กรุงเทพฯ--17 เม.ย.--มูลนิธิสยามกัมมาจล
มูลนิธิสยามกัมมาจล มูลนิธิมั่นพัฒนา สปุตนิคเทลส์ และเครือข่ายแอนิเมชั่น ร่วมสนับสนุนเทศกาลประกวด Thailand Animator Festival#4 (TAF4) "อิสระ(+) เพื่อสังคม ดัน 10 สุดยอดผลงาน "Social Animation" ฝีมือเด็กไทย หวังให้เกิดเครือข่าย "พลเมืองแอนิเมชั่นรุ่นใหม่"ที่มีจิตสำนึกรับผิดชอบต่อสังคม พร้อมร่วมกันผลิตสื่อสร้างสรรค์ เรื่อง Ginger Bread Factory ซึ่งได้รับแรงบันดาลใจจากการเรียนรู้เรื่อง เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ Sustainable Development Goals (SDGs)
เมื่อวันที่ 8 เมษายน 2560 ที่ผ่านมา ณ Voice Space มูลนิธิสยามกัมมาจล ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด(มหาชน) มูลนิธิมั่นพัฒนา ให้การสนับสนุน บริษัท สปุตนิคเทลส์ จำกัด ร่วมกับองค์กรภาคี เครือข่ายแอนิเมชั่น (Animation) เครือข่ายสื่อมวลชน อาทิ สมาคมผู้ประกอบการแอนิเมชั่นและคอมพิวเตอร์กราฟิกส์ไทย (TACGA) บริษัท Lunchbox Studio แอนิเมชั่น บริษัท Beboyd CG จำกัด บริษัท Riff Animation จำกัด Voice Space Voice TV จัดงานเทศกาลประกวด Thailand Animator Festival#4 (TAF4) "อิสระ(+) เพื่อสังคม ภายใต้โครงการ Thailand Animator Festival ต่อเนื่องเป็นปีที่ 4 พร้อมมอบรางวัลให้กับผู้ได้รับรางวัลแอนิเมชั่นอิสระ(+)เพื่อสังคม 10 ผลงาน และรางวัลพิเศษ 4 รางวัล ขึ้น ณ Voice Space ถนนวิภาวดีรังสิต
บรรยากาศภายในเริ่มคึกคักตั้งแต่เช้าตรู่ Taf Market ที่เปิดโอกาสให้เยาวชนแอนิเมชั่นทำผลงาน มาโชว์ในงานทั้งวาดภาพการ์ตูนกันสดๆ หรือ การ์ตูนสติ๊กเกอร์ไลน์ น้องๆ ต่างโชว์ไอเดียกันอย่างน่าสนใจ และที่พิเศษที่เวทีนี้จัดให้เยาวชนแอนิเมชั่นโดยเฉพาะคือ ช่วง Taf Workshop ที่เชิญกูรูชื่อดังด้านแอนิเมชั่นทั้งไทยและต่างประเทศมาให้ความรู้และเคล็ดลัดในการพัฒนาฝีมือด้านงานแอนิเมชั่น เริ่มตั้งแต่ หัวข้อ " Concept Art " คุณชาคฤษ โนนคำ (ไอเท็ม) Head of Pre-Production Department เวิร์คช้อปหลักการและเทคนิค ในการสร้างงาน Concept Art เจ้าของ Design อันโดดเด่น ในภาพยนต์ "เมย์ไหน ไฟแรงเฟร่อ" และล่าสุด กับ RAAM จากโปรเจค Force of Will จาก สตูดิโอชื่อดัง RiFF Animation Studio หัวข้อ " Storyboard " โดยคุณอัฐวุฒิ วิถีธรรม (ซีบอย) เจ้าของรางวัล TOP10 Best Animations ผลงานสาธุ-โกรธาจาก TAFและปัจจุบันคือ Storyboard Supervisorอันดับ 1 แห่ง