STC สานต่อภารกิจสร้างชื่อประเทศ ส่งรถ STC-2 ลงแข่งขัน World Solar Challenge 2017

ข่าวทั่วไป Tuesday April 18, 2017 16:34 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--18 เม.ย.--วิทยาลัยเทคโนโลยีสยาม รถพลังงานแสงอาทิตย์ STC-1 ของ "วิทยาลัยเทคโนโลยีสยาม หรือ STC" ปรากฏตัวครั้งแรกสู่สายตา คนไทย คนออสซี่ และคนทั่วโลก เมื่อการแข่งขัน World Solar Challenge 2015 การแข่งขันเทคโนโลยีและนวัตกรรมการสร้างรถพลังงานแสงอาทิตย์ของนักวิจัย วิศวกร และนักศึกษาจากสถาบันการศึกษาที่มีชื่อเสียงและภาคอุตสาหกรรมยานยนต์จากทั่วโลก ในครั้งนั้นรถ STC-1 เป็นตัวแทนประเทศไทยเข้าแข่งขันกับประเทศต่างๆ อีก 25 ประเทศทั่วโลก ต้องเจอคู่แข่งอีก 50 ทีม ซึ่งมาจากมหาวิทยาลัยชั้นนำของโลก อย่าง สถาบันเทคโนโลยีแห่งแมสซาชูเซตส์ (MIT), มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์, มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด ฯลฯ โดยรถแต่ละคันจะต้องเดินทางจากเมืองดาร์วินทางเหนือสุดของประเทศไปถึงเมืองแอดิเลดซึ่งอยู่ทางใต้สุดของประเทศ ระยะทางรวมจากเหนือถึงใต้สุด 3,022 กิโลเมตร แม้รถ STC-1 จะไม่ชนะการแข่งขันแต่คณาจารย์และนักศึกษาที่ได้มีโอกาสเข้าร่วมทีมได้รับประสบการณ์และการเรียนรู้เทคโนโลยี-นวัตกรรมของรถพลังงานแสงอาทิตย์จากมหาวิทยาลัยดังๆ ระดับโลก ประสบการณ์ครั้งนั้นได้ถูกนำมาสานต่อเป็นรถ STC-2 รถพลังงานแสงอาทิตย์ฝีมือคนไทยที่พร้อมจะแข่งขันในเวทีการแข่งขันระดับโลกอีกครั้ง ดร.ฐกฤต ปานขลิบ คณบดีคณะเทคโนโลยี และผู้อำนวยการหลักสูตรวิศวกรรมศาสตรมหาบัณฑิต วิทยาลัยเทคโนโลยีสยาม หรือ STC ได้เล่าให้ฟังถึงการเตรียมความพร้อมเพื่อนำรถ STC-2 เข้าร่วมการแข่งขัน World Solar Challenge 2017 ณ ประเทศออสเตรเลีย ว่า "ครั้งแรกเราเริ่มจากศูนย์เลยจริงๆ เราไม่รู้ว่ารถพลังงานแสงอาทิตย์ต้องเป็นอย่างไร มีโครงสร้างแบบใด เราสร้างจากการดูภาพผ่านอินเทอร์เน็ต แต่ครั้งนี้จะมีความน่าตื่นเต้นมากกว่าครั้งก่อน เพราะเรามีประสบการณ์มากขึ้น เราได้เห็นรถของจริงจากประเทศต่างๆ เรานำข้อบกพร่องของเราเมื่อครั้งก่อนมาปรับปรุงและพัฒนาให้เป็นรถ STC-2" สิ่งที่ ดร.ฐกฤตและทีมงานจะต้องปรับปรุงจากปัญหารถ STC-1 มีด้วยกัน 4 เรื่องสำคัญ คือ 1.เรื่องมอเตอร์ที่ออกแบบมาไม่เหมาะสำหรับการใช้งานในทะเลทรายซึ่งมีอุณหภูมิสูงมาก ทำให้เกิดความเสียหายระหว่าง การแข่งขัน 2.น้ำหนักของรถที่มากเกินไปจากชุดแบตเตอรี่และโครงสร้างของรถ ซึ่งใน STC-2 จะถูกปรับปรุงใหม่ทั้งหมด 3.ระบบส่งถ่ายกำลังในการขับเคลื่อนซึ่งใน STC-1 พบว่ามีการสูญเสียพลังงานจำนวนมากจากระบบส่งถ่ายกำลัง ซึ่งใน STC-2 จะได้รับการปรับปรุงแก้ไขทั้งหมด และ 4.