กรุงเทพฯ--19 เม.ย.--
นายจรัญ หอมเทียนทอง นายกสมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย (PUBAT) ให้สัมภาษณ์ถึงภาพรวมครึ่งทางของงาน "สัปดาห์หนังสือแห่งชาติ ครั้งที่ 45 และงานสัปดาห์หนังสือนานาชาติ ครั้งที่ 15" (45rdNational Book Fair and 15th Bangkok International Book Fair 2015) ซึ่งมีสำนักพิมพ์ไทยตอบรับเข้าร่วมงานกว่า 430 แห่ง รวมทั้งสิ้น 947 บูธ บนพื้นที่ประมาณ 21,000 ตารางเมตร และจัดขึ้นจนถึงวันอาทิตย์ที่ 9 เมษายน พ.ศ. 2560ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ภายใต้แนวคิด "อ่าน อ่าน และอ่าน"ว่า ครึ่งทางที่ผ่านมาผู้เข้าชมงานอยู่ที่ประมาณ900,000 คนแล้ว โดยส่วนใหญ่จะเป็นเด็กและเยาวชน รองลงมาคือวัยทำงาน และแนวหนังสือที่มาแรงในครั้งนี้คือแนวไลท์โนเวล นวนิยาย ความรู้เชิงประวัติศาสตร์ และโค้ชชิ่ง
"ขณะนี้มีผู้เข้าชมงานประมาณ 900,000 คน คาดว่าจนจบงานน่าจะถึง 1,700,000 คนตามที่คาดหวังไว้ โดยส่วนใหญ่จะเป็นเด็กและเยาวชน ส่วนแนวหนังสือที่ได้รับความนิยมอย่างเห็นได้ชัดในงานสัปดาห์หนังสือฯครั้งนี้นั้น คือแนวไลท์โนเวล นวนิยายแนววัยรุ่น ความรู้แนวประวัติศาสตร์ และโค้ชชิ่ง ในส่วนของวัยรุ่นซึ่งเป็นกลุ่มใหญ่ที่สุดในการเข้าชมงานสัปดาห์หนังสือฯนั้นให้ความสนใจไลท์โนเวลซึ่งแปลมาจากประเทศญี่ปุ่น โดยเป็นนิยายที่นำตัวละครและเนื้อเรื่อง หรือสิ่งใดสิ่งหนึ่งที่เกี่ยวข้องกับอะนิเมะหรือมังงะมาใช้เป็นภาพประกอบอย่างมาก นอกจากนี้ความรู้แนวประวัติศาสตร์ โดยเฉพาะประวัติศาสตร์ที่เกี่ยวกับประเทศจีนก็ได้รับความสนใจจากนักอ่านผู้ใหญ่อย่างเห็นได้ชัด อาจเป็นเพราะคนอ่านหนังสือต้องการแสวงหาความรู้เพิ่มขึ้นนอกเหนือจากความบันเทิง โดยเฉพาะความรู้ที่เกี่ยวกับประเทศอื่นๆ ในส่วนของความนิยมในหนังสือโค้ชชิ่งนั้น คาดว่าน่าจะเป็นผลต่อเนื่องจากความนิยมเรื่องของการโค้ชชิ่งเพื่อพัฒนาและค้นหาศักยภาพของชีวิตนั่นเอง"
นายจรัญยังกล่าวอีกด้วยว่าในงานสัปดาห์หนังสือฯครั้งนี้นั้น มีปรากฏการณ์หนึ่งที่น่าสนใจอย่างยิ่ง คือการดีไซน์รูปเล่มของหนังสือที่สวยงามและดึงดูดสายตาของผู้อ่านได้อย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะหน้าปก ซึ่งนั่นแสดงให้เห็นว่าสำนักพิมพ์ต่างๆนั้นให้ความสำคัญกับเรื่องของการออกแบบไม่แพ้เนื้อหาที่มีคุณภาพ จึงทำให้หนังสือมีความน่าสนใจมากยิ่งขึ้น
"แม้ว่าขณะนี้สภาวะเศรษฐกิจโดยรวมจะชะลอตัว แต่ก็มีหนังสือออกใหม่ในงานนี้กว่า 350 ปก และเชื่อมั่นว่าในช่วงท้ายงานสัปดาห์หนังสือฯยอดซื้อจะเพิ่มขึ้นอย่างแน่นอน ซึ่งจะสามารถช่วยกระตุ้นรายได้ให้กับสำนักพิมพ์ต่างๆได้อีกด้วย โดยเฉพาะสำนักพิมพ์ขนาดกลางและขนาดเล็กที่ส่วนใหญ่แล้วเป็นคนทำหนังสือด้วยใจรัก จากสภาวะปัจจุบันคาดว่าต่อไปการทำหนังสือจะเป็นธุรกิจที่เน้นคุณภาพมากกว่าปริมาณ โดยหนังสือที่เป็นกระดาษยังอยู่ได้โดยมีคุณภาพมากขึ้นเรื่อยๆ แต่ปริมาณหนังสือลดลง และราคาไม่ได้เป็นปัจจัยตัดสินใจหลักในการตัดสินใจซื้ออีกต่อไป กลุ่มคนอ่านหนังสือถือว่าเป็นกลุ่มที่เหนียวแน่นและซื่อตรงต่อสินค้ามาก ซึ่งถือว่าเป็นผลดีสำหรับคนทำธุรกิจสำนักพิมพ์ เพียงแต่อาจจะซื้อน้อยลง เช่นเคยซื้อ 10 เล่มก็ลดเหลือ 5 เล่ม ซึ่งเป็นไปตามสภาวะเศรษฐกิจ"