the Monk studios มาถ่ายทอดประสบการณ์ของตนเอง พร้อมเผยเทคนิคหลักสำคัญในการเขียน Storyboard ให้สื่อสารเล่าเรื่อง ได้ตามที่ต้องการ หัวข้อ " Character Design" โดย คุณกฤษณ์ ณ ลำเลียง Managing Director จาก 2spot Studioผู้เป็นเจ้าของ character ชื่อดัง Bloody Bunny , Unsleep Sheep สอนหลักสำคัญ ในการออกแบบตัวละคร ให้โดดเด่น โดนใจและ เคล็ดลับการต่อยอด Character สู่การสร้างมูลค่ามากมายทางธุรกิจ หัวข้อ " Storytelling - Director - KAAN" โดยคุณปวีณ ภูริจิตปัญญา(คุณกอล์ฟ) ผู้กำกับหนุ่มไฟแรง จากค่ายดัง GDH สอนเทคนิคการสร้างจินตนาการจากบท แล้วถ่ายทอดความคิดทางด้านศิลปะออกมาตามแบบที่ตนเองต้องการ กำหนดทิศทางและเป้าหมายของเรื่องได้อย่างมืออาชีพ และTAF Special Talk - CEO RiFF x CEO BIGFOOT เวทีเสวนาจาก 2 แอนิเมเตอร์ระดับโลก คุณวีรภัทร ชินะนาวิน(คุณตุลย์)CEO: RiFF Animation Studio และแขกรับเชิญสุดพิเศษ Producer จากแอนิเมชั่นเรื่อง"RAAM" "Mr.Shuhei Kumamoto" CEO: BIGFOOT ผู้อยู่เบื้องหลัง Shin Godzilla,TV Series Majin Bone
ที่สำคัญเวทีแห่งนี้ภาครัฐยังให้ความสนใจ ผ่านเวทีเสวนา หัวข้อโอกาสของนักแอนิเมชั่นไทย กับ การสนับสนุนขององค์กรภาครัฐโดยคุณวสันต์ ภัยหลีกลี้ ผู้จัดการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ "บทบาทกองทุนในการสนับสนุนสื่อที่ดี สื่อปลอดภัย สื่อแอนิชั่นถ้าเรามีสื่อที่ดีเราจะสร้างการเรียนรู้ให้กับสังคม" ,ดร.ณัฐพล นิมมานพัชรินทร์ ผู้อำนวยการ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล"ตามแผนงานการขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิตอล หนึ่งในแผนงานเราต้องพัฒนาทักษะและกำลังคนอุตสาหกรรมด้านแอนิเมชั่น เป็นโอกาสหนึ่งที่ทำให้น้องๆเห็นว่าเรามีหน่วยงานที่เกิดขึ้นใหม่ในประเทศไทยและสามารถผลักดันดิจิตอลให้เกิดขึ้นได้ เราต้องการสนับสนุนStar up ให้เป็นเครือข่ายแอนิเมชั่นเพื่อพัฒนาผลงาน และสร้างตลาดดิจิตอลให้กับน้องๆ" และคุณประสพ เรียงเงิน ผู้อำนวยการ สำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ กระทรวงวัฒนธรรม ทั้งเวทีเวิร์คช้อปและเสวนาเพื่อสร้างแรงบันดาลใจและแรงกระเพื่อมให้กับวงการแอนิเมชั่นไทยได้ก้าวหน้ายิ่งขึ้นไป
