กรุงเทพฯ--11 เม.ย.--ปตท.
สัปดาห์ที่ผ่านมาราคาเฉลี่ยน้ำมันดิบ และน้ำมันสำเร็จรูปปรับเพิ่มทุกชนิด โดยราคาน้ำมันดิบเบรนท์ (Brent) เพิ่มขึ้น 2.16 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 54.36 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และน้ำมันดิบเวสท์เท็กซัสฯ (WTI) เพิ่มขึ้น 1.96 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 51.27 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ขณะที่ราคาน้ำมันดิบดูไบ (Dubai) เพิ่มขึ้น 2.54 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 52.46 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ด้านราคาเฉลี่ยน้ำมันสำเร็จรูป ราคาน้ำมันเบนซินออกเทน 95 เพิ่มขึ้น 3.30 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 67.87 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และราคาน้ำมันดีเซลเพิ่มขึ้น 2.43 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 64.12 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ปัจจัยที่ส่งผลกระทบได้แก่
ปัจจัยที่ส่งผลบวกต่อราคาน้ำมันดิบ
· ประธานาธิบดีสหรัฐฯ นาย Donald Trump สั่งให้ เรือพิฆาต 2 ลำ ซึ่งลอยลำอยู่ในทะเลเมดิเตอร์เรเนียนยิงขีปนาวุธพิสัยไกล Tomahawk จำนวน 59 ลูก ใส่ฐานทัพอากาศของซีเรีย ที่เมือง Homs ของ ในวันที่ 7 เม.ย. 60เพื่อตอบโต้การใช้อาวุธเคมีกับพลเรือน ส่งผลให้ความสัมพันธ์ระหว่างรัสเซีย พันธมิตรสำคัญของซีเรียกับสหรัฐฯ ตึงเครียดอย่างรุนแรง
· แคนาดาผลิตน้ำมันดิบลดลง 490,000 บาร์เรลต่อวัน ในเดือน เม.ย. 60 หรือ 20% ของปริมาณการผลิต Oil Sands ทั้งหมดของประเทศ เนื่องจากแหล่งผลิต Syncrude (กำลังการกลั่น 350,000 บาร์เรลต่อวัน) ที่เมืองAlberta ปิดฉุกเฉินตั้งแต่ มี.ค. 60 หลังจากเกิดเหตุเพลิงไหม้ และ บริษัท ConocoPhillips ลดอัตราการกลั่นที่Surmont Thermal Plant (กำลังการกลั่น 140,000 บาร์เรลต่อวัน)
· Energy Aspects รายงานปริมาณการส่งออก น้ำมันดิบของกลุ่มประเทศ OPEC เดือน มี.ค. 60 ลดลงจากเดือนก่อน 0.9 ล้านบาร์เรลต่อวัน มาอยู่ที่ระดับ 24.85 ล้านบาร์เรลต่อวัน เนื่องจากปริมาณการส่งออกน้ำมันดิบที่ลดลงของ กาตาร์ สหรัฐอาหรับ เอมิเรตส์ และเวเนซุเอลา มากกว่าปริมาณที่เพิ่มขึ้นของ อิรักและแอลจีเรีย
· กระทรวงพลังงานรัสเซียเผยปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของรัสเซียเดือน มี.ค. 60 ลดลงจากเดือนก่อน 1.6% มาอยู่ที่ระดับ 11.05 ล้านบาร์เรลต่อวัน อนึ่งรัสเซียตกลงที่จะลดปริมาณการผลิตลง 300,000 บาร์เรลต่อวัน ภายในเดือน เม.ย. 60
· บริษัท Syncrude ของแคนาดาประกาศแหล่งผลิต Oil Sand (กำลังการผลิต 350,000 บาร์เรลต่อวัน) ที่เมืองAlberta ซึ่งปิดดำเนินการจากเพลิงไหม้กลางเดือน มี.ค. 60 จะกลับมาทำการผลิตในเดือน พ.ค. 60
ปัจจัยส่งผลลบต่อราคาน้ำมันดิบ
