กรุงเทพฯ--18 เม.ย.--ชมฉวีวรรณ
นาวาอากาศตรี นายแพทย์บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า ช่วงปิดเทอม ปัญหาเด็กติดเกม เป็นปัญหาที่พ่อแม่ผู้ปกครองเป็นห่วงมาโดยตลอด จากสถิติผู้ป่วยจิตเวชเด็กและวัยรุ่นที่มีปัญหาพฤติกรรมเสพติดเกมเข้ามารับบริการที่คลินิกจิตเวชวัยรุ่นและศูนย์บำบัดเด็กติดเกม สถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์ ปี 2559-2560 มีจำนวน 41 ราย ทั้งหมดได้รับการบำบัดรักษาต่อเนื่องด้วยยาทางจิตเวช การทำจิตบำบัดรายบุคคลและครอบครัวบำบัด อาการที่เข้ามารับการบำบัด ได้แก่ การมีปัญหาการเรียน ผลการเรียนตก มีปัญหาพฤติกรรมก้าวร้าวรุนแรงที่สัมพันธ์กับการเลียนแบบเกมที่รุนแรง ปัญหาเด็กถูกหลอก ถูกล่วงละเมิดทางเพศผ่านคนแปลกหน้าที่รู้จักแค่ในเกมออนไลน์หรือแชทไลน์ ทั้งนี้ เด็กที่เล่นเกมตั้งแต่เด็กๆ จะส่งผลกระทบชัดเจนกับการพัฒนาความคิด สมาธิ ความจำ ความอดทนพยายาม ปัญหาการเรียน เมื่อเข้าสู่วัยรุ่น ปัญหาทั้งหมดจะรุนแรงขึ้น เริ่มเห็นชัดในเรื่องของปัญหาพฤติกรรมและอารมณ์ก้าวร้าว รุนแรง หุนหันพลันแล่น
อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวต่อว่า เด็กทุกคนที่เล่นเกมมีความเสี่ยง "เสพติดเกม" ซึ่งเป็นปัญหาพฤติกรรมเสพติดทางสมอง เช่นเดียวกับ "ติดสารเสพติด" เสี่ยงโรคร่วมทางจิตเวช เช่น โรคซึมเศร้า โรควิตกกังวล รุนแรงถึงขั้นโรคจิตเวช และฆ่าตัวตาย นอกจากนี้ ยังสัมพันธ์กับพฤติกรรมก้าวร้าว ใช้ความรุนแรงเลียนแบบเกม เสี่ยงเป็นผู้ก่ออาชญากรรม หรือตกเป็นเหยื่อของอาชญากร เสียสมาธิ ผลการเรียนแย่ลงอย่างชัดเจน โดยการเล่นเกมนานเกินกว่า 2 ชั่วโมงต่อวันในวันหยุด จะเพิ่มความเสี่ยงติดเกม 2.5 เท่า การเล่นเกมนานเกินกว่า 1 ชั่วโมงต่อวันในวันธรรมดา จะเพิ่มความเสี่ยงติดเกม 1.8 เท่า อาการติดเกม คือ ต้องเล่นเกมนานๆ และนานขึ้นเรื่อยๆ และมักจะเสียอารมณ์ทุกครั้งที่พ่อแม่บอกให้เลิก ที่สำคัญ เสียหน้าที่ของตนเอง
อธิบดีกรมสุขภาพจิต แนะว่า ในเด็กอายุน้อยกว่า 3 ปี ไม่แนะนำให้เล่นเกมคอมพิวเตอร์ อายุ 3-6 ปี เล่นได้เฉพาะเกมส่งเสริมการศึกษา โดยมีผู้ปกครองควบคุม อายุ 6 ขวบขึ้นไป เล่นเกมอื่นๆ ที่ถูกกำหนดไว้สำหรับเด็กแต่ละวัย หลีกเลี่ยงเกมที่มีความรุนแรง อายุ 13 ปีขึ้นไป หลีกเลี่ยงเกมที่มีเนื้อหาความรุนแรงมากเกินไป เช่น ฉากต่อสู้นองเลือด และห้ามเล่นเกมที่มีการวางแผนฆ่าศัตรู เพศสัมพันธ์ คำหยาบคาย การพนัน และยาเสพติด วันธรรมดา สามารถเล่นได้ น้อยกว่า 1 ชั่วโมงต่อวัน ขณะที่วันหยุด น้อยกว่า 2 ชั่วโมงต่อวัน ไม่ควรเล่นต่อเนื่องนานเกินกว่าชั่วโมง ทั้งนี้ ขอแนะนำให้เด็กและวัยรุ่นฉลาดเล่นและรู้วินัย หลีกเลี่ยงเกมออนไลน์ที่มีลักษณะทีมผู้เล่นหลายคน ไม่ควรเปิดเผยข้อมูลส่วนตัว ไม่นัดพบกับคนแปลกหน้าที่รู้จักผ่านเกมออนไลน์ ควรบอกพ่อแม่เมื่อพบสถานการณ์ที่ไม่น่าไว้ใจ เช่น ถูกข่มขู่ คุกคาม รีดไถ การซื้อของในเกม สำหรับพ่อแม่ผู้ปกครอง ขอแนะนำให้ ติดตามพฤติกรรมการใช้เงินของลูก สถานที่ร้านเกมแถวบ้าน/ โรงเรียนอย่างสม่ำเสมอ ไม่อนุญาตให้เล่นเกมในห้องส่วนตัว ตั้งกติการ่วมกัน ไม่ควรเล่นเกมก่อนทำการบ้าน/ก่อนเข้านอน ตลอดจน ชวนทำกิจกรรมสร้างสรรค์ทดแทน เช่น งานอดิเรก ออกกำลังกาย กีฬา จิตอาสา และไม่ควรอนุญาตให้เล่นเกมขณะทำกิจกรรมอื่น หรือ ขณะเดินบนทางสาธารณะ ทั้งนี้ ขอรับบริการปรึกษาได้ที่สายด่วนสุขภาพจิต 1323 ตลอด 24 ชั่วโมง
ทั้งนี้ ระหว่างวันที่ 21-23 เมษายนนี้ สถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์ จัดกิจกรรมค่าย Family Smart Player Camp รุ่นที่ 1 เพื่อพัฒนาศักยภาพวัยรุ่นและครอบครัวต้นแบบในเรื่องวินัยเชิงบวกในการเล่นเกม/ใช้อินเตอร์เน็ตและสื่อสังคมออนไลน์อย่างปลอดภัย ตลอดจน ส่งเสริมป้องกันปัญหานักพนันหน้าใหม่ในวัยรุ่น ให้กับวัยรุ่นและครอบครัว ผู้สนใจ สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ สถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์ 0-2248-8999 อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าว