กรุงเทพฯ--11 เม.ย.--นิด้าโพล
ศูนย์สำรวจความคิดเห็น "นิด้าโพล" สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชน เรื่อง "คนไทยคิดอย่างไรกับกฎหมายจราจรในวันนี้" ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 29 – 31 มีนาคม 2560 จากประชาชนที่ใช้รถใช้ถนน โดยเป็น ทั้งผู้ขับขี่และผู้โดยสารทั่วประเทศ กระจายทุกภูมิภาค ระดับการศึกษา และอาชีพทั่วประเทศ รวมทั้งสิ้น จำนวน 1,250 หน่วยตัวอย่าง เกี่ยวกับกฎหมายจราจร การสำรวจอาศัยการสุ่มตัวอย่างด้วยความน่าจะเป็น จากบัญชีรายชื่อฐานข้อมูลตัวอย่างหลัก (Master Sample) ของ "นิด้าโพล" ด้วยวิธีแบบแบ่งชั้นภูมิ (Stratified Random Sampling) โดยแบ่งชั้นภูมิตามภูมิภาค จากนั้นในแต่ละภูมิภาคสุ่มตัวอย่างด้วยวิธีแบบอย่างง่าย (Simple Random Sampling) เก็บข้อมูลด้วยวิธีการสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ โดยกำหนดค่าความเชื่อมั่นที่ ร้อยละ 95.0 และมีค่าความคลาดเคลื่อนมาตรฐาน (Standard Error: S.E.) ไม่เกิน 1.4
จากการสำรวจเมื่อถามถึงความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับมาตรการ การบังคับชำระจ่ายค่าปรับล่าช้าเพิ่มอีก 1,000 บาท หากผู้กระทำผิดกฎจราจรไม่ไปชำระค่าปรับภายใน 7 วัน พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 65.28 ระบุว่า ไม่เห็นด้วย โดยให้เหตุผลว่า ระยะเวลาสั้นเกินไป อาจได้รับใบสั่งล่าช้า บางคนอยู่ไกล เดินทางไม่สะดวก ติดธุระต้องไปต่างประเทศ หรือบางครั้งตำรวจเสียบใบสั่ง ที่หน้ารถแล้วปลิวหายก็มี ควรมีการแจ้งเตือนซ้ำอีกครั้ง และควรเพิ่มการประชาสัมพันธ์และช่องทางรองรับระบบการจ่ายค่าปรับให้มากขึ้น และค่าปรับล่าช้ายังเป็นการสร้างภาระให้กับประชาชน โดยเฉพาะผู้ที่มีรายได้น้อย และควรยืดระยะเวลาออกไปอีก ซึ่งในจำนวนผู้ที่ระบุว่า ไม่เห็นด้วยนั้น ส่วนใหญ่ ร้อยละ 49.29 ระบุว่า ควรปรับไม่เกิน 500 – 800 บาท รองลงมา ร้อยละ 45.97 ระบุว่า ควรปรับไม่เกิน 500 บาท ร้อยละ 3.32 ระบุว่า ควรปรับเป็นเปอร์เซนต์ของค่าปรับ เช่น 1 – 10 % ของค่าปรับ หรือปรับเป็นรายวัน วันละ 10 – 50 บาท และร้อยละ 1.42 ระบุว่า แล้วแต่กรณี
อย่างไรก็ตาม ประชาชน ร้อยละ 31.44 ระบุว่า เห็นด้วยกับการบังคับชำระจ่ายค่าปรับล่าช้าเพิ่มอีก 1,000 บาท เพราะ เป็นการสร้างความกระตือรือร้นให้รีบไปจ่ายค่าปรับ เพื่อความเคร่งครัด ความเป็นระเบียบวินัยตามกฎหมายที่กำหนด เนื่องจากปัจจุบันมีผู้ที่กระผิดกฎจราจรหลบเลี่ยงไม่มาจ่ายค่าปรับเป็นจำนวนมาก ซึ่งการให้ระยะเวลา 7 วัน ถือว่าเพียงพอแล้ว ควรมีมาตรการขั้นเด็ดขาด และคนจะได้เกรงกลัว ไม่กระทำผิดกฎจราจรซ้ำอีก ขณะที่ ร้อยละ 3.28 ไม่ระบุ/ไม่แน่ใจ กับมาตรการดังกล่าว
ด้านความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับการบังคับใช้กฎหมายกรณีผู้กระทำผิดกฎจราจรได้รับใบสั่งให้เสียค่าปรับแล้วไม่ดำเนินจ่ายค่าปรับภายในระยะเวลาที่กำหนด (15 – 30 วัน) จะไม่สามารถต่อภาษีประจำปีได้นั้นจะช่วยให้ผู้ที่ได้รับใบสั่งมาชำระค่าปรับเพิ่มมากขึ้นได้ มากน้อยเพียงใด พบว่า ประชาชนร้อยละ 37.92 ระบุว่า จะช่วยให้ผู้ที่ได้รับใบสั่งมาชำระค่าปรับเพิ่มมากขึ้นได้มาก ร้อยละ 47.12 ระบุว่า จะช่วยได้บ้างระดับหนึ่ง ร้อยละ 11.04 ระบุว่า ไม่สามารถช่วยได้เลย และร้อยละ 3.92 ไม่ระบุ/ไม่แน่ใจ
สำหรับความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับการที่ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ประกาศใช้ มาตรา 44 โดยให้ผู้ขับขี่ และผู้โดยสาร ทั้งรถยนต์ส่วนบุคคลและรถสาธารณะ ต้องรัดเข็มขัดนิรภัยทุกที่นั่งนั้น ว่าจะช่วยลดการสูญเสียชีวิตและทรัพย์สินจากการเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนน โดยเฉพาะในช่วงสงกรานต์ได้มากน้อยเพียงใด พบว่า ประชาชน ร้อยละ 35.44 ระบุว่า จะช่วยลดการสูญเสียชีวิต และทรัพย์สินได้มาก ร้อยละ 49.60 ระบุว่า จะช่วยลดการสูญเสียชีวิตและทรัพย์สินได้บ้างระดับหนึ่ง ร้อยละ 13.92 ระบุว่า ไม่สามารถช่วยลดการสูญเสียชีวิตและทรัพย์สินได้เลย และร้อยละ 1.04 ไม่ระบุ/ไม่แน่ใจ
ท้ายที่สุด เมื่อถามถึงพฤติกรรมการใช้รถใช้ถนน การขับขี่และการโดยสารของประชาชน พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 51.20 ระบุว่า เป็นทั้งผู้ขับขี่และบางครั้งก็เป็นผู้โดยสาร รองลงมา ร้อยละ 21.12 ระบุว่า เป็นผู้โดยสารเดียว ขณะที่ร้อยละ 27.68 ระบุว่า เป็นผู้ขับขี่อย่างเดียว
เมื่อพิจารณาลักษณะทั่วไปของตัวอย่าง พบว่า ตัวอย่างร้อยละ 8.72 มีภูมิลำเนาอยู่กรุงเทพฯ ตัวอย่างร้อยละ 25.04 มีภูมิลำเนาอยู่ปริมณฑลและภาคกลาง ร้อยละ 17.84 มีภูมิลำเนาอยู่ภาคเหนือ ร้อยละ 33.84 มีภูมิลำเนาอยู่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และร้อยละ 14.56 มีภูมิลำเนา อยู่ภาคใต้ ตัวอย่าง ร้อยละ 56.56 เป็นเพศชาย และร้อยละ 43.44 เป็นเพศหญิง ตัวอย่างร้อยละ 5.60 มีอายุต่ำกว่า 25 ปี ตัวอย่าง ร้อยละ 17.44 มีอายุ 26 – 35 ปี ร้อยละ 26.96 มีอายุ 36 – 45 ปี ร้อยละ 39.12 มีอายุ 46 – 59 ปี ร้อยละ 9.68 มีอายุ 60 ปีขึ้นไป และร้อยละ 1.20 ไม่ระบุอายุ ตัวอย่าง ร้อยละ 93.84 นับถือศาสนาพุทธ ร้อยละ 3.44 นับถือศาสนาอิสลาม ร้อยละ 1.28 นับถือศาสนาคริสต์ /ฮินดู/ซิกข์/ยิว/ไม่นับถือศาสนาใด ๆ และร้อยละ 1.44 ไม่ระบุศาสนา
ตัวอย่าง ร้อยละ 24.80 ระบุว่าสถานภาพโสด ร้อยละ 69.44 สมรสแล้ว ร้อยละ 4.16 หม้าย หย่าร้าง แยกกันอยู่ และร้อยละ 1.60 ไม่ระบุสถานภาพการสมรส ตัวอย่างร้อยละ 22.40 จบการศึกษาประถมศึกษาหรือต่ำกว่า ร้อยละ 30.24 จบการศึกษามัธยมศึกษาหรือเทียบเท่า ร้อยละ 10.32 จบการศึกษาอนุปริญญาหรือเทียบเท่า ร้อยละ 28.16 จบการศึกษาปริญญาตรีหรือเทียบเท่า ร้อยละ 6.64 จบการศึกษาสูงกว่าปริญญาตรีหรือเทียบเท่า และร้อยละ 2.24 ไม่ระบุการศึกษา ตัวอย่างร้อยละ 14.00 ประกอบอาชีพข้าราชการ/ลูกจ้าง/พนักงานรัฐวิสาหกิจ ร้อยละ 13.92 ประกอบอาชีพพนักงานเอกชน ร้อยละ 26.00 ประกอบอาชีพเจ้าของธุรกิจ/อาชีพอิสระ ร้อยละ 13.52 ประกอบอาชีพเกษตรกร/ประมง ร้อยละ 15.92 ประกอบอาชีพรับจ้างทั่วไป/ผู้ใช้แรงงาน ร้อยละ 11.84 เป็นพ่อบ้าน/แม่บ้าน/เกษียณอายุ/ว่างงาน ร้อยละ 2.32 เป็นนักเรียน/นักศึกษา ร้อยละ 0.08 เป็นพนักงานองค์กรอิสระที่ไม่แสวงหากำไร และร้อยละ 2.40 ไม่ระบุอาชีพ ตัวอย่างร้อยละ 12.32 ไม่มีรายได้ ร้อยละ 18.48 มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือนไม่เกิน 10,000 บาท ร้อยละ 26.24 มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือน 10,001 – 20,000 บาท ร้อยละ 13.36 มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือน 20,001 – 30,000 บาท ร้อยละ 7.68 มีรายได้เฉลี่ย ต่อเดือน 30,001 – 40,000 บาท ร้อยละ 11.20 มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือนมากกว่า 40,001 บาทขึ้นไป และร้อยละ 10.72 ไม่ระบุรายได้