· Baker Hughes Inc. รายงานจำนวนแท่นขุดเจาะน้ำมัน (Rig) ในสหรัฐฯ สัปดาห์สิ้นสุด 7 เม.ย. 60 เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 10 แท่น อยู่ที่ 672 แท่น ติดต่อกันเป็นสัปดาห์ที่ 12 สู่ระดับสูงสุดตั้งแต่เดือน ส.ค. 58
· Energy Information Administration (EIA) รายงานปริมาณสำรองน้ำมันดิบเชิงพาณิชย์ในสหรัฐฯ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 31 มี.ค. 60 เพิ่มขึ้น จากสัปดาห์ก่อน 1.6 ล้านบาร์เรล มาอยู่ที่ 535.5 ล้านบาร์เรล
· Commodity Futures Trading Commission (CFTC) รายงานสถานะการลงทุนสัญญาน้ำมันดิบ WTI ในตลาด NYMEX ที่นิวยอร์ก และตลาด ICE ที่ลอนดอน สัปดาห์สิ้นสุด 4 เม.ย.60 กลุ่มผู้จัดการกองทุนเพิ่มสถานะถือครองสุทธิ (Net Long Position) เพิ่มขึ้น จากสัปดาห์ก่อน 23,035 สัญญา อยู่ที่ 292,478 สัญญา เพิ่มขึ้นเป็นครั้งแรกหลังลดลงมาต่อเนื่อง 5 สัปดาห์
· National Oil Corp. (NOC) บริษัทน้ำมันแห่งชาติของลิเบียยกเลิกประกาศ Force Majeure น้ำมันดิบSharara (ก่อนถูกปิด แหล่งดังกล่าวผลิตที่ 220,000 บาร์เรลต่อวัน จากกำลังการผลิต 300,000 บาร์เรลต่อวัน) จากท่าส่งออก Zawiya เมื่อวันจันทร์ที่ 3 เม.ย. 60 หลัง NOC เจรจากับกองกำลังซึ่งประท้วงปิดท่อขนส่งได้สำเร็จ
แนวโน้มราคาน้ำมันดิบ
ราคาปิดตลาดน้ำมันดิบ ICE Brent และ NYMEX WTI เพิ่มขึ้นติดต่อกันเป็นวันที่ 4 เมื่อสถานการณ์ทางการเมืองระหว่างประเทศตึงเครียด หลังประธานาธิบดี Donald Trump ของสหรัฐฯ สั่งการโจมตีซีเรียเมื่อเช้าวันศุกร์ที่ 7เม.ย. 60 โดยอ้างว่ารัฐบาลซีเรียของประธานาธิบดี บาชา อัสซาด ใช้อาวุธสารเคมีกับฝ่ายต่อต้าน ส่งผลให้พลเมืองจำนวนมากเสียชีวิต และรัสเซียตอบโต้ด้วยการตัดระบบการสื่อสารสายด่วน (Hotline) และกองทัพรัสเซียส่งเรือพิฆาตFrigate Admiral Grigorovich จากทะเลดำมุ่งหน้าไปยังชายฝั่งของซีเรีย เพื่อตอบโต้กองทัพสหรัฐฯ ซึ่งระดมยิงขีปนาวุธร่อนวิถีพิสัยไกล Tomahawk จำนวน 59 ลูก จากเรือพิฆาต USS Porter และ USS Ross ซึ่งลอยลำอยู่ในทะเลเมดิเตอร์เรเนียน โจมตีฐานทัพของทหาร Shayrat ที่เมือง Homs ของซีเรีย ขณะที่ นาย Boris Johnson รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของอังกฤษยกเลิกภารกิจเยือนรัสเซียในวันที่ 10 เม.ย. 60 เพื่อแสดงการสนับสนุนสหรัฐฯ และเสนอที่ประชุม G7 ณ ประเทศอิตาลีให้ประเทศสมาชิกเพิ่มมาตรการคว่ำบาตรรัสเซียรุนแรงขึ้นอีก ทางด้านเทคนิคสัปดาห์นี้ราคาน้ำมันดิบ Brent มีแนวโน้มที่จะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 53.5-56.5 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล ในขณะที่ราคาน้ำมันดิบ WTI จะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 50.5-53.5 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และน้ำมันดิบดูไบเคลื่อนไหวที่ 51.5-54.5 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
สถานการณ์ราคาน้ำมันเบนซิน
