กรุงเทพฯ--10 เม.ย.--มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. กรวินท์วิชญ์บุญพิสุทธินันท์
อาจารย์และนักวิจัย วิทยาลัยการแพทย์แผนไทย มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี
ประเทศไทยเรามีพืชสมุนไพรที่มีคุณค่าจำนวนมาก ทำให้ต่างชาติให้ความสนใจและยอมรับเรื่องคุณประโยชน์ของสมุนไพรไทย แต่ยังมีพืชอีกหลายชนิดที่เรายังไม่ทราบถึงฤทธิ์ทางชีวภาพหรือฤทธิ์ทางเภสัชวิทยา และความปลอดภัย หากเรารู้ถึงประโยชน์ของพืชเหล่านั้นแล้ว เราก็จะสามารถนำพืชเหล่านั้นไปพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ยา เครื่องสำอาง และเสริมอาหารได้ต่อไป นี่คือเหตุผลที่ทำให้สนใจการวิจัยเกี่ยวกับพืชสมุนไพรมาตลอด
จึงตัดสินใจทำโครงการวิจัยถั่วหรั่ง(Bambarra Groundnut)ซึ่งเป็นพืชที่ปลูกในภาคใต้ โดยได้รับการสนับสนุนทุนวิจัยโปรแกรมสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม (iTAP) โดยสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ผลของการวิจัยทำให้ค้นพบสารสกัดจากถั่วหรั่งที่มีจุดเด่นหลักอยู่ที่ 3 กลไก คือ
1.กลไกยับยั้งเนื่องจากสารสจากถั่วหรั่งจะยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ไทโรซิเนสที่มีส่วนกระตุ้นสร้างเม็ดสีเมลานิน และยังยับยั้งการสังเคราะห์เมลานินของเซลล์เมลาโนไซส์ได้ดีกว่าสารที่ใช้ในปัจจุบัน เช่น กรดโคจิก หรือ กลูต้าไทโอน ซึ่งจากกลไกนี้จะช่วยลดความหมองคล้ำ ฝ้า กระ และรอยจุดด่างดำ ทำให้ผิวหน้าขาวกระจ่างใสได้อย่างเป็นธรรมชาติ
2.กลไกต่อต้านสารสกัดที่ค้นพบจะต่อต้านการเกิดปฏิกิริยาออกซิเดชันในร่างกายได้ถึง 3 กลไก ซึ่งมีฤทธิ์ที่ดีกว่าสารต้านอนุมูลอิสระทั่วไป (antioxidant) เช่น วิตามินซีและวิตามินอี เป็นต้น โดยจะช่วยในเรื่องของการป้องกันการทำลายดีเอ็นเอในระดับเซลล์และเนื้อเยื่อ ลดการทำลายคอลลาเจนในชั้นผิวหนังของสารอนุมูลอิสระที่พบในชีวิตประจำวัน ซึ่งทำให้สามารถลดริ้วรอยและการแก่ก่อนวัยได้
3.กลไกฟื้นฟูสารสกัดที่ได้จากถั่วหรั่งจะช่วยกระตุ้นเซลล์ผิวหนังได้ดี และมีการเสริมสร้างคอลลาเจนในเซลล์ผิวหนัง ซึ่งจะเป็นการปรับสภาพผิวและฟื้นฟูโครงสร้างของผิว รวมทั้งกระตุ้นให้ผิวชั้นนอกแข็งแรงได้อีกด้วย
จากความโดดเด่นทั้ง 3 กลไกของถั่วหรั่ง ทำให้งานวิจัยดังกล่าวได้รับรางวัลชนะเลิศเหรียญทอง จากการประกวดระดับโลกในงาน "World Innovation Contest, WiC 2016 ที่ประเทศเกาหลีใต้ เนื่องจากงานวิจัยดังกล่าวทำให้ได้สารสกัดที่เป็นนวัตกรรมใหม่จากธรรมชาติ ที่ออกฤทธิ์ทางชีวภาพในการยับยั้งเอนไซม์ไทโรซิเนสและการต้านอนุมูลอิสระและสามารถนำไปสู่การพัฒนาให้เป็นส่วนผสมในเครื่องสำอางที่ปลอดภัย รวมทั้งช่วยลดการนำเข้าสารเคมีและเครื่องสำอางจากต่างประเทศสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการส่งเสริมและสนับสนุนให้ประชาชนหันมาบริโภคสินค้าหรือผลิตภัณฑ์ที่เกิดจากภูมิปัญญาของคนไทยเอง นอกจากนี้แล้ว หากผลการวิจัยที่อาจทำให้เป็นที่รู้จักมากขึ้นและสามารถนำไปผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางที่มีส่วนผสมของสารสกัดจากถั่วหรั่ง จะทำให้ตลาดมีความต้องการสารสกัดและสามารถส่งออกต่างประเทศได้ ซึ่งจะทำให้ถั่วหรั่งอาจกลายเป็นพืชเศรษฐกิจได้ในอนาคต สามารถช่วยเพิ่มรายได้ให้เกษตรกรทางภาคใต้