กรุงเทพฯ--19 เม.ย.--สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 10 อุบลราชธานี
นางศุภศรัย สง่าวงศ์ นักวิชาการสาธารณสุขชำนาญการพิเศษ รักษาราชการแทนผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 10 จังหวัดอุบลราชธานี (สคร.10) กล่าวว่า ในช่วงฤดูร้อนมักจะพบการระบาดของโรคติดต่อทางอาหารและน้ำ ซึ่งอุณหภูมิที่สูงขึ้นนั้นทำให้เชื้อโรคที่ปนเปื้อนในอาหารเพิ่มจำนวนขึ้นอย่างรวดเร็ว อาหารจึงบูดเสียได้ง่าย โดยเฉพาะช่วงเทศกาลงานบุญ จะมีการทำอาหารเพื่อแจกจ่ายคนในงาน ซึ่งเมนูอาหารที่ต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ ได้แก่ อาหารที่ปรุงด้วยกะทิ ขนมจีน อาหารทะเลสด อาหารปรุงสุกๆ ดิบๆ อาหารถุง ส้มตำ อาหารค้างมื้อ หากผู้ปรุงอาหารปริมาณมาก หรือภาชนะใส่อาหารไม่สะอาดเพียงพอ ทำอาหารล่วงหน้าก่อนถึงเวลารับประทาน อาหารอาจบูดเสีย มีกลิ่นหรือรสชาติเปลี่ยน ทำให้เกิดโรคอาหารเป็นพิษหรือโรคอุจาระร่วงได้
จากข้อมูลสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม - 27 มีนาคม 2560 พบผู้ป่วยโรคอาหารเป็นพิษแล้ว 28,138 ราย ไม่มีผู้เสียชีวิต ส่วนในเขตพื้นที่รับผิดชอบ 5 จังหวัด ได้แก่ อุบลราชธานี ศรีสะเกษ ยโสธร อำนาจเจริญ และมุกดาหาร ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม - 8 เมษายน 2560 พบผู้ป่วยโรคอาหารเป็นพิษ 1,376 ราย พบผู้ป่วยมากสุด ที่ จ.อุบลราชธานี และ จ.ศรีสะเกษ
นางศุภศรัย กล่าวต่อไปอีกว่า ขอให้ประชาชนยึดหลักปฏิบัติในชีวิตประจำวันง่ายๆ เพื่อป้องกันโรคอาหารเป็นพิษ โรคอุจจาระร่วง และโรคติดต่อทางอาหารและน้ำอื่นๆ คือ "กินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือ" ประกอบด้วย 1. กินร้อน โดยรับประทานอาหารที่ปรุงสุกและปรุงสำเร็จใหม่ๆ หากเป็นอาหารค้างมื้อ ควรอุ่นให้ร้อนหรือเดือดก่อนรับประทาน 2. ใช้ช้อนกลาง ตักอาหารขณะกินอาหารร่วมวงกับผู้อื่น 3. ล้างมือ ด้วยน้ำและสบู่ทุกครั้ง หลังจากใช้ห้องส้วมก่อนปรุงและรับประทานอาหาร รวมถึงก่อนเตรียมนมให้เด็กทุกครั้ง
ทั้งนี้ อาการของผู้ป่วยโรคอาหารเป็นพิษคือ คลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง ถ่ายอุจจาระ ปวดหัว คอแห้งกระหายน้ำ อาจมีไข้ เป็นต้น ซึ่งการช่วยเหลือเบื้องต้น ควรให้สารละลายเกลือแร่โออาร์เอส หรืออาหารเหลวมากกว่าปกติ เพื่อป้องกันการขาดน้ำ หากอาการต่างๆข้างต้นไม่ดีขึ้น ควรรีบไปพบแพทย์ ประชาชนสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค 1422 /นางศุภศรัย กล่าวปิดท้าย