กรุงเทพฯ--12 เม.ย.--เจซีแอนด์โค พับลิครีเลชั่นส์
· กรมโรงงานฯ เตรียมความพร้อมลดใช้สารทำความเย็น HCFCs ในอุตฯ ประมง
กรมโรงงานอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม ร่วมกับโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติภาคพื้นเอเชียและแปซิฟิก (UN Environment) สมาคมวิศวกรการทำความร้อน ความเย็นและการปรับอากาศแห่งสหรัฐอเมริกา (ASHRAE) สถาบันเครื่องทำความเย็นระหว่างประเทศ (IRR) องค์การพัฒนาอุตสาหกรรมแห่งสหประชาชาติ (UNIDO) และโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP) จัดประชุมนานาชาติว่าด้วยการบริหารจัดการเทคโนโลยีสารทำความเย็นในภาคอุตสาหกรรมประมง (Sustainable Management of Refrigeration Technologies in Marine and Off-Shore Fisheries Sector) โดยมีผู้เชี่ยวชาญ หน่วยงานระหว่างประเทศ และผู้แทนกว่า 45 ประเทศทั่วโลกทั้งจากภาครัฐและเอกชนเข้าร่วมซึ่งถือเป็นครั้งแรกที่ได้มีการนำหยิบยกประเด็นเรื่องเทคโนโลยีสารทำความเย็นในภาคอุตสาหกรรมประมงทะเลมาหารือในเวทีระดับนานาชาติ เพื่อใช้เป็นแนวทางการทำงานร่วมกับผู้มีส่วนได้เสียของแต่ละประเทศในการลดการทำลายชั้นบรรยากาศโอโซน โดยกรมโรงงานอุตสาหกรรมตั้งเป้าเตรียมความพร้อมเพื่อลดการใช้สารทำความเย็น HCFCs (ไฮโดรคลอโรฟลูออโรคาร์บอน) ใน อุตสาหกรรมประมง ทั้งนี้ ปัจจุบันประเทศไทยมีอุตสาหกรรมที่เป็นห้องเย็นจำนวนกว่า 881 โรงทั่วไทย
สำหรับผู้ประกอบการที่สนใจข้อมูลต่างๆ สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สำนักสนธิสัญญาและยุทธศาสตร์ กรมโรงงานอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม ถนนพระรามที่ 6 กรุงเทพฯ โทร. 02202-4228, 4104 หรือเข้าไปที่ www.diw.go.th
ดร.สมชาย หาญหิรัญ ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า ในปัจจุบันอุตสาหกรรมประมงถือว่ามีบทบาทสำคัญต่อภาคอุตสาหกรรมทั่วโลก โดยเฉพาะประเทศไทยที่ถือว่าประสบความสำเร็จในการเป็นหนึ่งในสิบของโลกที่มีผลผลิตสูง โดยติดอันดับต้นๆของผู้ส่งออกสินค้าประมง เช่น อาหารทะเลแช่แข็ง อาหารทะเลกระป๋อง และอาหารทะเลแปรรูปต่างๆ ที่สะท้อนให้เห็นถึงความต้องการที่เพิ่มขึ้นของประชากรทั่วโลก ซึ่งจากสาเหตุดังกล่าวจึงทำให้ประเทศไทยใช้เครื่องทำความเย็นและสารทำความเย็นจำนวนมหาศาลเช่นกัน ทั้งห้องเย็นที่ใช้ในเรือประมง ห้องเย็นที่ใช้ในเรือเดินทะเล เพื่อส่งอาหารแช่แข็งไปจำหน่ายในต่างประเทศ รถห้องเย็นที่ใช้ขนส่งผลิตภัณฑ์อาหารแช่แข็งระหว่างโรงงานผลิตไปยังผู้จัดจำหน่าย ซึ่งการใช้เครื่องทำความเย็นและสารทำความเย็นล้วนแล้วแต่มีส่วนผสมของสารที่เป็นสาเหตุในการทำลายชั้นโอโซนของโลกที่ก่อให้เกิดภาวะเรือนกระจก และเป็นตัวการสำคัญที่ทำให้เกิดภาวะโลกร้อน โดยสารที่เป็นตัวการสำคัญที่ถูกนำมาใช้กันอย่างแพร่หลายในอุตสาหกรรมประมงนั้น คือ ไฮโดรคลอโรฟลูออโรคาร์บอน หรือ HCFCsที่ก่อให้เกิดผลกระทบหลายด้าน อาทิ ผลกระทบต่อผลผลิตทางการเกษตร ผลกระทบต่อสุขภาพของมนุษย์ และเกิดความเปลี่ยนแปลงต่อระบบนิเวศวิทยา
ดร.สมชาย กล่าวต่อว่า กระทรวงอุตสาหกรรม โดยกรมโรงงานอุตสาหกรรม ได้ร่วมกับโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติภาคพื้นเอเชียและแปซิฟิก(UN Environment) จัดการประชุมนานาชาติในภาคอุตสาหกรรมประมงเป็นครั้งแรกของโลกในการแลกเปลี่ยน ความรู้ ประสบการณ์เพื่อช่วยประเทศภาคีสมาชิกภายใต้พิธีสารมอนทรีออลสามารถปฏิบัติตามข้อกำหนดในการลดและเลิกการใช้สารทำลายชั้นบรรยากาศโอโซน โอโซน ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อแนวทางการดำเนินงานในอนาคตของประเทศกำลังพัฒนาอย่างประเทศไทยในการเตรียมความพร้อมเพื่อลดการใช้สารทำความเย็น HCFCs ใน อุตฯ ประมงและห้องเย็นอย่างจริงจัง
