กรุงเทพฯ--10 เม.ย.--ฟิทช์ เรทติ้งส์
บริษัท ฟิทช์ เรทติ้งส์ (ประเทศไทย) จำกัด ประกาศจัดอันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาว (National Long-Term Rating) ให้กับบริษัท เคซีอี อีเลคโทรนิคส์ จำกัด (มหาชน) หรือ KCE เป็นครั้งแรกที่ 'A-(tha)' แนวโน้มเครดิตมีเสถียรภาพ
ปัจจัยที่มีผลต่ออันดับเครดิต
การผลิตแผ่นพิมพ์วงจรอิเล็กทรอนิกส์สำหรับอุตสาหกรรมรถยนต์มีอัตราส่วนกำไรสูง: KCE เน้นผลิตแผ่นพิมพ์วงจรอิเล็กทรอนิกส์ที่ใช้ในอุตสาหกรรมรถยนต์ซึ่งมีการเติบโตและอัตราส่วนกำไรที่สูง นอกจากนี้ในอุตสาหกรรมนี้ยังมีความยากลำบากสำหรับคู่แข่งรายใหม่ในการเข้าสู่อุตสาหกรรม (High Barrier to Entry) เมื่อเทียบกับอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์สำหรับสินค้าบริโภคทั่วไป (Consumer Electronics) ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ปัจจัยดังกล่าวได้ช่วยให้การดำเนินงาน และสถานะทางธุรกิจของ KCE ปรับตัวดีขึ้น แม้ว่าสภาวะอุตสาหกรรมจะมีความท้าทาย
ผู้ผลิตแผ่นพิมพ์วงจรอิเล็กทรอนิกส์สำหรับอุตสาหกรรมรถยนต์รายใหญ่: KCE เป็นหนึ่งในสิบของผู้ผลิตแผ่นพิมพ์วงจรอิเล็กทรอนิกส์สำหรับอุตสาหกรรมรถยนต์รายใหญ่ของโลกตามรายได้ ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา รายได้ของ KCE เติบโตอย่างแข็งแกร่ง โดยมีอัตราการเติบโตสูงกว่าอุตสาหกรรมโดยรวม นอกจากนี้ KCE ยังมีอัตราส่วนกำไรที่สูง เนื่องจากบริษัทมีโครงสร้างต้นทุนที่อยู่ในระดับต่ำจากกระบวนการผลิตที่มีประสิทธิภาพ และค่าแรงที่ต่ำในประเทศไทย
โอกาสการเติบโตในอนาคต: KCE ยังได้รับประโยชน์จากโอกาสการเติบโตในระยะยาวของผลิตภัณฑ์แผ่นพิมพ์วงจรอิเล็กทรอนิกส์สำหรับอุตสาหกรรมรถยนต์ จากการผลิตรถยนต์ที่เติบโตเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะรถยนต์ไฟฟ้า และการเพิ่มขึ้นของอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ในรถยนต์ ในช่วงสามปีที่ผ่านมา รายได้ของ KCE เติบโตในอัตราเฉลี่ยร้อยละ 14 มาอยู่ที่ 1.38 หมื่นล้านบาทในปี 2559 จาก 9.3 พันล้านบาท ในปี 2556 ในขณะที่กระแสเงินสดจากการดำเนินงานก่อนการเปลี่ยนแปลงของเงินทุนหมุนเวียน (Funds Flow from Operations) เพิ่มขึ้นอย่างมากมาอยู่ที่ 4 พันล้านบาทในปี 2559 จาก 1.6 พันล้านบาทในปี 2556
