กรุงเทพฯ--17 เม.ย.--มูลนิธิสยามกัมมาจล
จากโครงการเยาวชนเรียนรู้และอนุรักษ์ภูมิปัญญาการทอผ้าไหมลายลูกแก้วของชาวกูยในปีที่1ผ่าน วัตถุประสงค์เพื่อฟื้นฟูและสืบสานการทอผ้าของชาวกูย มรดกทางวัฒนธรรมและภูมิปัญญาที่มีมานานกว่า 100 ปี ของบ้านขี้นาค ตำบลตูม อำเภอปรางค์กู่ จังหวัดศรีสะเกษ ความร่วมมือระหว่างเด็กและเยาวชนในชุมชนกับปราชญ์ชาวบ้านครั้งนั้น นำมาสู่ผลลัพธ์เชิงรูปธรรม นั่นคือ หนังสือรวบรวมองค์ความรู้เรื่องอุปกรณ์และวิธีทอผ้าไหมลายลูกแก้ว
เมื่อความรักและหวงแหนในวัฒนธรรมและภูมิปัญญาท้องถิ่นได้รับการบ่มเพาะและเติบโตขึ้นในใจของทีมงาน ผ่านการทำโครงการในปีแรก ทั้งยังเข้าไปกระตุกกระตุ้นให้คนในชุมชนหันกลับมามองเห็นคุณค่าในวิถีชีวิตที่ดำรงอยู่...
"แล้วเราจะนำองค์ความรู้ที่ได้จากปีที่แล้วมาใช้ต่อได้อย่างไร?" เป็นโจทย์ที่ทีมงานต้องครุ่นคิดอย่างหนัก เมื่อมีโอกาสทำโครงการต่อในปีที่ 2 ท้ายที่สุดจึงลงตัวที่การจัดทำแหล่งเรียนรู้การทอผ้าชุมชนบ้านขี้นาค โดยนำชุดความรู้ รวมถึงทักษะการทอผ้าที่ นุ่น-นิภาดา บุญท่วม อุมา- อุบลวรรณ ศิลาชัย ชมพู่-สิริวิมล ไชยภา แนน-จิฑาภรณ์ นาคนวล และ มด-ปทุมรัตน์ จันทอง เยาวชนบ้านขี้นาค กลุ่มSpy kids ที่ได้รับจากการทำโครงการในปี1 มาขยายผลแก่เด็กและเยาวชนในชุมชน จึงเกิดเป็น โครงการเรียนรู้การทอผ้าไหมกับกลุ่มเยาวชนบ้านขี้นาค ซึ่งโครงการดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของโครงการพัฒนาเยาวชนพลเมืองดีศรีสะเกษ สนับสนุนโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และ มูลนิธิสยามกัมมาจล ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน)
พี่แล-สิดาวรรณ ไชยภา พี่เลี้ยงกลุ่มเยาวชน สะท้อนว่า ก่อนมีโครงการพัฒนาเยาวชนพลเมืองดีศรีสะเกษเข้ามา เด็กและเยาวชนบ้านขี้นาคห่างหายจากการทำกิจกรรมเพื่อชุมชนมานานนับสิบปี ส่งผลให้ความรักความผูกพันของเด็กที่มีต่อชุมชนลดน้อยลงไป พร้อมๆ กับเกิดช่องว่างระหว่างวัยเข้ามาแทนที่ เหตุผลที่เธอเข้ามาอยู่ในแวดวงการพัฒนาเยาวชน เพราะเห็นสถานการณ์ปัญหาที่เกิดขึ้น จึงอยากมีส่วนร่วมแก้ไข
ทั้งนี้ บ้านขี้นาคมีประชากรอาศัยอยู่ราว 90 หลังคาเรือน ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพทำนา หลายครอบครัวต้องออกไปทำงานหาเลี้ยงครอบครัวในเมือง ทิ้งลูกหลานให้อยู่กับคนเฒ่าคนแก่ ถ้าผู้ใหญ่ไม่สนใจไม่ช่วยกันดูแล เด็กและเยาวชนที่กำลังเติบโตอาจหลงเดินไปในทางที่ผิดได้ พี่แล มองว่า ทักษะชีวิตเกิดขึ้นได้จากการลงมือทำ ยิ่งเป็นการทำกิจกรรมที่เป็นประโยชน์เพื่อชุมชนจะยิ่งสร้างสำนึกให้เด็กและเยาวชนเกิดความรักและหวงแหนสิ่งดี ๆ ในท้องถิ่น และช่วยอุดช่องว่างความสัมพันธ์ระหว่างวัยของคนในชุมชนได้อีกด้วย