นางอนงค์ ไพจิตรประภาภรณ์ รองอธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม กล่าวว่า กรมโรงงานอุตสาหกรรมจึงเล็งเห็นถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นจากภาคอุตสาหกรรมประมงที่มีสัดส่วนการค้าขายที่สูงเมื่อเทียบกับจำนวนการค้าขายผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรทั้งหมดทั่วโลก โดยจากข้อมูลของสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ พบว่า ประเทศในอาเซียนทั้ง 10 ประเทศ มีปริมาณการจับปลามากถึงหนึ่งในสี่ของปริมาณการจับปลาทั่วโลก ซึ่ง 4 ประเทศ ได้แก่ ไทย อินโดนีเซีย เวียดนาม และฟิลิปปินส์ ถือเป็นประเทศที่มีการจับปลามากใน 10 ลำดับแรกของโลก ซึ่งในครั้งนี้กรมโรงงานอุตสาหกรรมก็จะนำความรู้ที่ได้จากการแลกเปลี่ยนประสบการณ์จากหลากหลายประเทศนำไปช่วยผู้ประกอบการอุตสาหกรรมประมง กิจการทำห้องเย็น และเรือประมงให้สามารถพัฒนาและใช้สารทดแทนเพื่อลดการทำลายชั้นบรรยากาศโอโซน และพัฒนาประสิทธิภาพการประหยัดพลังงานเพื่อให้ผู้ประกอบการได้รับประโยชน์สูงสุด โดยที่ผ่านมากรมโรงงานอุตสาหกรรมได้ประสบความสำเร็จในการดำเนินโครงการลดและเลิกการใช้สาร HCFCs ในภาคอุตสาหกรรมผลิตเครื่องปรับอากาศและภาคอุตสาหกรรมผลิตโฟมในการปรับเปลี่ยนเทคโนโลยีใช้สารทดแทนเพื่อลดการทำลายชั้นบรรยากาศและไม่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสภาพภูมิอากาศในประเทศไทย โดยตั้งเป้าลดและเลิกใช้สารทำความเย็น HCFCs ในอุตสาหกรรมประมง ทั้งนี้ ปัจจุบันประเทศไทยมีอุตสาหกรรมที่เป็นห้องเย็นจำนวนกว่า 881 โรงทั่วไทย
ด้าน ดร. ดีเชนเซอริ่ง ผู้อำนวยการโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ สำนักงานเอเชียและแปซิฟิค หรือ ยูเอ็น เอ็นไวรอนเมนท์ (UN Environment) ได้เปิดเผยว่า ภาคอุตสาหกรรมประมงก็มีบทบาทที่สำคัญต่อชีวิตความเป็นอยู่และรายได้ของประชากรที่อาศัยในชนบทตามแนวชายฝั่งทะเล จากรายงานของคณะกรรมการประเมินด้านเทคโนโลยีและเศรษฐกิจภายใต้พิธีสารมอนทรีออลพบว่า มากกว่า 70% ของเรือประมงทั่วโลกยังคงมีการใช้สาร HCFCs ซึ่งเป็นสารทำลายชั้นบรรยากาศโอโซนเป็นสารทำความเย็นประมง ซึ่งเรือเหล่านี้ส่วนใหญ่แล้วอยู่ในภาคพื้นเอเชียและแปซิฟิค ดังนั้น การนำเทคโนโลยีสมัยใหม่ที่ไม่ทำลายชั้นโอโซนและส่งผลกระทบต่อสภาพภูมิอากาศให้น้อยที่สุดมาใช้ในอุตสาหกรรมประมงจึงส่งผลดีในหลายๆ ด้าน เช่น การลดการปล่อยสารทำความเย็นออกสู่บรรยากาศ การประหยัดพลังงาน ทำให้ลดค่าใช้จ่ายในการปฏิบัติงาน และผลิตภัณฑ์ที่ได้มีคุณภาพและความน่าเชื่อถือมากขึ้น ซึ่งจะส่งผลต่อภาพลักษณ์ที่ดีของบริษัท
ทั้งนี้ กรมโรงงานอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม ร่วมกับโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติภาคพื้นเอเชียและแปซิฟิก สมาคมวิศวกรการทำความร้อน ความเย็นและการปรับอากาศแห่งสหรัฐอเมริกา (ASHRAE) สถาบันเครื่องทำความเย็นระหว่างประเทศ (IRR) องค์การพัฒนาอุตสาหกรรมแห่งสหประชาชาติ (UNIDO) และโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP) ได้จัดการประชุมนานาชาติว่าด้วยการบริหารจัดการเทคโนโลยีสารทำความเย็นในภาคอุตสาหกรรมประมงในระหว่างวันที่ 6-8 เมษายน 2560 นี้ ณ โรงแรมชาเทรียม ริเวอร์ไซด์ ชั้น 4 ห้องชาเทรียม บอลลูม กรุงเทพฯ
สำหรับผู้ที่สนใจสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม ได้ที่สำนักสนธิสัญญาและยุทธศาสตร์ กรมโรงงานอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม โทร 0 2202-4228, 4104 หรือสอบถามข้อมูลโครงการอื่นๆของกรมโรงงานอุตสาหกรรม โทร.0 2202 4014หรือเข้าไปที่www.diw.go.th หรืออีเมล์pr@diw.mail.go.th