สพฉ.จัดเวทีเสวนาในหัวข้อ “ คุณภาพและความปลอดภัยของผู้ปฏิบัติการในระบบการแพทย์ฉุกเฉิน ทำอย่างไรให้ยั่งยืน”

ข่าวทั่วไป Monday April 17, 2017 16:37 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--17 เม.ย.--สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ สพฉ.จัดเวทีเสวนาในหัวข้อ " คุณภาพและความปลอดภัยของผู้ปฏิบัติการในระบบการแพทย์ฉุกเฉิน ทำอย่างไรให้ยั่งยืน" ระบุมีเจ้าหน้าที่ผู้ชายได้รับผลกระทบจากการถูกทำร้ายร่างกายจากผู้ป่วยและญาติเป็นจำนวนมาก ส่วนเจ้าหน้าที่ผู้หญิงจะได้รับผลกระทบและไม่ปลอดภัยจากการทำงานจากการถูกคุกคามทางเพศ พร้อมพบอุบัติเหตุระหว่างนำส่งผู้ป่วยเป็นอีกหนึ่งสาเหตุที่สร้างความสูญเสียให้กับบุคลากรทางด้านการแพทย์ฉุกเฉิน ขณะที่ตัวแทนจากสมาคมผู้ปฏิบัติการฉุกเฉินการแพทย์ไทยเสนอผลักดันกฎหมาย คุ้มครอง สวัสดิการ บุคลากรทางการแพทย์อย่างเป็นรูปธรรม รวมถึงสร้างพ.ร.บ.ในการปูนบำเหน็จในกรณีเสียชีวิต หรือ ทุพลภาพ และจัดตั้งกองทุนดูแลอาสาสมัครแลมูลนิธิต่างๆ หากเกิดเหตุไม่พึงประสงค์ รวมถึงเพิ่มอัตราโทษสำหรับผู้ทำร้ายบุคลากรทางการแพทย์ ปัญหาเรื่องความปลอดภัยในการทำงานของบุคลากรในระบบปฏิบัติการด้านการแพทย์ฉุกเฉิน เป็นปัญหาที่ผู้ปฏิบัติงานหลายภาคส่วนมีความกังวล ซึ่งตามข่าวที่ได้มีการนำเสนอต่อสื่อมวลชนเราจะพบเห็นการทำร้ายเจ้าหน้าที่อยู่เป็นระยะๆ และล่าสุดเหตุการณ์เกิดขึ้นกับบุคลากรที่ รพ.สต.แห่งหนึ่ง ใน อ.เซกา จ.บึงกาฬที่ถูกทำร้ายร่างกายเพื่อประสงค์ในการคุกคามทางเพศ เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นล่าสุดนี้จึงกลายเป็นโจทย์ใหญ่ที่หน่วยงานทีเกี่ยวข้องต้องรีบหาแนวทางในการป้องกันไม่ให้ความสูญเสียเกิดขึ้นอีก โดย ที่ห้องประชุมแกรนด์ ไดมอน บอลรูม อิมแพ็ค เมืองทองธานี สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ ได้จัดประชุม วิชาการการแพทย์ฉุกเฉินระดับชาติ ครั้งที่ 11 ประจำปี 2560 ในหัวข้อสืบสานพระราชปณิธานรวมใจเพื่อคุณภาพการแพทย์ฉุกเฉินไทยสู่เวทีโลกเป็นวันที่ 2 โดยภายในงานได้มีการเสวนาในหัวข้อที่น่าสนใจเรื่อง " คุณภาพและความปลอดภัยของผู้ปฏิบัติการในระบบการแพทย์ฉุกเฉิน ทำอย่างไรให้ยั่งยืน" โดยมีวิทยากรที่ปฏิบัติงานในระบบการแพทย์ฉุกเฉินเข้าร่วมถ่ายทอดบทเรียนจากการถูกทำร้ายอีกด้วย นายอิทธิกร บุตรสาระ เจ้าหน้าที่จากโรงพยาบาลแก่งคอย จ.