กรุงเทพฯ--10 เม.ย.--สำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
พลเอกฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้เดินทางตรวจเยี่ยมการช่วยเหลือภัยแล้ง รวมทั้งการปรับเปลี่ยนการทำการเกษตรที่ไม่เหมาะสมโดยใช้ Agri-Map ในพื้นที่จังหวัดสระแก้ว โอกาสนี้พลเอกฉัตรชัยได้รับฟังการบรรยายสรุปความเสียหายจากภัยแล้ง การช่วยเหลือตามมาตรการระยะสั้น การปรับเปลี่ยนการทำเกษตรที่ไม่เหมาะสม โดยใช้ Agri-Map จากข้าวเป็นพืชอื่น และจากข้าวเป็นปศุสัตว์ จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง หลังจากนั้นเดินทางไปยังพื้นที่ปลูกอ้อย ต.หนองสังข์ อ.อรัญประเทศ เพื่อมอบเงินช่วยเหลือตามระเบียบฯ 111.83 ล้านบาท ให้ผู้แทนเกษตรกร ก่อนเดินทางไปยังพื้นที่เลี้ยงโคเนื้อแบบประนีต ต.หนองม่วง อ.โคกสูง เพื่อรับชมนิทรรศการ และตรวจเยี่ยมการเลี้ยงสัตว์ พร้อมมอบโคให้เกษตรกรจำนวน 46 ตัว
พลเอกฉัตรชัย เปิดเผยว่า ในปีนี้ สถานการณ์ภัยแล้งมีความรุนแรงไม่มากนัก มีการประกาศเขตให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน (ภัยแล้ง) ตั้งแต่วันที่ 16 ธ.ค. 59 จำนวน 1 จังหวัด 3 อำเภอ 13 ตำบล 85 หมู่บ้าน คือ จ.สระแก้ว ในพื้นที่ อ.อรัญประเทศ อ.โคกสูง และ อ.ตาพระยา มีพื้นที่นาข้าวเสียหายสิ้นเชิง 100,476.50 ไร่ เกษตรกร 6,106 ราย วงเงินช่วยเหลือตามระเบียบฯ 111.83 ล้านบาท โดยลักษณะพื้นที่ จ.สระแก้วมีแหล่งน้ำไม่มากนัก มีพื้นที่ในเขตชลประทานประมาณ 190,303 ไร่ มีการปลูกข้าว 853,992 ไร่ อยู่นอกเขตชลประทาน ผลผลิตประมาณ 380 กก./ไร่ ซึ่งถือว่าน้อย อีกทั้งลักษณะภูมิประเทศ จ.สระแก้ว ไม่มีแม่น้ำสายใหญ่ไม่สามารถจัดทำแหล่งน้ำได้มากนัก การปลูกข้าวมีความเสี่ยงสูง ทั้งจากภัยแล้ง และการขาดทุน จึงกำหนดการช่วยเหลือเป็น 2 ส่วน ได้แก่ 1) มาตรการระยะสั้น โดยการสนับสนุนน้ำอุปโภคบริโภค การสนับสนุนปัจจัยการผลิต ตลอดจนการเร่งรัดการจ่ายเงินช่วยเหลือตามระเบียบฯ 111.83 ล้านบาท เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้เกษตรกร ซึ่งจากการเร่งรัดสามารถจ่ายเงินผ่าน ธ.ก.ส. ได้ในวันที่ 7 เม.ย. 60 และ 2) มาตรการระยะยาว โดยการพัฒนาแหล่งน้ำ/ระบบกระจายน้ำ รวมถึงการปรับเปลี่ยนพื้นที่ปลูกข้าวที่ไม่เหมาะสม โดยใช้ Agri-Map
สำหรับการปรับเปลี่ยนพื้นที่ปลูกข้าวที่ไม่เหมาะสม โดยใช้ Agri-Map นั้น ได้มอบหมายให้กรมพัฒนาที่ดินเป็นหน่วยงานหลัก และมีหน่วยอื่นๆ ร่วมสนับสนุน ซึ่งแนวทางการดำเนินการปรับเปลี่ยน ต้องสามารถปรับเปลี่ยนได้จริง เกษตรกรต้องมีรายได้ดีขึ้น โดยดำเนินการ 6 ขั้นตอน คือ 1) รวมกลุ่มเกษตรกร 2) ปรึกษาหารือ เพื่อพิจารณาความเหมาะสมของพื้นที่ โดยดูจาก Agri-Map 3) กำหนดแนวทางการปรับเปลี่ยน/ผลที่ต้องการ 4) จัดทำความต้องการรับการสนับสนุนจากหน่วยงานกระทรวงเกษตรฯ 5) ขยายผลแนะนำให้เกษตรกรในพื้นที่ข้างเคียงทำตาม และ 6) พัฒนาต่อยอดเป็นเกษตรแปลงใหญ่ เกษตร GAP เกษตรอินทรีย์
"เกษตกรในพื้นที่ จ.สระแก้ว มีการเพาะปลูก ข้าว และมันสำปะหลังซึ่งมีรายได้น้อยและเกิดการขาดทุน ดังนั้นจึงมีโอกาสในการปรับเปลี่ยนเป็น ปศุสัตว์ อ้อย และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ซึ่งมีตลาดรองรับและมีตัวอย่างความสำเร็จ อาทิ อ้อย มีผลผลิตต่อปี 12,500 กก. ต้นทุน 9,711 บาท ขายได้ 11,750 บาท รายได้ 2,093 บาท ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ผลผลิตต่อปี 897 กก. ต้นทุน 4,209 บาท ขายได้ 5,573 บาท รายได้ 1,364 บาท อย่างไรก็ตาม ในส่วนของมันสำปะหลังสามารถพัฒนาโดยใช้ระบบน้ำหยด ทำให้เพิ่มผลผลิตได้มากกว่า 10,000 กก./ไร่ โดยต้องใช้เทคโนโลยีช่วย ยังไม่จำเป็นต้องปรับเปลี่ยน ส่วนการเลี้ยงปศุสัตว์ และปลูกหญ้าเนเปียร์ จะทำให้เกิดการสนับสนุนกันและกัน มีรายได้ร่วมกัน ส่งเสริมให้เป็นแปลงใหญ่ กลุ่มเกษตรกร และสหกรณ์การเกษตร นอกจากนี้ต้องการให้ จ.สระแก้ว เป็นเมืองแห่งปศุสัตว์ "โคบาลบูรพา" เนื่องจากมีที่ตั้งและลักษณะพื้นที่ที่อำนวย อีกทั้ง เป้าหมายในปี 2560 จะเริ่มดำเนินการปรับเปลี่ยนตั้งแต่วันที่ 1 พ.ค. 60 ต้องทำให้เกิดขึ้นจริง โดยจะใช้ จ.สระแก้ว เป็นจังหวัดนำร่อง และจะเพิ่มพื้นที่เป้าหมายในปีต่อไป" พลเอกฉัตรชัย กล่าว