สถานะทางการเงินที่แข็งแกร่ง: ฟิทช์คาดว่าถึงแม้ว่าการลงทุนของบริษัทจะยังคงอยู่ในระดับสูง KCE น่าจะยังคงมีกระแสเงินสดที่แข็งแกร่ง และสามารถรักษาอัตราส่วนหนี้สินให้อยู่ในระดับต่ำ ในช่วง 2-3 ปีข้างหน้า โดย Funds Flow from Operations ที่แข็งแกร่งในระดับประมาณ 3.7-4.4 พันล้านบาทต่อปีในช่วง 3 ปีข้างหน้า น่าจะเพียงพอสำหรับเงินลงทุน และเงินปันผลจ่าย ซึ่งส่งผลให้บริษัทน่าจะมีกระแสเงินสดสุทธิเป็นบวกในช่วงดังกล่าว ฟิทช์คาดว่าอัตราส่วนหนี้สินสุทธิที่ปรับปรุงแล้วต่อกระแสเงินสดจากการดำเนินงานก่อนการเปลี่ยนแปลงของเงินทุนหมุนเวียน (FFO-Adjusted Net Leverage) จะอยู่ในระดับต่ำกว่า 1 เท่าในช่วง 3 ปีข้างหน้า (สิ้นปี 2559 อยู่ที่ 0.9 เท่า)
ความเสี่ยงจากราคาทองแดง: KCE มีความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงของราคาวัตถุดิบ โดยเฉพาะราคาทองแดง ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 8 ของต้นทุนการผลิต ฟิทช์คาดว่าราคาทองแดงที่มีการเปลี่ยนแปลงร้อยละ 10 จากราคาที่บริษัทคาดไว้น่าจะมีผลกระทบต่ออัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงานก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อม ค่าตัดจำหน่าย ต่อรายได้ (EBITDA Margin) ประมาณร้อยละ 0.8 ฟิทช์คาดว่าราคาทองแดงจะปรับตัวสูงขึ้นในปี 2560 และส่งผลให้ EBITDA Margin ของ KCE อาจลดลงมาอยู่ที่ประมาณร้อยละ 28 (ปี 2559 อยู่ที่ร้อยละ 29) ถึงแม้ว่าบริษัทจะยังคงได้รับประโยชน์การกระบวนการผลิตที่มีประสิทธิภาพขึ้นจากกระบวนการผลิตของโรงงานใหม่ บริษัทมีการเสนอการเปลี่ยนแปลงราคาของผลิตภัณฑ์ปีละหนึ่งครั้ง ซึ่งทำให้บริษัทสามารถเจรจาเพิ่มราคาผลิตภัณฑ์ในการเสนอราคาครั้งต่อไปหากต้นทุนราคาทองแดงมีแนวโน้มสูงขึ้น อย่างไรก็ตามการส่งผ่านต้นทุนราคาทองแดงนั้นขึ้นอยู่กับอำนาจการต่อรองระหว่างบริษัทและลูกค้า
การกระจุกตัวของรายได้; ความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน: ปัจจัยเสี่ยงหลักของ KCE ประกอบด้วยการที่บริษัทมีกลุ่มลูกค้าที่กระจุกตัว การแข่งขันด้านราคาที่สูง และความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีของอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ นอกจากนี้ KCE ยังมีความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยน โดยการแข็งค่าของเงินบาทเมื่อเทียบกับสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐฯ อาจส่งผลให้บริษัทรับรู้รายได้ในรูปสกุลเงินบาทลดลง
การกำหนดอันดับเครดิตโดยสรุป