ราคาเฉลี่ยน้ำมันเบนซินเพิ่มขึ้นจาก Platts รายงานตลาดน้ำมันเบนซินในเอเชียแข็งแกร่งจากอุปสงค์ในภูมิภาคเพิ่มขึ้น อาทิ จีนที่ China Association of Automobile Manufacturers รายงานยอดขายรถยนต์ที่ใช้น้ำมันเบนซินช่วงเดือน ม.ค. - ก.พ. 60 เพิ่มขึ้น 6.5% จากปีก่อน และ Platts คาดอินโดนีเซียจะนำเข้าน้ำมันเบนซิน ในเดือน เม.ย. 60 ปริมาณ 9.07 ล้านบาร์เรล เพิ่มขึ้นจากคาดการณ์เดิมที่ 8.4 ล้านบาร์เรล ด้านอุปทานผู้ค้าคาดบริษัท Shell จะซ่อมบำรุงโรงกลั่น Bukom (กำลังการกลั่น 500,000 บาร์เรลต่อวัน) ในสิงคโปร์แล้วเสร็จ และกลับดำเนินการในช่วงปลายเดือน เม.ย. 60 ขณะที่ โรงกลั่น Ruwais ฝั่งตะวันตก (กำลังการกลั่น 417,000 บาร์เรลต่อวัน) ในสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (UAE) จะไม่สามารถกลับมาดำเนินการหน่วย Residue Fluid Catalytic Cracker (RFCC - 127,000 บาร์เรลต่อวัน) ก่อนไตรมาส 1/61 ด้านปริมาณสำรอง Petroleum Association of Japan (PAJ) รายงานปริมาณสำรองน้ำมันเบนซินเชิงพาณิชย์ในญี่ปุ่น สัปดาห์สิ้นสุด 1 เม.ย. 60 ลดลง 0.18 ล้านบาร์เรล จากสัปดาห์ก่อน หรือ 1.62 % อยู่ที่ 10.65 ล้านบาร์เรล อย่างไรก็ตาม International Enterprise Singapore (IES) รายงานปริมาณสำรอง Light Distillates เชิงพาณิชย์ที่สิงคโปร์ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 5 เม.ย. 60 เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 0.26 ล้านบาร์เรล มาอยู่ที่ 14.45 ล้านบาร์เรล ระดับสูงสุดในรอบกว่า 7 เดือน สัปดาห์นี้คาดว่าราคาน้ำมันเบนซินจะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 66-69 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
สถานการณ์ราคาน้ำมันดีเซล
ราคาเฉลี่ยน้ำมันเบนซินเพิ่มขึ้นจาก Platts รายงานอุปทานน้ำมันดีเซล 0.001 % S และ 0.05 % S ในเอเชียเหนือตึงตัว เนื่องจากโรงกลั่นน้ำมันในภูมิภาคเข้าสู่ช่วงสูงสุด (Peak) ของการปิดซ่อมบำรุง ในเดือน เม.ย. 60 นี้ อาทิ โรงกลั่น GS Caltex (กำลังการกลั่น 150,000 บาร์เรลต่อวัน) ในเกาหลีใต้ และ โรงกลั่น Idemitsu (กำลังการกลั่น 200,000 บาร์เรลต่อวัน) ในญี่ปุ่น รวมถึง โรงปิโตรเคมี Shanghai ในจีน ซึ่งจะปิดดำเนินการ CDU (กำลังการกลั่น 160,000 บาร์เรลต่อวัน) ด้านปริมาณสำรองน้ำมันดีเซลจาก IES รายงานปริมาณสำรอง Middle Distillates เชิงพาณิชย์ที่สิงคโปร์ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 5 เม.ย. 60 ลดลง 0.24 ล้านบาร์เรล จากสัปดาห์ก่อน มาอยู่ที่ 12.40 ล้านบาร์เรล อย่างไรก็ตาม Ministry of Economy, Trade and Industry (METI) ของญี่ปุ่น รายงานยอดขายน้ำมันดีเซลในประเทศเดือน ก.พ. 60 ลดลงจากปีก่อน 0.8 % มาอยู่ที่ 625,000 บาร์เรลต่อวัน และอุปทานน้ำมันดีเซลในภูมิภาคเพิ่มขึ้นเพราะผู้ผลิตในตะวันออกกลางเน้นส่งออกน้ำมันดีเซล มายังสิงคโปร์แทนสหรัฐฯ เนื่องจากผลตอบแทนสูงกว่า สัปดาห์นี้คาดว่าราคาน้ำมันดีเซลจะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 63-66 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล