กรุงเทพฯ--20 เม.ย.--กรมทรัพยากรน้ำบาดาล
กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยกรมทรัพยากรน้ำบาดาล เตือนประชาชนและเกษตรกรทำ "ทรุดบ่อ" อย่าประมาท อาจขาดอากาศหายใจเสียชีวิตในบ่อลึกได้ ย้ำขอให้จำหลัก 3ต 1จ (ตรวจสอบก๊าซ เติมอากาศ เตรียมอุปกรณ์ และเจาะบ่อใหม่) คือ ตรวจสอบก๊าซพิษและปริมาณออกซิเจนภายในบ่อ เติมอากาศเพื่อช่วยระบายหรือถ่ายเทอากาศภายในบ่อ เตรียมอุปกรณ์ในการทำงานและอุปกรณ์ช่วยชีวิตให้อยู่ในสภาพพร้อมใช้งาน รวมถึงจัดให้มีคนคอยช่วยเหลือกรณีฉุกเฉินที่บริเวณ ปากบ่อ และเจาะบ่อใหม่ขนาดมาตรฐานพร้อมติดตั้งเครื่องสูบน้ำไฟฟ้าหรือแบบเทอร์ไบน์ ซึ่งจะช่วยป้องกันและลดความเสี่ยงต่ออันตรายถึงชีวิต
นายสุพจน์ โตวิจักษณ์ชัยกุล อธิบดีกรมทรัพยากรน้ำบาดาล เปิดเผยว่า สถานการณ์ภัยแล้ง ในประเทศไทยมักเกิดขึ้นในช่วงฤดูร้อนของทุกปี โดยเป็นช่วงที่ภาวะอากาศมีความแห้งแล้งจากอุณหภูมิ สูงสุดในเดือนเมษายน เป็นผลให้สภาพอากาศร้อนอบอ้าวและอากาศร้อนจัดเกือบทุกพื้นที่ของประเทศไทย ประกอบกับปริมาณน้ำฝนที่อยู่ในเกณฑ์ต่ำกว่าปกติและมีเฉพาะในบางพื้นที่ ทำให้ประชาชนขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภค และไม่มีน้ำเพื่อทำการเกษตรในพื้นที่ทั่วไป ส่งผลกระทบต่อการดำรงชีวิตและเกิดความเสียหายต่อการประกอบอาชีพของประชาชน อย่างไรก็ตาม แม้ว่าในระยะนี้จะมีฝนตกในหลายพื้นที่ และกระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยได้ประกาศพื้นที่ประสบภัยพิบัติ (ภัยแล้ง) เพียงจังหวัดเดียว คือ จังหวัดสระแก้ว แต่ในบางพื้นที่ต้องประสบปัญหาระดับน้ำใต้ดินของแหล่งน้ำบาดาลชั้นบน ที่ความลึกประมาณ 20-40 เมตร มีระดับน้ำลดลงไปมาก โดยมีระดับความลึกประมาณ 6-15 เมตร จากผิวดิน จึงทำให้บ่อตอกของชาวบ้านที่เจาะและนำน้ำบาดาลชั้นดังกล่าวขึ้นมาใช้เพื่อการทำนาและเกษตรกรรมโดยทั่วไป มีระดับน้ำบาดาลต่ำเกินกว่าที่เครื่องสูบน้ำแบบหอยโข่งจะสูบน้ำขึ้นมาใช้ได้ (โดยปกติเครื่องสูบระดับน้ำตื้นสูบได้ลึกไม่เกิน 6 เมตร) ทำให้ต้องขุดบ่อวางวงปูนซีเมนต์ลึกลงไปตามระดับน้ำที่ลดลงไป เรียกว่า "การทรุดบ่อ" ตามน้ำ โดยมีความลึกตั้งแต่ 4-12 เมตร ซึ่งเป็นระดับความลึกที่เสี่ยงต่อการขาดอากาศหายใจ การที่ชาวบ้านต้องลงไปในบ่อขุดดังกล่าวเพื่อซ่อมแซมเครื่องสูบน้ำ เปลี่ยนสายพาน หรือขุดบ่อให้ลึกมากขึ้น ด้วยความรู้เท่าไม่ถึงการณ์อาจทำให้ผู้ที่ลงไปในบ่อขาดอากาศหายใจเสียชีวิตได้ เนื่องจากในบ่อไม่มีออกซิเจน หรือมีก๊าซพิษที่เกิดจากซากพืชซากสัตว์สะสมบริเวณก้นบ่อ เช่น ก๊าซไข่เน่า ก๊าซมีเทน ก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์ เป็นต้น ดังนั้น เพื่อความไม่ประมาท กรมทรัพยากรน้ำบาดาลจึงขอแจ้งเตือนให้ประชาชนยึดหลัก 3ต 1จ ได้แก่