สระบุรี กล่าวว่า ความไม่ปลอดภัยในการปฏิบัติงานของผู้ปฏิบัติการในระบบการแพทย์ฉุกเฉินของโรงพยาบาลแก่งคอย คือ อุบัติเหตุจราจรที่จะมีการเกิดเหตุจนทำให้เจ้าหน้าที่ได้รับผลกระทบบ่อยมาก ซึ่งเราได้รวบรวมการเกิดเหตุและนำมาถอดบทเรียนก็พบใจความสำคัญว่า เราไม่ได้มีการจัดแบ่งหน้าที่ ในการออกเหตุ หรือหากมีการแบ่งหน้าที่ก็จะมีการทำงานช้า จนทำให้เกิดอุบัติเหตุซ้อนและสร้างความสูญเสีย โดยสิ่งที่ควรจะทำคือ ผู้ปฏิบัติงานควรมีการจัดแบ่งหน้าที่ ก่อนที่จะลงเหตุทันที โดยแบ่งเป็นทีมจราจรที่จะเคลียร์พื้นที่ เช่น การจัดตั้งกรวยให้ห่างจากจุดเกิดเหตุและการติดสัญญาณไฟ ให้เห็นอย่างเด่นชัด ซึ่งจะต้องเป็นทีมที่แยกออกจากทีมที่จะต้องเข้าไปช่วยผู้ป่วยฉุกเฉิน เราจะต้องทำแผนให้เป็นระบบและบรรจุอยู่ในหลักสูตรการเรียนการสอนผู้ปฏิบัติการในระบบการแพทย์ฉุกเฉิน ให้มีการสร้างวัฒนธรรมความปลอดภัย ให้เกิดเป็นนิสัยในกรทำงาน ด้านนายสิทธิชัย ใจสงบ ตัวแทนจากสมาคมผู้ปฏิบัติการฉุกเฉินการแพทย์ไทย กล่าวว่า ความเสี่ยงต่อการทำงานของเจ้าหน้าที่ในระบบการแพทย์ฉุกเฉิน มีหลายสาเหตุด้วยกัน โดยความเสี่ยงอันดับแรก คือ ความเสี่ยงต่อการทำให้รถพยาบาลเกิดอุบัติเหตุจนทำให้เกิดผลกระทบต่อผู้ปฏิบัติงาน ซึ่งสาเหตุของความเสี่ยงมาจากคน คือพนักงานขับรถที่อาจจะเมาแล้วขับ หรือต้องขับรถเกินระยะทางที่กำหนด เพราะมีหลายโรงพยาบาลที่ต้องส่งต่อผู้ป่วยไปและกลับในเส้นทางที่ไกล จนทำให้พนักงานขับรถเกิดอาการเหนื่อยล้า พักผ่อนไม่เพียงพอเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุได้ รวมถึงความประมาทก็เป็นอีกหนึ่งสาเหตุที่ทำให้เกิดความเสี่ยงในเรื่องนี้ได้ ทั้งนี้ในแต่ละโรงพยาบาลจะแก้ปัญหาในเรื่องได้ โดยเรื่องของคนนั้นโรงพยาบาลจะต้องจัดอบรมพนักงานขับรถพยาบาลให้ได้100เปอร์เซ็นต์ และออกระเบียบระยะทางในการขับรถพยาบาลที่เหมาะสม รวมถึงสร้างมาตรการองค์กรในการขับขี่ปลอดภัยและเพิ่มบทลงโทษพนักงานขับรถในกรณีที่เกิดอุบัติเหตุโดยประมาท และในส่วนของการแก้ปัญหาในเรื่องรถนั้น ควรมีการติดตั้งอุปกรณ์ความปลอดภัย อาทิ การติดตั้งจีพีเอส