กรุงเทพฯ--17 เม.ย.--สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ
สพฉ.เปิดสถิติการให้บริการตามสิทธิ UCEP พบ 13 วันมีผู้ขอใช้บริการ 1 พันกว่าคน และเป็นผู้ป่วยเข้าเกณฑ์มากถึง538 คน ช่วงวันที่ 12-13 เม.ย. ช่วงเทศกาลสงกรานต์มีผู้ขอใช้สิทธิ์เกือบ 250 คน ด้านเลขาสพฉ.แนะประชาชาดาวน์โหลดแอพพลิเคชั่น EMS 1669 เพื่อความแม่นยำในการแจ้งเหตุและการเข้าช่วยเหลือของเจ้าหน้าที่ได้ทันท่วงทีด้วย พร้อมเน้นย้ำประชาชนจดจำ 6 อาการฉุกเฉินวิกฤตที่จะต้องรีบแจ้งในการขอใช้สิทธิ UCEP ด้วย
เรืออากาศเอก นพ.อัจฉริยะ แพงมา เลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) ได้สรุปผลการปฏิบัติงานของศูนย์ประสานคุ้มครองสิทธิผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤต สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (ศคส.สพฉ.) หรือ UCEP Coordination Center ตลอด13 วันที่ผ่านมาว่า พบสถิติผู้ขอใช้สิทธิทั้งสิ้น 1,366 ราย เป็นผู้ป่วยที่เข้าเกณฑ์ 538 ราย ซึ่งเป็นผู้ป่วยจากสิทธิประกันสุขภาพถ้วนหน้า 317 ราย จากสิทธิประกันสังคม 83 ราย จากสิทธิข้าราชการ 104 ราย และสิทธิกองทุนอื่น ๆ อีก 34 ราย ทั้งนี้ในวันที่ 12 เม.ย. และ 13 เม.ย. ซึ่งเป็นช่วงการเดินทางกลับบ้านและช่วงฉลองเทศกาลสงกรานต์วันแรก มีผู้ป่วยฉุกเฉินที่ขอใช้สิทธิ UCEP มากถึง 243 คน โดยเป็นผู้ป่วยที่เข้าเกณฑ์ถึง 80 ราย อย่างไรก็ตามในช่วงเทศกาลสงกรานต์นี้เจ้าหน้าที่ของเราพร้อมให้บริการประชาชนผ่านสายด่วน 1669 ตลอด 24 ชั่วโมง และประชาชนยังสามารถแจ้งเหตุเมื่อพบผู้ป่วยฉุกเฉินผ่าน แอพลิเคชั่น "EMS1669" เพิ่มเติมด้วย ซึ่งจะทำให้การแจ้งเหตุแม่นยำ และไปช่วยเหลือผู้ป่วยฉุกเฉินได้รวดเร็วยิ่งขึ้น
เลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) กล่าวว่า ในส่วนของแอพลิเคชั่น "EMS1669" นั้น ได้พัฒนาให้มีการใช้งานได้ง่ายมาก โดยเมื่อประชาชนพบเห็นผู้บาดเจ็บหรือผู้ป่วยฉุกเฉิน เพียงแค่กดเรียกรถพยาบาลในแอพพลิเคชั่น จากนั้นระบบจะให้ผู้แจ้งเหตุบันทึกประวัติส่วนตัว อาทิ ชื่อผู้แจ้ง เบอร์ติดต่อกลับ และระบบจะแจ้งพิกัดที่เกิดเหตุฉุกเฉินไปยังสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติอัตโนมัติ ซึ่งจะทำให้ศูนย์สั่งการรู้พิกัดจุดเกิดเหตุได้อย่างแม่นยำเพื่อส่งทีมกู้ชีพออกปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ป่วยฉุกเฉินได้อย่างทันท่วงที นอกจากนี้ผู้แจ้งเหตุยังสามารถแนบไฟล์ภาพเหตุการณ์ เพื่อแจ้งสถานการณ์เพิ่มเติมได้ด้วย รวมทั้งสามารถแจ้งเหตุเพิ่มเติมผ่านการสนทนากับศูนย์สั่งการได้อีกด้วย ซึ่งประชาชนที่ใช้สมาร์ทโฟนสามารถดาวน์โหลดแอพลิเคชั่น "EMS1669" ติดเครื่องไว้เพื่อช่วยเหลือผู้ป่วยฉุกเฉินให้ทันท่วงทีอีกช่องทางหนึ่งได้