หลังจากเยาวชนผ่านเข้ารอบ 10 ผลงานสุดท้าย ทุกคนต้องผ่าน TAF CAMP ซึ่งเป็นกิจกรรมส่วนหนึ่งของโครงการ ที่เปิดพื้นที่ให้เยาวชนได้มารู้จักและแลกเปลี่ยนเรียนรู้กัน ภายในค่ายจำนวน 2 วัน เยาวชนได้รวมพลังกับรุ่นพี่ปี1-ปี3 ร่วมกันผลิตสื่อสร้างสรรค์ เรื่อง Ginger Bread Factory ซึ่งได้รับแรงบันดาลใจจากการเรียนรู้เรื่อง เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ Sustainable Development Goals (SDGs) จากมูลนิธิมั่นพัฒนา โดยมีรุ่นพี่โดดเข้ามารับผิดชอบงานส่วนนี้เต็มตัว สะท้อนให้เห็นถึง "ความเข้มแข็ง"ของเครือข่ายที่เพิ่มขึ้น
คุณปิยาภรณ์ มัณฑะจิตร ผู้จัดการมูลนิธิสยามกัมมาจล กล่าวว่า มูลนิธิสยามกัมมาจล เข้ามาสนับสนุนโครงการ TAF ตั้งแต่เริ่มต้น โดยเป้าหมายของมูลนิธิสยามกัมมาจล ที่มุ่งเน้นการสนับสนุนการพัฒนาศักยภาพเยาวชนให้มีความรู้ มีทักษะ ความสามารถ มีจิตอาสา มีสำนึกรับผิดชอบต่อส่วนร่วม ซึ่งการพัฒนาเยาวชนพลเมืองของชาติด้านไอที สาขาแอนิเมชั่น ก็เป็นเรื่องสำคัญ เพราะโลกในศตวรรษที่ 21 นี้ เทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทมากในโลกของสื่อ และการสื่อสารเป็นอย่างมาก โฉมหน้าใหม่ของประวัติศาสตร์โลกกำลังจะเกิด "ไอที"จะเข้ามาปฏิวัติโลกนี้อีกรอบหนึ่ง เพราะ "ไอที" ไม่ใช่เข้ามาปฏิวัติวงการสื่อเท่านั้น แต่ยังเปลี่ยนพฤติกรรมของผู้คนในสังคมอย่างมากอีกด้วย ดังนั้น "สำนึกรับผิดชอบ" ของพลเมืองรุ่นใหม่" ทั้งต่อตัวเอง ต่อสังคม ต่อโลก จึงมีความหมายอย่างยิ่ง
ที่สำคัญโครงการฯ นี้ ยังได้รับความร่วมมือ จากหลายฝ่ายในการเข้ามาร่วมสนับสนุนโครงการอย่างต่อเนื่อง ซึ่งถือว่าเป็น "คุณค่า" หนึ่งของโครงการนี้ องค์กรสนับสนุนนั้น นอกจากมูลนิธิสยามกัมมาจลแล้ว ยังมีสำนักงานสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) , มูลนิธิมั่นพัฒนา และที่น่ายินดีมากสำหรับปีนี้ คือ กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ก็ได้เข้ามาร่วมเป็นภาคี รวมทั้งจะได้เข้ามาร่วมสนับสนุนโครงการในปีต่อไปด้วย นอกจากนี้ยังมีภาคีผู้ประกอบการ สมาคมผู้ประกอบการแอนิเมชั่นและคอมพิวเตอร์กราฟิกส์ไทย ตลอดจน บริษัทแอนิเมชั่นระดับแนวหน้าของประเทศไทย ที่เข้ามาร่วมเป็นกรรมการคัดสรรผลงาน เป็นวิทยากรเติมเต็มมุมมอง และทักษะด้านแอนิเมชั่น ภาคีสื่อที่เข้ามาช่วยเป็นกรรมการฯ และช่วยเผยแพร่ข่าวสารผลงาน โดยทั้งหมดนี้ทุกท่านมาด้วยจิตอาสาทั้งสิ้น ท้ายนี้ ทางมูลนิธิสยามกัมมาจล จึงเล็งเห็นว่าโครงการฯ นี้จะสามารถเติบโตและยั่งยืนต่อไปได้และเป็นพื้นที่กลางที่จะสร้างประโยชน์ให้กับวงการแอนิเมเตอร์ไทยต่อไป..."
