กรุงเทพฯ--11 เม.ย.--กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย
เทศกาลสงกรานต์เป็นช่วงที่มีสถิติอุบัติเหตุทางถนนสูงกว่าปกติ ซึ่งมีสาเหตุจากพฤติกรรมเสี่ยงของผู้ขับขี่ ทั้งการไม่ปฏิบัติตามกฎหมายจราจร สภาพรถไม่พร้อมใช้งาน ถนนและสภาพแวดล้อมริมทางไม่ปลอดภัย
รัฐบาลและคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ห่วงใยความปลอดภัยในการเดินทางของประชาชน ได้สั่งการให้ศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) กระทรวงมหาดไทย บูรณาการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลสงกรานต์ พ.ศ. 2560 ภายใต้แนวคิด "ขับรถมีน้ำใจ รักษาวินัยจราจร" และสานพลัง "ประชารัฐ"
มุ่งแก้ไข และลดความสูญเสียจากอุบัติเหตุทางถนนในมิติเชิงพื้นที่ (Area Approach) ตาม 6 มาตรการหลัก
1. มาตรการด้านกายภาพ
› แก้ไขจุดเสี่ยงอุบัติเหตุ ทั้งการติดตั้งสัญญาณไฟ ไฟส่องสว่าง และป้ายเตือนในจุดที่มองเห็นอย่างชัดเจนโดยเฉพาะบริเวณที่มีการก่อสร้าง จุดกลับรถ และจุดตัดทางรถไฟ
› ปรับปรุงถนนและสภาพแวดล้อมริมทางให้ปลอดภัย โดยสำรวจเส้นแบ่งช่องจราจร ป้ายเตือน เครื่องหมายจราจรให้อยู่ในสภาพที่มองเห็นอย่างชัดเจน รวมถึงปิดกั้นจุดกลับรถที่ไม่ปลอดภัย และทางลักผ่านจุดตัดทางรถไฟ
2. มาตรการด้านยานพาหนะ
› คุมเข้มความปลอดภัยของยานพาหนะ ให้เป็นไปตามมาตรฐานวิศวกรรมยานยนต์ โดยเฉพาะรถโดยสารสาธารณะและรถโดยสารไม่ประจำทางต้องอยู่ในสภาพพร้อมใช้งาน รวมถึงส่งเสริมให้ผู้ขับขี่ตรวจสอบสภาพรถก่อนเดินทาง
› ขอความร่วมมือผู้ประกอบการหยุดการขนส่งสินค้าโดยรถขนาดใหญ่ เพื่อลดปัจจัยเสี่ยงอุบัติเหตุทางถนน
3.มาตรการด้านการสัญจร
› จัดให้มีถนนปลอดภัยตามมาตรการ "1 ท้องถิ่น 1 ถนนปลอดภัย" พร้อมกำหนดแนวทางดูแลความปลอดภัยในการเดินทางและท่องเที่ยว เพื่อป้องกันอุบัติเหตุจากการสัญจรทางบก ทางน้ำ และทางราง
› ส่งเสริมการจัดกิจกรรมทางศาสนา "1 อำเภอ 1 ลานกิจกรรม" พร้อมประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนเข้าร่วมกิจกรรมเพื่อลดปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุทางถนน
› ประชาสัมพันธ์การลดอุบัติเหตุทางถนนอย่างต่อเนื่อง ผ่านช่องทางสื่อและกิจกรรมรณรงค์ทุกรูปแบบเพื่อสร้างการรับรู้เกี่ยวกับมาตรการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนน รวมถึงปลูกฝังจิตสำนึกด้านความปลอดภัยทางถนน
› อำนวยความสะดวกในการเดินทาง โดยเปิดทางช่องทางพิเศษ ปรับสัญญาณไฟจราจรให้สอดคล้องกับช่วงเวลาในการเดินทาง อีกทั้งเตรียมพร้อมจุดพักรถและจุดบริการประชาชนบนเส้นทางสายต่างๆ
4. มาตรการด้านการบังคับใช้กฎหมาย
› บังคับใช้กฎหมายจราจรอย่างเคร่งครัด คุมเข้มพฤติกรรมเสี่ยงอุบัติเหตุ โดยเฉพาะขับรถเร็ว เมาแล้วขับ และไม่ใช้อุปกรณ์นิรภัย ควบคู่กับการบังคับใช้กฎหมายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โดยควบคุมการเข้าถึงและการจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ให้เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด
› เพิ่มประสิทธิภาพการบังคับใช้กฎหมาย โดยใช้พลัง "ประชารัฐ" เป็นกลไกสำคัญในการแก้ไขปัญหาอุบัติเหตุทางถนนพร้อมจัดตั้งจุดตรวจบนเส้นทางเสี่ยงอุบัติเหตุ และด่านชุมชนในเส้นทางสายรอง เพื่อป้องปรามผู้ขับขี่ที่มีพฤติกรรมเสี่ยงอุบัติเหตุทางถนน รวมถึงจัดโซนนิ่งพื้นที่เล่นน้ำสงกรานต์ให้มีความปลอดภัย และปราศจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
5.มาตรการด้านความปลอดภัยทางน้ำ
› ดูแลความปลอดภัยในการสัญจรและท่องเที่ยวทางน้ำ โดยตรวจสอบความปลอดภัยของเส้นทางสัญจรทางน้ำท่าเทียบเรือ โป๊ะเทียบเรือ และเรือโดยสาร รวมถึงจัดให้มีอุปกรณ์ชูชีพที่เพียงพอต่อการใช้งานของผู้โดยสาร
› คุมเข้มความปลอดภัยในการโดยสารเรือ โดยตรวจตรามิให้มีการบรรทุกผู้โดยสารเกินอัตราที่กำหนด และผู้โดยสารต้องสวมเสื้อชูชีพตลอดเวลาที่โดยสารเรือ อีกทั้งจัดทีมกู้ภัยทางน้ำให้พร้อมปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบภัย
6.มาตรการด้านการช่วยเหลือหลังเกิดอุบัติเหตุ
› ประสานสถานพยาบาลเตรียมพร้อมรับมืออุบัติเหตุ โดยจัดหน่วยบริการการแพทย์ฉุกเฉินให้การช่วยเหลือผู้ประสบภัย ณ จุดเกิดเหตุ อย่างรวดเร็ว พร้อมวางระบบการติดต่อสื่อสาร และเชื่อมโยงการประสานแจ้งเหตุให้เข้าถึงและครอบคลุมทุกพื้นที่
› ให้ข้อมูลการประกันภัยและความคุ้มครอง กรณีประสบอุบัติเหตุทางถนน เพื่อให้ผู้ประสบภัยได้รับการดูแลอย่างทั่วถึงและเป็นธรรม
ทั้งนี้ ศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) กระทรวงมหาดไทยได้บูรณาการทุกภาคส่วนขับเคลื่อนการสร้างการสัญจรปลอดภัยในช่วงเทศกาลสงกรานต์ พ.ศ.2560 อย่างเข้มข้นและจริงจัง พร้อมส่งเสริมการสร้างวัฒนธรรมความปลอดภัยทางถนนในสังคมไทยอย่างยั่งยืน