ให้มีการจำกัดความเร็วที่เหมาะสม รวมถึงต้องมีการตรวจสอบโดยวิศวกรความปลอดภัย และควรตรวจสภาพรถ ตรวจสอบไฟฉุกเฉินว่าได้รับมาตรฐานหรือไม่ และที่สำคัญรถพยาบาลที่จะปฏิบัติหน้าที่ต้องมีการออกใบอนุญาตโดย สพฉ. และในส่วนการแก้ปัญหาในเรื่องถนนนั้นควรมีการจัดทำเลนส์ สำหรับรถพยาบาลในเมืองที่มีการจราจรคับคั่ง และควรจัดกิจการรณรงค์การหลบรถฉุกเฉิน รวมถึงพนักงานเองควรสร้างความศักดิ์สิทธิ์ให้กับสัญญาณไฟฉุกเฉิน โดยงดสัญญาณไฟฉุกเฉินโดยไม่จำเป็น ตัวแทนจากสมาคมผู้ปฏิบัติการฉุกเฉินการแพทย์ไทยยังกล่าวถึงอีกหนึ่งสาเหตุความเสี่ยงต่อการทำงานของเจ้าหน้าที่ คือ การติดเชื้อจากการสัมผัสผู้ป่วย ซึ่งการป้องกันการติดเชื้อของเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานนั้น เป็นเรื่องที่สำคัญมาก เพราะผู้ปฏิบัติการฉุกเฉิน อาจได้รับเชื้อที่มีอยู่ในเลือด หรือสารคัดหลั่งของผู้ป่วยในขณะปฏิบัติงานได้ 3 ทาง คือ จากการถูกเข็ม หรือของมีคมที่เปื้อนเลือด หรือ สารคัดหลั่ง ทิ่ม ตำ บาด หรือ อาจเข้าสู่ทางผิวหนังที่มีบาดแผล หรือ รอยถลอก หรือ อาจกระเด็นเข้าตา เข้าจมูก ปาก ของผู้ปฏิบัติงานได้ ซึ่งผู้ปฏิบัติงานควรป้องกันตัวเองด้วยการสวมอุปกรณ์ป้องกันร่างกายโดยเฉพาะถุงมือเพื่อป้องกันการสัมผัสกับผู้ป่วยโดยตรง และควรทดสอบการรั่วของถุงมือก่อนใช้งาน นายสิทธิชัย ยังได้พูดถึงอีกหนึ่งความเสี่ยงของผู้ปฏิบัติงานคือความเสี่ยงต่อการถูกทำร้ายจากผู้ป่วย หรือ ญาติผู้ป่วย โดยมีหลายเหตุการณ์ที่ปรากฏเป็นข่าว ซึ่งทำให้ผู้ปฏิบัติงานเสียขวัญและกำลังใจมาก โดยในเรื่องนี้หากเราไม่สามารถควบคุมผู้ป่วย หรือ ญาติได้ เราก็ควรที่จะมีมาตรการในการดูแลเจ้าหน้าที่ในการปฏิบัติงาน และเยียวยา หากเกิดเหตุไม่พึงประสงค์ โดยควรมีการจัดทำระเบียบการจ่ายเงินชดเชย รวมถึงการสร้างขวัญและกำลังใจให้เจ้าหน้าที่ ซึ่งผู้บังคับบัญชาเองควรที่จะให้ความสำคัญกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น และควรมีการผลักดันกฎหมาย คุ้มครอง สวัสดิการ บุคลากรทางการแพทย์อย่างเป็นรูปธรรม รวมถึงสร้างพ.ร.บ.ในการปูนบำเหน็จในกรณีเสียชีวิต หือ ทุพลภาพ และจัดตั้งกองทุนดูแลอาสาสมัครแลมูลนิธิต่างๆ หากเกิดเหตุไม่พึงประสงค์ รวมถึงเพิ่มอัตราโทษสำหรับผู้ทำร้ายบุคลากรทางการแพทย์ด้วย ขณะที่ ร.