นายรัฐ จำปามูล ผู้ก่อตั้ง บริษัท สปุตนิคเทลส์ จำกัด และ โครงการ Thailand Animator Festival กล่าวว่า เทศกาลแอนิเมชั่นในปีนี้ มีผลงานจากนักศึกษาส่งเข้าประกวดร้อยกว่าชิ้นจากทั่วประเทศ และได้คัดเลือกให้เหลือ 10 ผลงานสุดท้ายที่เข้ารอบซึ่งถือว่าทั้ง 10 ผลงานเป็นสุดยอดงานแอนิเมชั่น และมีรางวัลพิเศษอีก 4 รางวัล ซึ่งเป็นรางวัลที่องค์กรเครือข่ายได้มอบให้ ที่สำคัญทุกผลงานได้นำเสนอเนื้อหาสะท้อนคุณค่าที่จะสื่อสารต่อผู้อื่นเพื่อให้เกิดการรับรู้หรือเรียนรู้ในมุมมองที่น้องๆ ได้เห็น ในมิติของสิ่งแวดล้อม การให้กำลังใจ เป็นต้น ที่สำคัญปีนี้พบว่าทักษะสร้างสรรค์ผลงานแอนิเมชั่นของน้องๆ มีคุณภาพมากขึ้น เช่น บางเฟรมวาดรายละเอียดได้ดีมาก
4 ปี ที่ดำเนินโครงการฯ Taf มาทำให้ Taf กลายเป็นพื้นที่กลางในการนำผลงานของนักศึกษาและสร้างฝันให้เป็นจริงที่ผลงานได้มาฉายในเทศกาลแอนิเมชั่นประจำปี "เวที TAF กลายเป็นเป้าหมายในการผลิตผลงานทีสิสของน้องๆ เพื่อส่งเข้าประกวด ตอนนี้ Taf กลายเป็นเทศกาลแอนิเมชั่นของคนรุ่นใหม่ไปแล้วครับ เพราะน้องๆ เขารู้ว่าจะมีโอกาสได้แสดงผลงานแล้วยังมีโอกาสได้พบเจอกับพี่ๆ ในบริษัทแอนิเมชั่นชั้นแนวหน้า ก็อาจจะทำให้มีโอกาสได้ทำงานอีก
นอกจากเกิดเครือข่ายนักแอนิเมชั่นรุ่นใหม่ ตามที่โครงการฯ ได้วางเป้าหมายไว้แล้ว ยังเกิดมีเครือข่ายในวงการแอนิเมชั่นอีกด้วย Taf มีวิทยากรจากต่างประเทศเริ่มเข้ามาให้แรงบันดาลใจกับน้องๆ ในเทศกาลมาเป็นเวลา 2 ปี แล้ว เพราะเห็นว่าเวที Tafคือเวทีที่จะสามารถสื่อสารกับนักแอนิเมชั่นรุ่นใหม่ได้ "ทำให้พวกเขาอยากมาแชร์ประสบการณ์ให้กับน้องๆ Taf อย่างเช่นปีนี้Taf มีแขกรับเชิญสุดพิเศษ Producer จากแอนิเมชั่นเรื่อง "RAAM" "Mr.Shuhei Kumamoto" มาร่วมพูดคุยบนเวทีเพื่อสร้างแรงบันดาลใจให้น้องๆ อีกด้วย
สำหรับ Taf ในปี 5 เราก็ยังคงมีแนวคิดเหมือนเดิมคือ Taf คือ Space เปิดกว้าง ทุกคนเข้ามาร่วมได้ เราจะเป็นคนหา Content หาคนมาสร้างแรงบันดาลใจให้ ผมถือว่าเป็นหน้าที่ผมที่จะทำให้ Taf มีขึ้นไปเรื่อยๆ ทุกปี และเติบโตขึ้นไปอีก หากเติบโตไปถึงปีที่ 10 หาก Taf สามารถต่อเนื่องได้ขนาดนั้นจะสร้างแรงกระเพื่อม การเชื่อมโยงการเติบโตของวงการแอนิเมชั่นได้ แต่แน่นอนเราไม่ทิ้งเป้าหมายหลักของเราที่มุมมองของ Taf ต้องการเป็นงานที่มีคุณค่า เป็นการบ้านว่าเราจะสร้างพื้นที่ที่ซัพพอร์ทให้คนTaf เติบโตไปได้อย่างไรได้บ้าง
