กรุงเทพฯ--20 เม.ย.--บีโอไอ
บีโอไอเผยบริษัทผู้ผลิตเคมีภัณฑ์รายใหญ่จากญี่ปุ่นทุ่มลงทุนปั้นไทยเป็นฐานการผลิตเพื่อส่งออก เน้นลงทุนการผลิตสารซิลิโคนส์ชนิดพิเศษสำหรับใช้ในการผลิตผลิตภัณฑ์ดูแลเสื้อผ้า และเครื่องสำอาง ชูคุณสมบัติพิเศษ ปรับคุณภาพผ้า เครื่องสำอางกันน้ำติดผิวได้นาน พร้อมร่วมมือ สวทน.-สถาบันการศึกษา เตรียมแผนพัฒนาบุคลากรในประเทศไทย
นางหิรัญญา สุจินัย เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนหรือ บีโอไอ เปิดเผยว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ที่ประชุมคณะอนุกรรมการส่งเสริมการลงทุน ได้อนุมัติให้ส่งเสริมการลงทุนแก่กิจการผลิตผลิตภัณฑ์ ซิลิโคนส์ชนิดพิเศษซึ่งจัดเป็นเคมีภัณฑ์ชนิดพิเศษ (Specialty Chemical) ของบริษัท ชิน-เอทสุ ซิลิโคนส์ (ประเทศไทย) จำกัด โดยเป็นการขยายลงทุนครั้งที่ 3 ของบริษัทหลังจากมีการลงทุนในประเทศไทยมาแล้วตั้งแต่ปี 2547 และจะทำให้ไทยเป็นฐานการผลิตผลิตภัณฑ์ด้านเคมีภัณฑ์ชนิดพิเศษสำหรับการส่งออกใหญ่ที่สุดของบริษัท
ตามโครงการเป็นการผลิตผลิตภัณฑ์ซิลิโคนส์ชนิดพิเศษจำนวน 2 ชนิด โดยซิลิโคนส์เหลวชนิดแรก เป็นชนิดที่ปรับปรุงด้วยกลุ่มอะมิโนจะใช้งานเป็นส่วนผสมหลักในการผลิตน้ำยาปรับผ้านุ่ม ที่มีคุณสมบัติพิเศษทำให้เส้นใยมีความนุ่มได้นานขึ้น ลดรอยยับบนผ้าหลังผ่านกระบวนการซัก และช่วยป้องกันไม่ให้ผ้าเหลือง และซิลิโคนส์เหลวชนิดที่สอง เป็นชนิดที่ปรับปรุงด้วยพอลิอีเทอร์ จะใช้งานเป็นส่วนผสมสำคัญในการผลิตเครื่องสำอาง โดยเป็นชนิดที่หายาก มีประสิทธิภาพที่ทำให้น้ำกับน้ำมันเข้ากันได้ดี มีคุณสมบัติให้ความรู้สึก นุ่ม ลื่น กันน้ำ และสามารถติดอยู่บนผิวได้นาน รวมถึงป้องกันแยกชั้นของเครื่องสำอาง เช่น ครีมรองพื้น ครีมกันแดด โลชั่นทาผิว
"บริษัทขยายการลงทุนในประเทศไทยมาอย่างต่อเนื่อง โดยการผลิตซิลิโคนส์ชนิดพิเศษ ทั้ง 2 ชนิดครั้งนี้มีปริมาณรวมกันกว่า 9,000 ตันต่อปี เงินลงทุนประมาณ 2,200 ล้านบาท ซึ่งจะทำให้ประเทศไทยเป็นฐานการผลิตที่สำคัญ และมีขนาดใหญ่กว่าการผลิตที่ประเทศญี่ปุ่น รวมถึงเกิดการจ้างงาน และใช้วัตถุดิบเคมีภัณฑ์จากในประเทศ คิดเป็นมูลค่าไม่น้อยกว่า 352 ล้านบาทต่อปี" นางหิรัญญา กล่าว
นางหิรัญญา กล่าวเพิ่มเติมว่า นอกจากนี้ บริษัทยังมีแผนที่จะก่อให้เกิดความร่วมมือ กับสถาบันการศึกษาในโครงการสหกิจศึกษา (Work Integrated Learning :WiL) ซึ่งเป็นความร่วมมือจากสามภาคส่วน ได้แก่ สำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมแห่งชาติ (สวทน.) บริษัทเอกชน และสถาบันการศึกษา ตามโครงการจะสนับสนุนการผลิตกำลังคนระดับ ปวส. และระดับปริญญาโท ที่มีคุณภาพป้อนให้กับภาคอุตสาหกรรม ในรูปแบบของจัดการศึกษาและการเรียนรู้การทำงานในสถานประกอบการ ทั้งในส่วนของการผลิตและการวิจัยและพัฒนา โดยมีคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี วิทยาลัยเทคนิคมาบตาพุด จังหวัดระยอง เข้าร่วมโครงการ