กรุงเทพฯ--19 เม.ย.--ฟิลลิป มอร์ริส
รัฐบาลนิวซีแลนด์เตรียมประกาศใช้กฎหมายอนุญาตให้ขายบุหรี่ไฟฟ้าอย่างถูกกฎหมาย โดยจะมีมาตรการควบคุมอย่างเหมาะสม ซึ่งคาดว่าจะมีผลบังคับใช้ในปีหน้า และผลิตภัณฑ์ดังกล่าวจะไม่ถูกบังคับใช้มาตรการซองเรียบ อีกทั้งจะไม่อยู่ภายใต้อัตราภาษีที่สูงอย่างบุหรี่ทั่วไป
เมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2560 ที่ผ่านมา รัฐบาลนิวซีแลนด์โดยนางนิคกี้ แวกเนอร์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุขเปิดเผยว่า "ขณะที่กำลังมีการพัฒนาหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ที่เกี่ยวกับความปลอดภัยของบุหรี่ไฟฟ้า แต่ก็มีความเห็นไปในทิศทางเดียวกันว่าการใช้บุหรี่ไฟฟ้า (vaping) มีอันตรายน้อยกว่าการสูบบุหรี่ (smoking) อย่างมาก และรัฐบาลจะพิจารณาออกกฎระเบียบสำหรับการใช้บุหรี่ไฟฟ้าอย่างระมัดระวัง รวมทั้งจะทำให้สอดคล้องกับบุหรี่ซิกาแรต โดยให้แนใจว่าผู้สูบบุหรี่สามารถมีทางเลือกที่จะเข้าถึงผลิตภัณฑ์ที่มีความอันตรายน้อยกว่าได้ ในขณะที่เรายังคงไม่สนับสนุนให้ผู้ใดสูบบุหรี่ (smoking) หรือใช้บุหรี่ไฟฟ้า (vaping) ตั้งแต่แรก ทั้งนี้ รัฐบาลนิวซีแลนด์ยึดมั่นในการบรรลุเป้าหมายในการเป็นประเทศปลอดควันบุหรี่ภายในปี 2025"
สำหรับมาตรการใหม่สำหรับการควบคุมบุหรี่ไฟฟ้า ทั้งในรูปแบบที่มีนิโคตินและไม่มีนิโคติน ครอบคลุมการห้ามการซื้อขายให้เยาวชนอายุต่ำกว่า 18 ปี ห้ามสูบภายในอาคารหรือพื้นที่ๆ มีการห้ามสูบบุหรี่ และห้ามการโฆษณาทั้งทางวิทยุโทรทัศน์ และบิลบอร์ด แต่ผู้ขายสามารถแสดงสินค้า ณ จุดขายได้
ด้าน นายพงศธร อังศุสิงห์ ผู้อำนวยการฝ่ายบรรษัทสัมพันธ์ ฟิลลิป มอร์ริส (ไทยแลนด์) ลิมิเต็ด ให้ความเห็นกรณีนี้ว่าการทบทวนกฎหมายเกี่ยวกับบุหรี่ไฟฟ้าของรัฐบาลนิวซีแลนด์แสดงให้เห็นว่ารัฐบาลรับฟังความต้องการของผู้บริโภคที่ต้องการเปลี่ยนไปใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีความเป็นอันตรายน้อยลง และให้ความสำคัญกับหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ใหม่ๆ ที่จะหาทางออกที่มีประสิทธิภาพสำหรับการลดจำนวนผู้สูบบุหรี่
ก่อนหน้านี้ผลวิจัยจากหลายองค์กรที่มีความน่าเชื่อถือจากหลายประเทศ อาทิ กระทรวงสาธารณสุขอังกฤษ ราชวิทยาลัยอายุรแพทย์อังกฤษ สถาบันมะเร็งแห่งสหราชอาณาจักร ระบุว่าบุหรี่ไฟฟ้ามีอันตรายน้อยกว่าบุหรี่ทั่วไปถึง 95%เนื่องจากไม่มีควัน ไม่มีสารพิษที่เกิดจากการเผาไหม้ซึ่งเป็นตัวการหลักของโรคร้ายต่างๆ
นายพงศธรระบุว่า "ฟิลลิป มอร์ริส ต้องการสร้างสังคมปลอดควันบุหรี่ (Designing a Smoke-Free Future) และขณะนี้เรากำลังพัฒนาและทดสอบผลิตภัณฑ์ที่สามารถให้นิโคตินโดยไม่มีควันที่เป็นอันตรายจากบุหรี่ซิกาแรต (Smoke free products) ซึ่งตอบสนองความพึงพอใจของผู้บริโภคได้ ตั้งแต่ปีพ.ศ. 2551 เราทำงานกับนักวิทยาศาสตร์ วิศวกร และนักเทคนิคกว่า 400 คน ใช้เงินลงทุนกว่า 3 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ (105,000 ล้านบาท) ปัจจุบันมีผู้สูบบุหรี่ทั่วโลกกว่า 1.6ล้านคนที่เปลี่ยนมาใช้ผลิตภัณฑ์ยาสูบเหล่านี้แล้ว และปัจจุบันผลการศึกษาในผลิตภัณฑ์แบบใช้ความร้อนแทนการเผาไหม้(heated tobacco product) มีความคืบหน้าอย่างมากและบ่งบอกถึงทิศทางของการลดความเสี่ยง"
"สิ่งที่เป็นความสำคัญเร่งด่วนของเราขณะนี้ คือการเปลี่ยนผู้สูบบุหรี่ที่เป็นผู้ใหญ่ให้มาใช้ผลิตภัณฑ์ทางเลือกที่เป็นอันตรายน้อยกว่าแทนการสูบบุหรี่ให้เร็วที่สุด อย่างไรก็ตามผลิตภัณฑ์เหล่านี้มีไว้เพื่อผู้สูบบุหรี่ที่เป็นผู้ใหญ่เท่านั้น ไม่ใช่สำหรับผู้ไม่เคยสูบบุหรี่หรือผู้ที่เลิกสูบบุหรี่ไปแล้ว เรายินดีที่จะนำเสนอข้อมูลผลการวิจัยของเรากับกระทรวงการคลัง กระทรวงสาธารณสุข และโรงงานยาสูบ เพื่อทำให้ประเทศไทยเข้าใกล้เป้าหมายสังคมปลอดควันบุหรี่เช่นกัน" นายพงศธรกล่าวทิ้งท้าย