นุ่น เล่าว่า ผ้าไหมลายลูกแก้ว (ผ้าแก๊บในภาษากูย) จะพบเห็นได้ในชีวิตประจำวันของคนบ้านขี้นาค จนกลายเป็นความเคยชินที่ทำให้คนในชุมชนมองไม่เห็นคุณค่าและความพิเศษของภูมิปัญญาซึ่งเป็นเอกลักษณ์สืบทอดมาจากบรรพบุรุษ ทั้งที่ชาวกูยใช้ชีวิตอยู่กับผ้าไหมเหล่านี้ตั้งแต่เกิดจนตาย จึงอยากเผยแพร่องค์ความรู้ที่รวบรวมมาได้จากโครงการปีก่อนให้คนอื่นรับรู้ด้วย
"แค่รู้อย่างเดียวไม่พอ ต้องลองและฝึกฝนทำเองจึงจะเกิดผล พวกเขาเชื่อว่าการเข้าฐานเรียนรู้โดยตรงกับผู้รู้จะสร้างนักทอผ้ามือใหม่ที่มีความสนใจภูมิปัญญาการทอผ้าขึ้นมาได้อีกจำนวนหนึ่ง อีกทั้งเมื่อเด็กลุกขึ้นมาฟื้นฟูการทอผ้าอย่างเป็นรูปธรรม แรงกระเพื่อมนี้น่าจะเข้าไปกระตุ้นให้ผู้ใหญ่หันมาสนใจรื้อฟื้นการทอผ้าไหมลายลูกแก้วมากขึ้นไปอีก" ทีมงาน บอกถึงวิธีคิดและวิธีทำงาน
เช่นเดียวกับ ชมพู่ และแนน เสริมว่า ไม่เพียงแค่ชี้แจงการทำงานให้ผู้ใหญ่ในชุมชนทราบ พวกเขายังนำข้อมูลที่เก็บได้จากปีก่อนมาอ่านทบทวน แล้วลงพื้นที่ไปพูดคุยกับผู้รู้เพื่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม
ทั้งนี้ แผนงานหลักของโครงการปีที่ 2 คือการชักชวนเด็กและเยาวชนจากทั้งในและนอกชุมชนเข้ามาเรียนรู้การทอผ้าไหมจากทั้ง 3ฐานที่บ้านผู้รู้ เพื่อให้ได้ฝึกฝนทักษะการทอด้วยตัวเอง โดยทั้ง 3 ฐานประกอบด้วย ฐานที่ 1 ฐานเล็กๆ ส่งเสริมเด็กให้เรียนรู้ บ้านยายสำเนียง นาคนวล เกี่ยวกับการฟอก กระตุกและปั่นไหม ฐานที่ 2 คุณครูพี่สอนน้อง บ้านยายแสงมณี จันทอง เกี่ยวกับการทำเครือและการต่อไหม และฐานที่ 3 เรียนรู้ร่วมใจสู่ผ้าไหมลายลูกแก้ว บ้านยายเทพนิมิต ทวีชาติ เกี่ยวกับการปั่นไหมใส่หลอดและการทอผ้าไหมลายลูกแก้ว
หลังออกแบบฐานการเรียนรู้แล้วเสร็จ ทีมงานจึงระดมพลเด็กและเยาวชนในหมู่บ้านให้มาร่วมทำกิจกรรมตามแหล่งเรียนรู้ ทีมงานแบ่งกลุ่มกันนำจดหมายไปเชิญชวนตามคุ้มที่แต่ละคนอาศัยอยู่ประมาณ 30 หลังคาเรือน โดยเลือกกลุ่มเป้าหมายตามบ้านที่เป็นคนรู้จักก่อน เมื่อถึงวันจริงมีเด็กและเยาวชนมาร่วมกิจกรรมประมาณ 20 คน เนื่องจากการเข้าฐานแต่ละครั้งใช้เวลามากกว่า 1 วัน ทำให้มีเด็กและเยาวชนสลับกันไปมาตามวันเวลาที่สะดวก
"พวกเราออกแบบการเรียนรู้ไว้ว่า ฐานหนึ่งจะใช้เวลาหนึ่งวันช่วงวันหยุดเสาร์อาทิตย์ พอลงมือทำจริงกิจกรรมแต่ละฐานต้องใช้เวลามาก เลยทำกิจกรรมวันเดียวไม่เสร็จ ทำให้ต้องขยายเวลาออกไป น้องเลยมาได้บ้างไม่ได้บ้าง แต่ก็มีน้องบางคนที่สนใจจริงๆ ช่วงที่เราไม่นัด เขาจะมาขอทำที่บ้านพี่เลี้ยงเองเลย" นุ่น กล่าว
ยายไทยนิมิต ทวีชาติ ผู้รู้เรื่องการทอผ้าไหม กล่าวว่า ทักษะสำคัญสำหรับการทอผ้าไหมลายลูกแก้ว คือ สมาธิและการจำเพราะระหว่างทอผู้ทอต้องรู้ว่าจังหวะไหนควรกระตุกไม้แบบใด จังหวะไหนควรเหยียบแป้นทอที่ขาอย่างไร หากไม่มีสมาธิ ทอและเหยียบผิดจังหวะลายผ้าจะผิดรูปทำให้ต้องรื้อทอใหม่ทั้งหมด