ระบบกลไกในการเลี้ยวและเคลื่อนที่ ซึ่งใน STC-2 จะถูกออกแบบให้มีความคล่องตัวมากยิ่งขึ้น "ปีนี้เราวางแผนที่จะส่ง STC-2 จำนวน 2 คันเข้าร่วมแข่งขันเพื่อตอกย้ำความเป็นผู้นำในด้านรถพลังงานทางเลือกหรือพลังงานแสงอาทิตย์ โดยคันแรกคือ STC-2 เอดิสัน (STC-2 Edison) จะลงแข่งในส่วนรุ่น Challenger Class รุ่นนี้จะเน้นในเรื่องประสิทธิภาพของรถ ความเร็ว ฯลฯ เกณฑ์การแข่งขันจะวัดกันที่ใครวิ่งถึงเส้นชัยก่อน ส่วนคันที่สองคือ STC-2 นิโคล่า (STC-2 Nikola) จะลงแข่งขันในรุ่น Curiser โดยรุ่นนี้จะเน้นในเรื่องของการออกแบบรถให้สามารถใช้งานได้จริงตามท้องถนน และสามารถบรรทุกผู้โดยสารได้มากกว่า 1 คน เกณฑ์การแข่งขันจะวัดที่เรื่องการจัดการพลังงาน เทคโนโลยี ความปลอดภัย และความสะดวกสบาย" สำหรับความคืบหน้าของการออกแบบรถทั้ง 2 รุ่นได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการดำเนินงานไปเรียบร้อยแล้ว โดยแต่ละรุ่นจะมีอาจารย์ประจำของคณะเทคโนโลยีและนักศึกษาร่วมกันออกแบบและสร้าง ขณะนี้แต่ละทีมได้ออกแบบรถเสร็จเป็นที่เรียบร้อยแล้ว คาดว่าจะเริ่มสร้างกันในเดือนเมษายนนี้ โดยจะใช้เวลาประมาณ 3 เดือน เนื่องจากจะต้องดูความพร้อมของวัสดุและอุปกรณ์ที่ต้องนำเข้ามาจากต่างประเทศด้วย โดยรถ STC-2 ทั้ง 2 รุ่นถูกออกแบบให้มีความเร็วเฉลี่ย 70-80 กม./ชม. (km/h) โดยตั้งงบประมาณในการสร้างไว้คันละประมาณ 1,000,000 บาท หลังจากสร้างเสร็จจะนำไปทดลองวิ่งในช่วงเดือนกรกฎาคมที่สนามบินโพธาราม โดยจะใช้เวลาประมาณ 1 สัปดาห์ในการทดสอบสมรรถนะ หากพบจุดบกพร่องจะได้แก้ไขให้แล้วเสร็จก่อนที่จะส่งไปยังประเทศออสเตรเลียโดยทางเรือซึ่งจะใช้เวลาประมาณ 1 เดือน "เราต้องเดินทางไปก่อนถึงวันแข่งขัน เพื่อนำรถไปทดสอบสมรรถนะให้ได้มาตรฐานตามที่กฎหมายที่ทางกรมขนส่งทางบกของประเทศออสเตรเลียกำหนด ไม่ว่าจะเป็นเรื่องระบบความปลอดภัย การขับเคลื่อน การเลี้ยวหลบสิ่งกีดขวาง การหยุดรถ ฯลฯ หลังจากทดสอบแล้วรถที่ผ่านการทดสอบจะได้รับการอนุญาตให้เข้าร่วมการแข่งขัน และจะได้ติดทะเบียนรถตามกฎหมายของประเทศออสเตรเลีย" นอกจากการเตรียมความพร้อมเรื่องรถแล้ว ยังต้องเตรียมพร้อมเรื่องของทีมงานด้วย เนื่องจากในการแข่งขันครั้งที่ผ่านมา พบว่ามีทีมงานไม่สบายหลายคน เพราะอากาศของแต่ละภูมิภาคในออสเตรเลียมีความแตกต่างกันมาก ทางตอนเหนืออุณหภูมิอยู่ที่ 30 องศาเซลเซียส ตอนกลางอยู่ที่ 50 องศาเซลเซียส ตอนใต้ลดลงเหลือเพียง 14 องศาเซลเซียส ครั้งนี้จึงต้องเตรียมพร้อมทั้งเรื่องคนและรถ "ผมอยากให้คนไทยทุกคนให้กำลังใจกับทีมงานของเราในการไปแข่งขัน การแข่งขันครั้งนี้ไม่ใช่เป็นการทำเพื่อ STC เท่านั้น แต่เราทำเพื่อประเทศไทย เราอยากให้ประเทศไทยเป็นที่รู้จักของชาวต่างชาติ อยากให้คนต่างชาติได้รู้ว่าคนไทยก็เก่งเรื่องเทคโนโลยีและนวัตกรรมไม่แพ้ชาติใดในโลก และสิ่งที่ได้รับเหนือ ชัยชนะจากการแข่งขัน คือความภูมิใจที่ได้โบกธงชาติไทยในเวทีการแข่งขันระดับโลก" การแข่งขัน World Solar Challenge 2017 จะจัดขึ้นในวันที่ 8-15 ตุลาคม 2560 สำหรับผู้ที่ต้องการติดตามข่าวสารการแข่งขันเพื่อร่วมเชียร์และเป็นกำลังใจทีมงาน สามารถเข้ารับชมผ่านได้ 4 ช่องทาง คือ 1.facebook : STC2 Nikola และ STC2 Edison 2. http://wsc.siamtechno.ac.th/ 3.Instagram : stc2.nikola และ stc2.edison 4.Twitter : @Stc2Nikola และ @Stc2Edison "ปีนี้เราจะ facebook Live ผ่านช่องทาง facebook เพื่อให้ทุกท่านได้ชมความเคลื่อนไหวของทีมงาน ตั้งแต่ก้าวแรกที่ถึงออสเตรเลียจนกลับมาถึงประเทศไทย ร่วมเชียร์และเป็นกำลังใจให้กับพวกเรานะครับ" ดร.ฐกฤต กล่าวทิ้งท้าย

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