กรุงเทพฯ--19 เม.ย.--กรมประมง
กรมประมงเตรียมแผนลดความเสี่ยงจากภัยแล้งด้านการประมง ปี 60 หวั่นสภาพอากาศร้อนจัดอาจทำให้สัตว์น้ำที่เกษตรกรเลี้ยงไว้ได้รับความเสียหาย แนะควรเฝ้าระวัง หมั่นดูแลสัตว์น้ำอย่างใกล้ชิดและปฏิบัติตามคำแนะนำของกรมประมงอย่างเคร่งครัด
นายอดิศร พร้อมเทพ อธิบดีกรมประมง เปิดเผยว่า ขณะนี้หลายพื้นที่ของประเทศไทยได้เข้าสู่ฤดูร้อนแล้ว ซึ่งอุณหภูมิจะสูงขึ้นและอากาศจะร้อนจัดในตอนกลางวัน โดยอาจต่อเนื่องยาวนานไปจนถึงกลางเดือนพฤษภาคม 2560 ซึ่งจะทำให้ปริมาณน้ำทั้งในแหล่งน้ำธรรมชาติและแหล่งน้ำชลประทานลดน้อยลงและอาจไม่เพียงพอต่อการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ นอกจากนี้ จากสภาวะดังกล่าวอาจทำให้อุณหภูมิน้ำเปลี่ยนแปลงสูงขึ้นด้วย ซึ่งเป็นสาเหตุให้สัตว์น้ำที่เกษตรกรเลี้ยงไว้เกิดความเครียด อ่อนแอ และตายได้
ดังนั้น เพื่อเป็นการป้องกันและบรรเทาความเสียหายที่อาจเกิดขึ้น กรมประมงจึงได้จัดทำแผนเตรียมรับสถานการณ์ในช่วงฤดูแล้ง ประจำปี 2560 ที่จะมาถึงโดยได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่ของกรมประมงทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาคเฝ้าติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด พร้อมดำเนินการประชาสัมพันธ์เพื่อแจ้งเตือนภัยแก่เกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำให้ได้รับทราบถึงช่วงระยะเวลาที่ภาวะภัยแล้งจะมาถึง พร้อมทั้งแนะวิธีการป้องกัน แก้ไข และหลีกเลี่ยงความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นให้มากที่สุด นอกจากนี้ ยังได้ดำเนินการมาตรการส่งเสริมความรู้เพื่อลดความเสี่ยงจากภัยแล้ง ภายใต้แผนเตรียมพร้อมเพื่อลดความเสี่ยงจากภัยแล้งด้านการเกษตร ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยมุ่งเน้นการส่งเสริมและสร้างความตระหนักรู้ให้เกษตรกรสามารถประเมินความเสี่ยง และปรับตัวเพื่อลดความเสี่ยงในการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำในช่วงฤดูแล้งได้ และหากในกรณีที่เกิดผลกระทบทางด้านประมง ได้กำชับให้หน่วยงานในสังกัดเร่งดำเนินการให้ความช่วยเหลือเกษตรกรเพื่อบรรเทาความเดือดร้อน โดยประสานงานร่วมกับหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องเพื่อให้สามารถช่วยเหลือเกษตรกรได้อย่างทันท่วงทีและเกิดประสิทธิภาพสูงสุด
อธิบดีกรมประมง กล่าวต่อไปว่า สำหรับเกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำควรปฏิบัติตามคำแนะนำ ดังนี้
1. ควบคุมการใช้น้ำและรักษาปริมาณน้ำในบ่อเลี้ยงให้สูญเสียน้อยที่สุด
2. เตรียมหาแหล่งน้ำสำรองไว้ใช้เพิ่มเติม
3. จับสัตว์น้ำที่ได้ขนาดออกจำหน่ายหรือบริโภคก่อน เพื่อลดปริมาณสัตว์น้ำในบ่อหรือกระชัง
4. ลดปริมาณการให้อาหารสัตว์น้ำลง โดยเฉพาะอาหารสดเพื่อป้องกันน้ำเน่าเสีย
5. ถ้าจำเป็นต้องปล่อยสัตว์น้ำลงเลี้ยง ให้ปล่อยในปริมาณที่มีความหนาแน่นน้อยกว่าปกติ หรือปล่อยสัตว์น้ำที่มีขนาดใหญ่ขึ้น เพื่อลดช่วงระยะเวลาการเลี้ยงให้น้อยลง
6. ควรงดเว้นการขนถ่ายสัตว์น้ำ ถ้าจำเป็นต้องระมัดระวังให้มากเนื่องจากจะมีผลกระทบกับการกินอาหารและการเจริญเติบโตของสัตว์น้ำโดยตรง
7. หมั่นสังเกตอาการต่างๆ ของสัตว์น้ำที่เกิดขึ้นอย่างใกล้ชิด หากมีอาการผิดปกติ จะได้แก้ไขได้ทันที
8. ควรวางแผนการเลี้ยง หรืองดเว้นการเลี้ยงในช่วงดังกล่าว โดยทำการตากบ่อและตกแต่งบ่อเลี้ยงในช่วงดังกล่าวแทน เพื่อเตรียมไว้เลี้ยงสัตว์น้ำในรอบต่อไป
ทั้งนี้ เกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำควรติดตามข่าวสารการพยากรณ์อากาศจากทางราชการอย่างใกล้ชิด และหากมีปัญหาในการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ สามารถขอรับคำปรึกษาและคำแนะนำจากนักวิชาการประมง ได้ที่ ศูนย์/ สถานี และสำนักงานประมงจังหวัดทั่วประเทศ