ตั้งแต่เทศกาล Taf เติบโตขึ้นเชื่อมโยงคนเข้ามาหากันมากขึ้น ทั้งสมาคมแอนิเมชั่น องค์กรเอกชน ภาครัฐ ที่สนับสนุนงานแอนิเมชั่น และต่อๆ ไปเราจะเชื่อมโยงเทศกาลเมืองนอก เราจะมีวิธีการในการผลักดันรุ่นน้องไปสู่งานต่างประเทศให้มากขึ้น
สิ่งที่คาดหวังในอนาคต "รัฐ" กล่าวว่า" ผมอยากให้เครือข่ายแอนิเมชั่นเกิดขึ้นด้วยตัวเอง อยากให้ Taf โตขึ้นในระดับอินเตอร์ฯ เป็นเทศกาลใหญ่ เด็กไทยจะได้โตและไปได้ไกลมากกว่านี้ ถ้าหากประเทศไทยสามารถเป็นเจ้าภาพจัดงานใหญ่ๆ เป็นพื้นที่เปิดโลกให้กับนักแอนิเมชั่น เพื่อน้องๆ จะได้ก้าวสู่ระดับโลกได้ง่ายขึ้น
TAF คือ OPEN SPACE ถ้าหาก Taf ยังคงรักษา community ของคนแอนิเมชั่นไปได้เรื่อย community ที่ทำให้คนรู้จักกันมากขึ้น มาแลกเปลี่ยนทักษะกัน ช่วยกันทำงาน สามารถที่จะทำอะไรก็อาจจะได้ทำเพราะมีเพื่อนๆ ที่เก่งๆ การที่ Taf มีรุ่นพี่มาสอนงานรุ่นน้อง เราได้รู้จักหลักปศพพ.และความยั่งยืน เราจึงพยายามทำให้ Taf ยั่งยืนให้ได้ ขยาย Impact หาวิธีการให้ Taf อยู่และเติบได้ด้วยตนเองจนอยู่ไปได้ต่อเนื่องทุกปี" รัฐตบท้าย
พณิดา รัตรสาร (เมเปิ้ล) เจ้าของผลงาน Footstep เนื้อหาสะท้อนถึงครอบครัวที่เปิดโอกาสให้ลูกได้ทำในสิ่งที่ชอบ ได้สะท้อน
ความรู้สึกกับผลงานตนเอง "รู้สึกดีใจมากค่ะที่ได้รางวัลในเวทีนี้ เพราะเป็นเวทีที่มีเป้าหมายจะทำงานส่งเข้าประกวดเพราะเห็นจากรุ่นพี่ที่เข้ามาแล้วรู้สึกว่าพี่เขาเจ๋งดี การที่ผลงานได้รับรางวัลก็รู้สึกดีใจที่มีคนสนใจงานเรา อยากให้มีเวทีแบบนี้ไปเรื่อยๆ เพื่อให้วงการแอนิเมชั่นไทยได้มีพื้นที่แสดงผลงานเพิ่มขึ้น เพราะปัจจุบันเวทีแบบนี้ก็มีน้อย อยากให้คนดูยอมรับในงานแอนิเมชั่นของคนไทย ว่าเราก็มีฝีมือสามารถทำได้"
ภัทร เตกิตติพงษ์ (พัด) เจ้าของรางวัลชายผู้ไม่รู้ตัวว่าถูกจองจำ สะท้อนเรื่องราวของการถูกขังโดยไม่รู้ตัวคนทั่วไปไม่รู้ตัว ได้รับรางวัลพิเศษ The Best of Smart Content เผยว่า "ผมรู้สึกดีใจที่มีคนสนใจงานด้าน "Content" ของผม ซึ่งเป็นสิ่งที่ผมอยากจะถ่ายทอดออกไป และสิ่งนี้ก็สามารถทำงานที่เป็นประโยชน์ให้กับคนอื่นได้เหมือนกัน"
