กรุงเทพฯ--18 เม.ย.--Greenpeace News Release
การรณรงค์ของประชาชนที่เกิดขึ้นกว่า 170 แห่ง กว่า 60 ประเทศทั่วโลกแสดงให้เห็นความมุ่งมั่นเป็นน้ำหนึ่งเดียวกันที่ต้องการปลดแอกจากเชื้อเพลิงฟอสซิล
การรณรงค์เกิดขึ้นในช่วงสามสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยมีภาคประชาสังคมเข้าร่วมกว่า 200 กลุ่ม และประชาชนมากกว่า 61,000 คนร่วมกันเรียกร้องเพื่อหยุดเชื้อเพลิงฟอสซิลและเปลี่ยนผ่านสู่การใช้พลังงานหมุนเวียน
ออกัสติน แม็กจิโอ ตัวแทนจากกลุ่มรณรงค์เพื่อปลดแอกจากเชื้อเพลิงฟอสซิลกล่าวว่า
"การรณรงค์เพื่อปลดแอกจากเชื้อเพลิงฟอสซิลเป็นการรวมตัวของคนทั่วโลก เพื่อเรียกร้องให้โลกลด ละ เลิกการพึ่งพาเชื้อเพลิงฟอสซิลที่ปล่อยมลพิษ และเปลี่ยนผ่านสู่การใช้พลังงานหมุนเวียน ทุกๆกิจกรรมที่ผู้คนร่วมกันทำ ไม่ว่าจะเป็นการรณรงค์ด้วยขบวนเรือ ปฏิบัติการตรงเพื่อยุติอาชญากรรมสิ่งแวดล้อมและโซ่มนุษย์ แสดงให้เห็นว่าประชาชนกำลังหันหลังให้กับเชื้อเพลิงสกปรกและยินดีที่จะต่อสู้เพื่อสิทธิของสุขภาพที่ดีในอนาคต
โอกาสในการจำกัดการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิเฉลี่ยผิวโลกไม่ให้สูงเกิน 1.5 องศาเซลเซียส เพื่อหลีกเลี่ยงหายนะจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศกำลังจะหมดลงอย่างรวดเร็ว แรงกดดันของสาธารณชนต่อ ผู้นำทางการเมืองและธุรกิจเพื่อกู้วิกฤตสภาพภูมิอากาศอย่างเร่งด่วนเป็นสิ่งที่จำเป็นยิ่ง จากการผลักดันในสามสัปดาห์ที่ผ่านมานี้ เราได้มองเห็นผลของความเข้มแข็งและเป็นหนึ่งเดียวกันของประชาชนแล้ว"
ในสโลวีเนีย กลุ่มองค์กรผู้เข้าร่วมปลดแอกจากเชื้อเพลิงฟอสซิล 70 แห่งได้รับชัยชนะจากการที่ประเทศให้คำมั่นสัญญาระหว่างการประชุมสภาพิเศษว่าจะลดใช้ถ่านหิน กิจกรรมรณรงค์ในออสเตรเลีย ได้ทำให้การให้ทุนด้านถ่านหินของธนาคารคอมมอนเวลธ์ถูกนำมาพิจารณาในเรื่องนโยบายลดโลกร้อน ในอินเดีย รัฐมนตรีกระทรวงสิ่งแวดล้อมกำหนดนโยบายมาตรฐานการปล่อยมลพิษทางอากาศที่เข้มงวดสำหรับโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนหลังจากที่ประชาชนกว่าหนึ่งแสนร่วมกันรณรงค์เรื่องแผนปฎิบัติการเพื่อให้อากาศสะอาด
บันนี แมคดิอาร์มิด ผู้อำนวยการบริหาร กรีนพีซสากล ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ที่เข้าร่วมรณรงค์เพื่อปลดแอกจากเชื้อเพลิงฟอสซิลที่โรงกลั่นน้ำมันที่ใหญ่ที่สุดของบริษัทโททาล กล่าวว่า
"ในขณะที่การบริหารงานของประธานาธิบดีทรัมป์ กำลังเลือกพัฒนาเศรษฐกิจและความมั่นคงโดยการสนับสนุนถ่านหิน ในขณะที่ทั่วโลกกำลังมุ่งสู่พลังงานหมุนเวียนเพื่ออนาคต เราต้องการปลดแอกจากเชื้อเพลิงฟอสซิลเพราะเรามองเห็นประโยชน์ของสภาพภูมิอากาศ สุขภาพ และการจ้างงาน ภาคประชาชนจะรณรงค์จนกว่าการใช้พลังงานที่สกปรกและล้าสมัยจะเปลี่ยนแปลงสู่การใช้พลังงานหมุนเวียน"