 สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดทุกจังหวัด หรือที่โทรศัพท์สายด่วน 1546