"นอกจากนี้ตนยังอยากให้ประชาชนจดจำคาถาข่มดวงที่เคยบอกประชาชนไว้ก่อนหน้านี้ ว่าหากสามารถทำตามคาถาข่มดวงที่ให้ไว้ได้ก็จะทำให้รอดพ้นจากการเจ็บป่วยฉุกเฉิน คือการคาดเข็มขัดนิรภัยทั้งคนขับคนนั่ง การสวมหมวกนิรภัย สำหรับประชาชนที่เดินทางไกลด้วยมอเตอร์ไซด์ การดื่มไม่ขับเพราะการดื่มแอลกอฮอล์ จะทำให้ประสิทธิภาพการขับขี่ลดลงและจะทำให้เกิดอุบัติเหตุอย่างง่ายดายได้ การหลีกเลี่ยงการใช้บริการของ "วัด" ก่อนวัยอันควร นั่นหมายถึง ถ้าเราขับขี่ดี สวมหมวกนิรภัย คาดเข็มขัดนิรภัย เราก็จะหลีกเลี่ยงการใช้บริการของวัดก่อนวัยอันควรได้ และข้อสุดท้ายหากง่วงก็จะต้องไม่ฝืนขับรถ ซึ่งหากเราสามมารถทำตามทุกข้อนี้ได้เราก็จะปลอดภัยในทุกช่วงเทศกาลอย่างแน่นอน" เลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติกล่าว
เรืออากาศเอก นพ.อัจฉริยะ กล่าวเพิ่มเติมถึงการดำเนินงานตามสิทธิ UCEP ว่า ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ว่า ในส่วนของการดำเนินการของศูนย์ประสานคุ้มครองสิทธิผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤตเราทำงานกันอย่างเต็มที่ไม่มีวันหยุด ซึ่งในช่วงเทศกาลสงกรานต์นี้จะมีประชาชนที่เจ็บป่วยฉุกเฉินจากอุบัติเหตุที่จะต้องใช้สิทธิ UCEP เป็นจำนวนมาก ตนจึงอยากให้ประชาชนจดจำข้อมูลให้แม่นว่า ผู้ที่จะใช้สิทธิ UCEP ได้นั้นต้อง เป็นผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤต จากสามกองทุนคือ กองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ,กองทุนประกันสังคม,กองทุนสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ ที่เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลเอกชน ในพื้นที่ที่อยู่ใกล้และเป็นโรงพยาบาลเอกชนนอกคู่สัญญากับกองทุนที่ผู้ป่วยมีสิทธิ์ ผู้ที่จะใช้สิทธินี้ได้ต้องเป็นผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤต ตามหลักเกณฑ์การคัดแยกผู้ป่วยฉุกเฉิน ที่ กพฉ.ประกาศกำหนด และ รายละเอียดเกณฑ์การคัดแยกผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤต ที่ สพฉ. กำหนดกรณีกลุ่มอาการฉุกเฉินวิกฤต คือ หมดสติ ไม่รู้สึกตัว ไม่หายใจ หายใจเร็ว หอบเหนื่อยรุนแรง หายใจติดขัดมีเสียงดัง ซึมลง เหงื่อแตก ตัวเย็น หรือมีอาการชักร่วม เจ็บหน้าอกเฉียบพลัน รุนแรง แขนขาอ่อนแรงครึ่งซีก พูดไม่ชัด แบบปัจจุบันทันด่วน หรือชักต่อเนื่องไม่หยุด หรือมีอาการอื่นร่วม ที่มีผลต่อการหายใจระบบการไหลเวียนโลหิตและระบบสมองที่อาจเป็นอันตรายต่อชีวิต ซึ่งอาการทั้งหมดนี้ตนอยากให้ประชาชนจำให้แม่น และอยากย้ำกับประชาชนในทุกๆ เทศกาล ซึ่งหากประชาชนพบเห็นผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤต ตาม 6 อาการ ให้รีบโทรสายด่วน 1669 เพื่อเข้าให้การช่วยเหลือนำส่งโรงพยาบาลที่เหมาะสมทันที ทั้งนี้หากประชาชนท่านใดยังมีความไม่เข้าใจในการดำเนินการตามนโนบายUCEP นี้ก็สามารถโทรเข้ามาสอบถามได้ที่เบอร์ 02- 872- 1669 หรืออีเมล์ ucepcenter@niems.go.th เราพร้อมในการให้บริการกับประชาชนตลอด 24 ชั่วโมงไม่เว้นวันหยุดราชการ