อ.ชัชวาลย์ จันทะเพชร ศูนย์ปฏิบัติการแพทย์ทหารอากาศ กรมแพทย์ทหารอากาศ กล่าวว่า ผู้ปฏิบัติการการแพทย์ฉุกเฉินจะได้รับอันตรายมากกว่าอาชีพอื่นถึง 3 เท่า โดยจากการเก็บสถิติความรุนแรงในสถานที่ทำงาน และการจัดการของบุคคลากรทางการพยาบาล หน่วยงานอุบัติเหตุและฉุกเฉินพบว่า ผู้ปฏิบัติงานฉุกเฉินทางการแพทย์จะถูกกระทำความรุนแรงทั้งทางร่างกายและวาจา โดยส่วนที่มีความน่ากังวลคือความรุนแรงทางร่างกาย โดยจะมีผู้ปฏิบัติการฉุกเฉินทางการแพทย์ถูกผลัก ดึง กระชาก มากถึงร้อยละ 40 รองลงมาคือ ถูกขว้างปาด้วยวัตถุ ร้อยละ 19 ถูกตบตีกระแทก ร้อยละ 10 ถูกชกต่อยเตะ ร้อยละ 10 และถูกใช้อาวุธกรีดหรือแทงร้อยละ 9 ซึ่งสถิติเหล่านี้มีความน่ากังวลเป็นอย่างยิ่ง จึงอยากให้ทุกฝ่ายมาร่วมกันที่จะสร้างความตะหนักในเรื่องของความปลอดภัยของเจ้าหน้าที่ให้เป็นรูปธรรมและยั่งยืน ด้านรศ.ดร. ศิริอร สินธุ ตัวแทนจากสมาคมพยาบาลฉุกเฉินประเทศไทย กล่าวว่า ตนได้รับข้อมูลจากพยาบาลที่ส่งต่อผ่านแอปพลิเคชั่นไลน์ว่าถูกผู้ป่วยทำร้ายจำนวนมาก โดยเฉพาะถูกทำร้ายบนรถพยาบาลที่ต้องส่งต่อผู้ป่วย ซึ่งเรื่องเหล่านี้ไม่ค่อยเป็นข่าว ทั้งนี้ความรุนแรงที่เกิดขึ้นกับผู้ปฏิบัติงานฉุกเฉิน 80 เปอร์เซ็นต์ในจำนวนนี้จะพบว่าเจ้าหน้าที่ผู้ชายจะได้รับผลกระทบจากการถูกทำร้ายร่างกาย ส่วนเจ้าหน้าที่ผู้หญิงจะได้รับผลกระทบและไม่ปลอดภัยจากการทำงานจากการถูกคุกคามทางเพศ และที่น่าสนใจคือเหตุการณ์พวกนี้ไม่ได้มีการบันทึกเหตุความรุนแรงที่เกิดขึ้น ซึ่งถ้าเราทำบันทึกเหตุของความไม่ปลอดภัยจากการทำงานที่ชัดเจนจะทำให้เราหามาตรการในการป้องกันหรือดูแลผู้ปฏิบัติการฉุกเฉินได้ โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกหน่วยงานไม่ว่าจะเป็น กระทรวงสาธารณสุข สพฉ. สภาการพยาบาล ควรมาหารือว่าจะมีมาตรการอย่างไรให้ผู้ปฏิบัติงานมีความปลอดภัยมากขึ้น โดยนำภาพรวมของระบบการแพทย์ฉุกเฉินมาดู และมีการจัดทำข้อมูลถึงสถานที่ใดว่ามีผู้ป่วยฉุกเฉินมากที่สุด คือสถานที่ไหนที่มีความเสี่ยงในการเกิดอุบัติเหตุมากที่สุด และควรจัดทำเป็นแผนที่ความปลอดภัยให้เจ้าหน้าที่ เพื่ออำนวยความสะดวกให้เจ้าหน้าที่ในการปฏิบัติงานได้

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