ดนุพล จงอริยะกุล (มายด์) เจ้าของรางวัล Mailbox สะท้อนเรื่องราวความสำคัญของการสื่อสารที่มีคุณค่าทางใจ ได้รับรางวัลพิเศษ Creative Media เผยว่า "เวทีนี้เป็นแรงบันดาลใจให้ผมตั้งแต่เรียนอยู่ ม.6 ตอนที่ผมมาดู Taf 1 ทำให้ผมอยากอยู่บนเวทีนั้นบ้าง รางวัลได้มาเติมเต็มกำลังใจให้กับผมทำให้รู้ว่าคนที่ชอบงาน Stop Motion ยังมีอีกมาก ทำให้ผมคิดว่าเราสามารถทำโปรเจคร่วมกันได้อีกเยอะสำหรับงานด้าน Stop Motion"
ในปีนี้ ผลงานแอนิเมชั่นอิสระ(+)เพื่อสังคม 10 ผลงานประกอบด้วยสำหรับ 10 รางวัลสุดยอดในปีนี้ได้แก่ 1.ผลงานMailbox เจ้าของผลงาน ดนุพล จงอริยะกุล บริษัท กันตนาแอนิเมชั่น สตูดิโอ จำกัด 2.ผลงาน Black&white เจ้าของผลงาน จาตุรนต์ เจตน์วิริยานนท์ 3.ผลงาน Fistory (ความสุขของปลากระป๋อง) เจ้าของผลงาน เดชาธร ฐิติกุล มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ 4.ผลงาน Fury Bros เจ้าของผลงาน จีรวัฒน์ อุดมสถาผล มหาวิทยาลัยมหิดล 5.ผลงาน Weaver เจ้าของผลงาน ชัยรัมภา วงศ์สันติราษฎร์, จันนิภา จันทนาวรรนนท์, สุทิวัส สิงหาไชย มหาวิทยาลัยรังสิต 6.ผลงาน ชายผู้ไม่รู้ตัวว่าถูกจองจำ เจ้าของผลงาน ภัทร เตกิตติพงษ์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 7.ผลงาน Up in the clouds เจ้าของผลงาน กรรณิการ์ ราษฎร์เจริญ, กณิศ งามจินดาวงศ์, กษิดิศ ธรณไพบูลย์, ธนพล ประดิษฐ์กนก 8.ผลงาน : Festival Rush (งานนี้มีวิ่ง)เจ้าของผลงาน ชวนัฎ รัตนปราการ, พีรพัชร เลขะกุล, จตุพล อรุณสวัสดิ์มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรีรณไพบูลย์, ธนพล ประดิษฐ์กนก 9.ผลงาน The Forest pape เจ้าของผลงาน สิปปภาส ครองรักษา มหาวิทยาลัยรังสิต 10.ผลงาน Footstep เจ้าของผลงาน พณิดา รัตรสาร มหาวิทยาลัยศิลปากร สำหรับรางวัลพิเศษ 4 รางวัลได้แก่ 1. The best of smart content โดย สถานีโทรทัศน์ ว๊อยส์ ทีวี : ชายผู้ไม่รู้ว่าถูกจองจำ 2. Creative Media โดย กองทุนสื่อ : Mailbox 3. The Best Visual animation : Fulfill(ผลงานเข้ารอบ 30 ทีม) 4. Little star: Hunter & Eagle (ผลงานเข้ารอบ 30 ทีม)
ชมทั้ง 10 ผลงานได้ที่ www.scbfoundation.com/https://web.facebook.com/thailandanimatorfestival