สำหรับฐานการเรียนรู้ทั้ง 3 ฐาน มด-ปทุมรัตน์ จันทอง เล่าว่า ทีมงานได้เตรียมสมุดความรู้ไว้ให้น้องๆ ที่มาร่วมกิจกรรมบันทึกสิ่งที่ได้เรียนรู้ตามหัวข้อลงในเอกสาร โดยหลังทำกิจกรรมครบทั้ง 3 ฐานแล้ว ทีมงานจะถอดบทเรียนน้องๆ ว่า รู้สึกอย่างไรกับแหล่งเรียนรู้ทั้ง 3 แห่ง ชอบไม่ชอบอะไร ได้เรียนรู้อะไรจากการทำกิจกรรมบ้าง และมีข้อสงสัยหรือไม่ เพื่อวัดผลว่าการชักชวนกลุ่มเยาวชนมาทำกิจกรรมเข้าฐานให้อะไรแก่เขาบ้าง
ไม่เพียงแค่วิธีคิดและวิธีการทำงานที่เปลี่ยนแปลงไป แต่ยังเกิดความเปลี่ยนแปลงที่เห็นได้ชัดเจนในตัวเยาวชน นั่นคือ ความกล้าแสดงออก ซึ่งมีพัฒนาการดีขึ้นจากปีแรกเป็นลำดับ โดยอุมา ได้สะท้อนมุมมองว่าแม้จะมีความสามารถในการทอผ้าอยู่แล้ว แต่การทำกิจกรรมในโครงการนี้ก็ทำให้เธอมีความกระตือรือร้นมากขึ้น
ด้าน พี่แล วิเคราะห์ว่า คงเป็นเพราะโครงการพัฒนาเยาวชนพลเมืองดีศรีสะเกษเปิดเวทีและสร้างโอกาสให้กลุ่มเยาวชนได้ออกไปนำเสนอผลงานอยู่บ่อยครั้ง พร้อมย้ำว่า 2 ปีที่ผ่านมา เธอฝึกเด็กด้วยการตั้งคำถามและให้ตอบคำถามบ่อย ๆ จะช่วยจัดระบบความคิดให้ดีขึ้นได้ สังเกตได้จากกลุ่มเยาวชนสามารถตอบคำถามได้ตรงประเด็น สื่อสารสิ่งที่คิดและเหตุผลที่ลงมือทำกิจกรรมต่างๆ ได้
ยายแสงมณี จันทอง ผู้รู้ฐานที่ 2 เรื่องการทำเครือและการต่อไหม บอกว่า รู้สึกดีใจที่ลูกหลานในชุมชนเข้ามาเรียนรู้การทอผ้าไหม เพื่อจะได้เป็นความรู้ติดตัวและนำไปประกอบอาชีพได้ ดีกว่าปล่อยให้ภูมิปัญญาสูญหายไปกับคนเฒ่าคนแก่ในชุมชน
นอกจากปราชญ์ชุมชนที่เปิดโอกาสให้กลุ่มเยาวชนเข้าถึงข้อมูลเชิงลึกและได้ลงมือทำด้วยตัวเองแล้ว ผู้ปกครองคือส่วนสำคัญที่ช่วยหนุนเสริมให้เด็กและเยาวชนเกิดการเรียนรู้ร่วมกับชุมชน ทองลา ไชยภา แม่ของชมพู่ที่มีตำแหน่งเป็นผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน กล่าวว่า ผู้ปกครองควรสนับสนุนบุตรหลานให้ทำกิจกรรมนอกเหนือจากการเรียน เพื่อฝึกให้มีความรับผิดชอบทั้งต่อตัวเอง ผู้อื่นและสังคม ทั้งยังช่วยสร้างเสริมประสบการณ์ชีวิต
วันนี้ ชุมชนบ้านขี้นาคได้ "ชุดองค์ความรู้" เรื่องอุปกรณ์และวิธีทอผ้าไหมลายลูกแก้ว ที่อุ่นใจได้ว่า ภูมิปัญญานี้จะยังคงอยู่คู่ชุมชน โดยมีเยาวชนเป็นตัวตั้งตัวดีในการฟื้นภูมิปัญญา การทำงานของเยาวชนได้เข้าไปกระตุกให้คนในชุมชนก็ตื่นตัวหันมาจับกี่ทอผ้าอีกครั้ง
รวมถึงยังได้เห็น "ห้องเรียนเรื่องภูมิปัญญาการทอผ้าไหมลายลูกแก้ว" ที่มีครูคือปราชญ์ชุมชนคอยสอนใน "ห้องเรียนไม่มีเวลาเลิก" รวมถึงได้สานสัมพันธ์คนหลายช่วงวัยที่เคยห่างหายให้ฟื้นคืนกลับมา ซึ่งความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นเช่นนี้จะเป็นภูมิคุ้มกันให้คนในชุมชนบ้านขี้นาครับมือกับการเปลี่ยนแปลงของชุมชนสังคมได้อย่างมั่นใจ