กรุงเทพฯ--12 เม.ย.--ม.นเรศวร
"บทบาทของผู้หญิงกับการจัดการความขัดแย้งในประเทศไทย" มุ่งสร้างนโยบายระดับชาติเสริมสร้างบทบาทของสตรี
เมื่อวันที่ ๓๐ มีนาคม ๒๕๖๐ ณ ห้องประชุม อาคารวิสุทธิกษัตริย์ มหาวิทยาลัยนเรศวร พลเอกเอกชัย ศรีวิลาศ ผู้อำนวยการสำนักสันติวิธีและธรรมาภิบาล สถาบันพระปกเกล้า และเลขานุการคณะอนุกรรมาธิการพิจารณาศึกษารวบรวมความเห็น วิเคราะห์ และสังเคราะห์ประเด็นการแก้ปัญหาความขัดแย้งและการสร้างความปรองดองทางการเมือง สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) เป็นประธานกล่าวเปิดจัดการประชุมระดมสมองและให้ข้อเสนอแนะ (ภาคเหนือ) โครงการวิจัยบทบาทของผู้หญิงกับการจัดการความขัดแย้งในประเทศไทย พร้อมปาฐกถา "บทบาทสตรีในอนาคต"
โดยมีผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วศิน ปัญญาวุธตระกูล ผู้อำนวยการสถานอารยธรรมศึกษา โขง-สาละวิน มหาวิทยาลัยนเรศวร เป็นผู้ดำเนินรายการ จากนั้นเป็นการนำเสนอโครงการวิจัย "บทบาทของผู้หญิงกับการจัดการความขัดแย้งในประเทศไทย" โดยนางสาวอภิญญา ดิสสะมาน นักวิชาการ สำนักสันติวิธีและธรรมาภิบาลวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาบทบาทของสตรีที่มีต่อกระบวนการลดความขัดแย้งในประเด็นต่าง ๆ เช่น การเมือง เศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม สังคม เป็นต้น ตลอดจนศึกษาปัจจัย อุปสรรคสำคัญที่มีผลต่อการขับเคลื่อนบทบาทสตรีต่อการลดความขัดแย้ง อัตลักษณ์ของบทบาทผู้หญิงที่มีผลต่อการลดความขัดแย้ง การรวมกลุ่มของผู้หญิงประเด็นขับเคลื่อนต่าง ๆ ในแต่ละภูมิภาคของประเทศไทย เพื่อมีข้อเสนอแนะแนวนโยบายระดับชาติและระดับท้องถิ่นในการเสริมสร้างบทบาทของสตรีต่อการลดความขัดแย้งในพื้นที่ของตนเองได้ โดยมีกลุ่มเป้าหมายในพื้นที่ ๒๕ จังหวัดทั่วภูมิภาคของประเทศ
ต่อด้วยการเปิดเวทีระดมความคิดเห็นและให้ข้อเสนอแนะโครงการ รวมถึงเครื่องมือภาคสนาม โดยอาจารย์/นักวิชาการมหาวิทยาลัยนเรศวร นักเคลื่อนไหวด้านบทบาทสตรีกับการจัดการความขัดแย้ง (สมาคมสตรีศรีสองแคว/มูลนิธิบ้านร่มพระคุณ) ตลอดจนภาคส่วนราชการ พัฒนาสังคมจังหวัด/กกต.จังหวัด/สาธารณสุขจังหวัด/ยุติธรรมจังหวัด
ทั้งนี้สถานอารยธรรมศึกษา โขง-สาละวิน มหาวิทยาลัยนเรศวรดำเนินโครงการร่วมกับสำนักสันติวิธีและธรรมาภิบาล สถาบันพระปกเกล้า ในพื้นที่ภาคเหนือ ได้แก่ จังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย พิษณุโลก ตาก และนครสวรรค์ โดยเริ่มที่จังหวัดพิษณุโลกเป็นแห่งแรกก่อนลงพื้นที่ไปยังจังหวัดอื่น ๆ ต่อไป สำหรับโครงการวิจัยนี้จะเสร็จสิ้นในเดือนกันยายน ๒๕๖๑ เป้าหมายเพื่อให้เกิดประโยชน์ในการขับเคลื่อนประเด็นลดความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในสังคม โดยมีผู้หญิงเป็นแรงขับและเป็นกลุ่มที่มีพลังในการขับเคลื่อนอย่างเป็นรูปธรรม