กรุงเทพฯ--19 เม.ย.--กอสส.
ประธานหอการค้าจังหวัดสงขลา เสนอให้ กอสส. เป็นองค์กลางจัดกระบวนการรับฟังความคิดเห็นในโครงการที่มีผลกระทบรุนแรงด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ พร้อมแนะรัฐต้องสร้างความไว้วางใจชัดเจนผ่านกลยุทธ์ "ถูกหวย"ไม่ใช่"ซวย" เพื่อแก้ไขปัญหาความขัดแย้งระหว่างโครงการของรัฐกับประชาชน
คณะกรรมการองค์การอิสระด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ หรือ กอสส. นำโดย ว่าที่ร้อยตรีสุรพล ดวงแข รองประธาน กอสส. พร้อมด้วย ศ.ดร.สันทัด ศิริอนันต์ไพบูลย์ รศ.ดร.เริงชัย ตันสกุล ดร.ถนอมศักดิ์ บุญภักดี ดร.ธนวรรธน์ อิ่มสมบูรณ์ และนายสวัสดิ์ สมัครพงศ์ กรรมการ กอสส. ลงพื้นที่เก็บข้อมูลเบื้องต้นและรับฟังความคิดเห็นกับตัวแทนหอการค้าจังหวัดสงขลาต่อโครงการก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกสงขลาแห่งที่ 2 จ.สงขลาและท่าเรือน้ำลึกปากบารา จ.สตูล โดยมีนายสมพร สิริโปราณานนท์ ประธานหอการค้าจังหวัดสงขลา ให้การต้อนรับาพร้อมให้ข้อมูลว่า หากจะมีโครงการใดๆ ลงในพื้นที่ จ.สงขลา ทางหอการค้าจังหวัดจะได้รับเชิญให้เข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องในการวิเคราะห์และการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (กิจกรรม ค1 ค2 และค3) เช่นโครงการโรงไฟฟ้าจะนะของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) โครงการท่าเรือน้ำลึกนาทับ จังหวัดสงขลา เป็นต้น
ส่วนประเด็นการทำ EIA และ EHIA นั้น ประธานหอการค้าจังหวัดสงขลา เห็นว่าไม่ใช่ประเด็นที่สำคัญในการขัดขวางหรือส่งเสริมภารกิจของหอการค้าจังหวัด เพราะ EIA และ EHIA เป็นตัวกลางที่จะชั่งน้ำหนักว่ามีข้อดีข้อเสียอย่างไร ควรจะมีการแก้ไขในส่วนไหนบ้าง ทำให้หอการค้าจังหวัดสามารถเป็นกลางในการให้ข้อมูลและวิเคราะห์ข้อมูลได้ หากมีโครงการขนาดเล็กหรือขนาดใหญ่เข้ามาหอการค้าจังหวัดจะทำตามกระบวนการวิเคราะห์ข้อมูลและนำไปสู่การให้ความคิดเห็นกับโครงการ
ขณะที่ ดร.ไพโรจน์ ชัยจีระธิกุล รองเลขาธิการสหพันธ์การขนส่งทางรถบรรทุกแห่งอาเซียน กล่าวถึงโครงการท่าเรือน้ำลึกแห่งที่ 2 สงขลา ต่อข้อกังวลเรื่องความขัดแย้งของประชาชนเกี่ยวกับโครงการของภาครัฐนั้น ในส่วนของระบบโลจิสติกส์ เห็นว่ามีความจำเป็นมากในอนาคต เพราะในตอนนี้ท่าน้ำลึกแห่งที่ 1 ไม่เพียงพอและมีปัญหาหลายอย่างรวมทั้งเรายังไม่มีท่าเรือฝั่งตะวันออกในฝั่งอ่าวไทยที่เหมาะสม แต่หากมีการก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกแห่งที่ 2 สงขลาแล้ว ส่วนตัวเห็นว่า ก็ไม่จำเป็นที่จะสร้างท่าเรือน้ำลึกปากบารา ที่จ.สตูล ก็ได้
ด้าน ดร.ไพโรจน์ ชัยจีระธิกุล มองว่า โครงการดังกล่าว อาจส่งผลกระทบหลักกับประชาชนโดยตรง ซึ่งภาครัฐไม่สามารถเพิกเฉยได้ ทั้งนี้นักวิชาการ และNGOs ก็ต้องรับทราบความจำเป็นในทางเศรษฐกิจและการสร้างรายได้ของชุมชน และจังหวัดเช่นกัน ดังนั้นประเด็นปัญหาสำคัญที่สุด คือ "ไม่มีคนกลางหรือองค์กรกลางที่สามารถเป็นตัวเชื่อมโยงให้ทั้ง 2 กลุ่มหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาคุยกันได้" ทั้งนี้จากการได้พูดคุยกับ"คนกลางหรือองค์กรกลาง" อย่าง กอสส. ก็เชื่อว่าน่าจะมีทางออกให้กับพื้นที่ และจังหวัดสงขลา เพราะแต่ละฝ่ายยังมีการเห็นต่างมุมมองและไม่ได้มีการชั่งน้ำหนักของเหตุผลที่เพียงพอ รวมทั้งมีคนกลางที่แลกเปลี่ยนข้อมูลที่เหมาะสม
อย่างไรก็ตาม ประธานหอการค้าจังหวัดสงขลา ได้เสนอแนวทางการแก้ปัญหาในพื้นที่โครงการที่จะเกิด ประการแรกคือ รัฐต้องมีประกาศสำนักนายกรัฐมนตรีออกมาประกาศใช้ให้ชัดเจนเรื่องการก่อสร้างโครงการท่าเรือน้ำลึกแห่งที่ 2 สงขลา มีวัตถุประสงค์อะไร ขนาดไหนและอย่างไร และตั้งคณะกรรมการชุดใหญ่ระดับประเทศ ระดับภูมิภาค ระดับจังหวัด และมีขอบเขตของโครงการเป็นอย่างไร รวมทั้งให้ถือปฏิบัติตามแนวทางที่ประกาศมาเท่านั้น 2. การดูแล ชดเชย หรือทำให้คนในพื้นที่โครงการรู้สึกว่า"ถูกหวย" ไม่ใช่ "ซวย" คือการให้ความสำคัญต่อคนที่อยู่ในพื้นที่รอบโครงการขนาดใหญ่จะต้องมีสวัสดิการที่ดีกว่าคนที่อยู่นอกพื้นที่โครงการอย่างต่ำ 3 เท่า หรือได้รับการเยี่ยวยาและการดูแลในทุกมิติ และ 3.ความต่อเนื่องของอุตสาหกรรมที่ไม่อิงกับอำนาจต่างๆ โดยเน้นในเรื่องการเยียวยากับคนที่เสียสละหรือได้รับผลกระทบโดยตรงจากโครงการ (จากการสูญเสียที่อยู่อาศัยและอาชีพ) ตลอดจนการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็น เมื่อกระบวนการเข้าสู่ กอสส.แล้ว กอสส.จะต้องเป็นองค์กรกลางที่นำข้อเท็จจริงของทั้ง 2 ฝ่าย มาเผยแพร่ต่อสาธารณชนให้เห็นภาพที่ชัดเจนได้
ทั้งนี้ รองประธาน กอสส. กล่าวว่า นับเป็นข้อเสนอแนะที่มีประโยชน์และชี้ให้เห็นทางออกของปัญหาหลายประการ หลังจากนี้ กอสส.จะรวบรวมข้อมูลที่ได้นำมาประกอบการให้ความเห็นเมื่อโครงการนั้นๆเข้าสู่การพิจารณาของ กอสส.ต่อไป