กรุงเทพฯ--20 เม.ย.--มทร.ธัญบุรี
รศ.วุฒิชัย กปิลกาญจน์ กรรมาธิการการศึกษาและกีฬา ประธานคณะอนุกรรมาธิการการอาชีวศึกษา กล่าวตอนหนึ่งในการประชุมแลกเปลี่ยนความเห็นเรื่อง "แนวทางการผลิตครูอาชีวศึกษา มาตรฐานวิชาชีพครูอาชีวศึกษาและแนวทางการพัฒนาครูอาชีวศึกษา" ของคณะกรรมาธิการการศึกษาและกีฬา สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) ธัญบุรี เมื่อเร็ว ๆ นี้ว่า การแลกเปลี่ยนในครั้งนี้ช่วยให้คณะกรรมาธิการฯ มองเห็นภาพชัดเจนยิ่งขึ้นในหลากหลายมิติ เพื่อนำไปเสนอรัฐบาลในการกำหนดแนวนโยบายในการส่งเสริมสนับสนุนการผลิตครูอาชีวะได้อย่างมีมาตรฐาน ถูกต้องและสอดรับกับปัจจุบัน เนื่องจากบุคลากรสายอาชีวะมีความสำคัญต่อการพัฒนาประเทศและเป็นที่ต้องการอย่างมากในหลายสถานประกอบการ ซึ่งนายกรัฐมนตรีก็ให้ความสำคัญในเรื่องนี้เป็นอย่างมาก และจะนำข้อสรุปที่ได้จากการประชุมที่ มทร.ธัญบุรี ในครั้งนี้ไปเสนอรัฐบาลต่อไป
ด้าน รศ.ดร.ประเสริฐ ปิ่นปฐมรัฐ อธิการบดี มทร.ธัญบุรี กล่าวว่า การเป็นครูให้มีคุณภาพได้นั้น ต้องตอบโจทย์ 3 ประเด็นให้ชัดเจน นั่นคือ ครูต้องมีทักษะความรู้ด้านช่างมาก่อน ต้องทำงานได้จริงหรือเป็นครูมือเปื้อนมาก่อน จึงจะเข้าใจการจัดการเรียนการสอนได้อย่างแท้จริง ประเด็นที่สองครูต้องมีทักษะทางสังคม ทักษะการสื่อสารที่ดีเพื่อให้สามารถถ่ายทอดความรู้ได้และมีความเสียสละ และที่สำคัญเส้นทางการเข้าสู่ตำแหน่งและการกำหนดค่าตอบแทนจะต้องมีความชัดเจนและเหมาะสม ยิ่งไปกว่านั้นทุก 2 ปี ครูจะต้องพัฒนาตนเอง เพราะเทคโนโลยีเปลี่ยน ครูจำเป็นต้องได้รับการพัฒนา ดังนั้นมหาวิทยาลัยที่ผลิตครูอาชีวะจะต้องทำหน้าที่ 2 อย่างควบคู่กันไป คือการผลิตครูและการพัฒนาครู
ส่วน นายวีระศักดิ์ วงษ์สมบัติ นายกสภา มทร.ธัญบุรี กล่าวว่า ปัจจุบันการศึกษาส่วนใหญ่จะเน้นคนไปทางสายสามัญมากกว่าสายวิชาชีพ จึงเป็นที่ทราบโดยทั่วกันว่าบุคลากรด้านอาชีวะค่อนข้างขาดแคลน ไม่เพียงพอต่อความต้องการของสถานประกอบการ ซึ่งรัฐบาลก็สนับสนุนเรื่องการผลิตครูอาชีวศึกษาอย่างชัดเจน มทร.ธัญบุรี ในฐานะที่เป็นสถาบันที่ผลิตครูอาชีวศึกษามานานกว่าสองทศวรรษ และได้ดำเนินการการผลิตและพัฒนาครูวิชาชีพมาโดยตลอด ก็มั่นใจว่า มทร.ธัญบุรี จะมีแนวทางการผลิตและการพัฒนาครูอาชีวศึกษา และสามารถเป็นต้นแบบในการขับเคลื่อนในเรื่องนี้ได้เป็นอย่างดี
ขณะที่ ผศ.ดร.อร่ามศรี อาภาอดุล อาจารย์ประจำคณะครุศาสตร์อุตสาหกรรม มทร.ธัญบุรี กล่าวว่า แนวทางการผลิตครูอาชีวศึกษาจะต้องมีมาตรฐานและสมรรถนะเฉพาะด้าน และต้องมีการศึกษาในรายละเอียดอย่างรอบด้าน ซึ่งตนได้จัดทำเอกสารรายงานการวิจัยมาตรฐานวิชาชีพครูการอาชีวศึกษาให้แก่คุรสภาตั้งแต่ปี พ.ศ.2555 แต่ยังไม่มีหน่วยงานใดนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์อย่างแท้จริง