กรุงเทพฯ--10 เม.ย.--สำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
กระทรวงเกษตรฯ หนุนคนไทยบริโภคอาหารปลอดภัย กระตุ้นเกษตรกรผลิตสินค้าให้ได้มาตรฐานตามความต้องการตลาดโลก พร้อมยกทัพสินค้าเกษตรปลอดภัยมาตรฐานจีเอพี (GAP) และมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ หรือออร์แกนิก มาจำหน่าย ระหว่างวันที่ 6 - 9 เม.ย. 60 ณ ศูนย์การค้าสยามพารากอน
น.ส.ชุติมา บุณยประภัศร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังเปิดงานมหกรรม"เกษตรปลอดภัย นำไทย สู่ความยั่งยืน" ที่จัดขึ้นระหว่างวันที่ 6 - 9 เมษายน 2560 ณ รอยัลพารากอน ฮอลล์ 3 ชั้น 5ศูนย์การค้าสยามพารากอน ว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหาร (มกอช.) ร่วมกับหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จัดงานดังกล่าวเพื่อประกาศปีแห่งการยกระดับมาตรฐานการเกษตรสู่ความยั่งยืนให้เป็นที่รับทราบในวงกว้าง ตลอดจนสร้างความตระหนักถึงความสำคัญของการผลิตและการบริโภคสินค้าเกษตรที่มีคุณภาพมาตรฐาน รวมทั้งโชว์ศักยภาพมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารของไทยให้เป็นที่รู้จักและยอมรับทั้งในและต่างประเทศอย่างกว้างขวาง นอกจากนี้ ยังเป็นการให้ความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องและให้รับรู้ถึงความแตกต่างระหว่างสินค้าเกษตรปลอดภัย หรือสินค้าซึ่งได้มาตรฐาน GAP กับเกษตรอินทรีย์ หรือออร์แกนิก อีกทั้งยังเป็นการเพิ่มช่องทางการจำหน่ายสินค้าให้เกษตรกร ซึ่งสินค้าเกษตรปลอดภัยที่เกษตรกรนำมาจำหน่ายในงานได้ผ่านการคัดสรรมาแล้วว่าเป็นสินค้าเกษตรทั้งพืชผัก ผลไม้ ประมง และปศุสัตว์ที่ได้มาตรฐาน GAP และมาตรฐานอินทรีย์ (Organic) รวมทั้งผลิตภัณฑ์แปรรูปหลากหลายและสินค้าเกษตรนวัตกรรม เช่น น้ำมันรำข้าวเพื่อสุขภาพ เครื่องสำอางจากข้าว ใยไหม อาหารเสริม ซึ่งมีความปลอดภัยแก่ผู้บริโภคมาจัดแสดงและจำหน่ายถึง 130 บูธ พร้อมจัดแสดงนวัตกรรมทางการเกษตร เช่น การใช้ QR trace เพื่อตรวจสอบย้อนกลับไปถึงผู้ผลิตได้อย่างทันทีโดยใช้อุปกรณ์ IT ที่ทันสมัย เป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าและสร้างความเชื่อมั่นในแหล่งที่มาของสินค้า
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ให้ความสำคัญในเรื่องการผลิตสินค้าเกษตรและอาหารปลอดภัยมาโดยที่ผ่านมาได้ดำเนินการตามนโยบายในการลดต้นทุนการผลิต และเพิ่มโอกาสในการแข่งขัน ส่วนด้านการผลิตสินค้าเกษตรปลอดภัย มีเกษตรกรเข้าสู่ระบบการผลิตได้รับการรับรองมาตรฐาน GAP 247,000 ราย ครอบคลุม พืช สัตว์ และประมง ส่วนเกษตรอินทรีย์ มีเกษตรกรที่ได้รับการรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์เกือบ 10,000 ราย นอกจากนี้ ยังมีโรงงานหรือสถานประกอบการที่ผ่านการรับรองมาตรฐานจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เช่น GMP/ HACCP ไม่ต่ำกว่า 2,200 แห่ง ซึ่งยังมีอีกจำนวนมากที่ผ่านการรับรองมาตรฐานจากหน่วยรับรองอื่น ๆ ด้วย
สำหรับยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนเพื่อเข้าสู่ปีแห่งการยกระดับมาตรฐานการเกษตรสู่ความยั่งยืน ประกอบด้วย 1) ยุทธศาสตร์เกษตรอินทรีย์ โดยการเพิ่มพื้นที่เกษตรอินทรีย์เป็น 6 แสนไร่หรือสูงสุด 1 ล้านไร่ และเพิ่มเกษตรกรทำเกษตรอินทรีย์ 30,000 ราย ปี 2564 หรือภายใน 5 ปี 2) ยุทธศาสตร์ขับเคลื่อนการจัดการสารเคมีเกษตร มุ่งลดการใช้สารเคมี 10 % ภายใน 5 ปี การตรวจพบสารเคมีตกค้างเกินมาตรฐานต้องลดลงจากปัจจุบัน 10 % ของจำนวนตัวอย่างที่ตรวจ ภายใน 5 ปี 3) การยกระดับมาตรฐานเกษตรแปลงใหญ่ เพื่อให้แปลงใหญ่ทุกแปลงยกระดับเข้าสู่มาตรฐานจีเอพี โดยในปี 2560 นี้ มีเป้าหมายเกษตรกรในแปลงใหญ่ได้รับการรับรอง GAP ไม่น้อยกว่า 25 % ของเกษตรกรแปลงใหญ่ทั้งหมด 4) การสร้างความตระหนัก/รับรู้ที่ถูกต้องเรื่องเกษตรปลอดภัย/เกษตรอินทรีย์แก่ทุกภาคส่วนผู้ผลิต ผู้บริโภคมีความเข้าใจที่ถูกต้องเพิ่มมากขึ้น และ 5) การบูรณาการร่วมกับหน่วยงานต่าง ๆ เพื่อยกระดับมาตรฐานครบวงจร เพื่อให้มีตลาดรองรับสินค้ามาตรฐานอย่างกว้างขวาง ทั้งตลาดชั่วคราวและตลาดถาวร โดยร่วมมือกับกระทรวงอื่นๆ เช่น การจัดงานสินค้ามาตรฐาน รวมทั้งจัดหาตลาดกับกระทรวงพาณิชย์ การให้ข้อมูลแหล่งผลิตสินค้ามาตรฐานให้กับโรงพยาบาลหรือการนำไปเชื่อมโยงกับแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตรกับกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เป็นต้น นอกจากนี้ ยังมุ่งเน้นสร้างมูลค่าเพิ่มให้สินค้ามาตรฐานด้วยการสนับสนุนการต่อยอดการแปรรูป การสร้างอัตลักษณ์ และคุณค่าโภชนาการ รวมทั้งการใช้นวัตกรรม เพื่อปรับเปลี่ยนเป็นสินค้านวัตกรรมใหม่ ๆ ในตลาด เช่น การใช้ระบบ QR Trace เพื่อตรวจสอบย้อนกลับแหล่งผลิตสินค้า ตลอดจนเชื่อมโยงกับการค้าออนไลน์ด้วย