สถานะทางธุรกิจของ KCE ได้รับการสนับสนุนจากกลยุทธ์ของบริษัทที่เน้นผลิตแผ่นพิมพ์วงจรอิเล็กทรอนิกส์ที่ใช้ในอุตสาหกรรมรถยนต์ ซึ่งมีการเติบโต และอัตราส่วนกำไรที่สูง นอกจากนี้ยังมีความยากลำบากสำหรับคู่แข่งรายใหม่ในการเข้าสู่อุตสาหกรรมนี้ เมื่อเทียบกับผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์สำหรับสินค้าบริโภคทั่วไป ถึงแม้ว่าบริษัทจะดำเนินธุรกิจในอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ที่มีความเสี่ยงสูงกว่าความเสี่ยงของอุตสาหกรรมอื่นๆโดยรวม KCE ดำเนินงานในอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ที่มีความเสี่ยงใกล้เคียงกับบริษัท เอสวีไอ จำกัด (มหาชน) หรือ SVI (BBB+(tha)/แนวโน้มเครดิตมีเสถียรภาพ) โดยบริษัททั้งสองเน้นตลาดเฉพาะกลุ่มในอุตสาหกรรมที่ตนดำเนินงานอยู่ ซึ่งมีการแข่งขัน และความผันผวนของความต้องการ ที่ต่ำกว่า ทำให้บริษัทมีรายได้และกำไรที่ค่อนข้างมั่นคง อย่างไรก็ตาม KCE มีอัตราส่วนกำไรที่สูงกว่า SVI มาก ซึ่งน่าจะสะท้อนถึงการแข่งขันที่รุนแรงน้อยกว่า และต้นทุนการผลิตที่ดีกว่า นอกจากนี้ KCE ยังมีขนาดใหญ่กว่า SVI อย่างมีนัยสำคัญทั้งในด้านรายได้และกำไร ปัจจัยดังกล่าวส่งผลให้ KCE มีอันดับเครดิตสูงกว่า SVI หนึ่งระดับ
สมมุติฐานที่สำคัญ
สมมุติฐานที่สำคัญของฟิทช์ที่ใช้ในการประมาณการ
- รายได้เติบโต 2%-8% ในช่วงปี 2560-2561
- ราคาทองแดงเพิ่มขึ้นในปี 2560 และ 2561
- EBITDA Margin อยู่ที่ร้อยละ 28-29 ในช่วงปี 2560-2561
- มีการลงทุนสูงเพื่อขยายกำลังการผลิตในปี 2560 และ 2561
- อัตราส่วนการจ่ายเงินปันผลที่ร้อยละ 40
- ไม่มีการซื้อกิจการ
ปัจจัยที่อาจมีผลต่ออันดับเครดิตในอนาคต
ปัจจัยบวก
- การขยายตัวของบริษัท และเพิ่มการกระจายตัวของลูกค้า โดยยังคงรักษาอัตราส่วน FFO-Adjusted Net Leverage ต่ำกว่า 1.5 เท่า และ EBITDAR Margin สูงกว่าร้อยละ 25 อย่างต่อเนื่อง
ปัจจัยลบ
- กระแสเงินสด ที่ต่ำกว่าที่คาด หรือเงินลงทุนที่สูงกว่าที่คาด หรือมีการซื้อกิจการ ซึ่งส่งผลให้ FFO-Adjusted Net Leverage ของบริษัทเพิ่มขึ้นเกิน 1.5 เท่าอย่างต่อเนื่อง
- EBITDAR Margin ต่ำกว่าร้อยละ 20 อย่างต่อเนื่อง
- สถานะทางการตลาดที่อ่อนแอลง หรือการสูญเสียลูกค้ารายสำคัญ
สภาพคล่อง
KCE มีสภาพคล่องที่เพียงพอ โดย ณ สิ้นปี 2559 บริษัทมีหนี้ที่ถึงกำหนดชำระภายในหนึ่งปีจำนวน 2.4 พันล้านบาท โดยหนี้ระยะสั้นดังกล่าวส่วนใหญ่ประกอบด้วยหนี้เพื่อสนับสนุนการส่งออก โดยมีหนี้ระยะยาวที่ถึงกำหนดชำระในปี 2560 จำนวน 550 ล้านบาท ซึ่งบริษัทมีเงินสดเพียงพอจำนวน 892 ล้านบาท ในขณะที่บริษัทมีสภาพคล่องอย่างเพียงพอซึ่งมาจากวงเงินกู้หมุนเวียนที่ยกเลิกไม่ได้จำนวน 1.57 หมื่นล้านบาท ณ สิ้นปี 2559