- ตรวจสอบก๊าซพิษและปริมาณออกซิเจนภายในบ่อ ซึ่งก่อนจะลงไปทำงานในบ่อลึก จะต้องตรวจสอบก๊าซพิษและออกซิเจนในบ่อ โดยใช้เทียนไขหรือตะเกียงจุดไฟหย่อนลงไปในบ่อ ถ้าไฟที่จุดอยู่ไม่ดับแสดงว่าไม่มีก๊าซพิษ แต่หากไฟที่จุดดับ แสดงว่าในบ่อไม่มีออกซิเจน และอาจมีก๊าซพิษที่เป็นอันตรายได้ จึงห้ามลงไปในบ่อขุดดังกล่าวเด็ดขาด ทั้งนี้ ต้องแจ้งเจ้าหน้าที่องค์การบริหารส่วนท้องถิ่นหรือกำนันผู้ใหญ่บ้านให้ทราบ เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปตรวจสอบให้แน่ใจก่อนว่าปลอดภัย
- เติมอากาศเพื่อช่วยระบายหรือถ่ายเทอากาศภายในบ่อ โดยใช้เครื่องเป่าลมหรือเครื่องพ่นปุ๋ย ต่อสายยางลงไปถึงก้นบ่อ แล้วเปิดเครื่องเป่าลมปล่อยให้อากาศระบายประมาณ 30 นาที จึงลงไปในบ่อได้ และระหว่างที่ทำงานอยู่ในบ่อต้องเปิดเครื่องเพื่อปล่อยลมลงไปให้ช่วยถ่ายเทอากาศตลอดเวลา
- เตรียมอุปกรณ์ในการทำงานและอุปกรณ์ช่วยชีวิตให้อยู่ในสภาพพร้อมใช้งาน โดยเลือกใช้อุปกรณ์นิรภัยและอุปกรณ์ช่วยชีวิต เช่น เข็มขัดนิรภัย สายชูชีพ เชือก รวมถึงอุปกรณ์อื่นๆ ที่เหมาะสม รวมถึงจัดให้มีคนคอยช่วยเหลือกรณีฉุกเฉินไม่น้อยกว่า 2 คน เฝ้าระวังที่บริเวณปากบ่อขณะปฏิบัติงาน และสามารถติดต่อสื่อสารกันได้ตลอดเวลา
- เจาะบ่อใหม่ ซึ่งกรณีนี้เป็นการหลีกเลี่ยงไม่ต้องลงไปในบ่อ และเป็นแนวทางที่ปลอดภัยที่สุด คือ การปรับเปลี่ยนมาเจาะบ่อน้ำบาดาลขนาดมาตรฐานเส้นผ่าศูนย์กลาง 4 นิ้วขึ้นไป แล้วใช้เครื่องสูบน้ำไฟฟ้าแบบจุ่มใต้น้ำ หรือหากไม่มีไฟฟ้าก็สามารถใช้เครื่องสูบน้ำแบบเทอร์ไบน์ที่เดินเครื่องด้วยเครื่องยนต์ต้นกำลังแบบรถไถนาเดินตามได้ ซึ่งวิธีนี้จะทำให้สูบน้ำได้ระดับความลึกมากขึ้น และมีความปลอดภัยมากกว่า
อธิบดีกรมทรัพยากรน้ำบาดาลกล่าวต่อไปว่า การปฏิบัติงานในสถานที่อับอากาศในบ่อลึกใต้ดิน มีความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุได้ตลอดเวลา ดังนั้น ประชาชนหรือเกษตรกรที่ทำงานบริเวณดังกล่าวควรเรียนรู้และเข้าใจวิธีการทำงานอย่างถูกต้อง จะเป็นการป้องกันและช่วยลดความเสี่ยงต่ออุบัติเหตุที่เป็นอันตรายถึงชีวิตได้ หากประชาชนหรือเกษตรกรท่านใดมีข้อสงสัยและต้องการความช่วยเหลือด้านน้ำบาดาล สามารถติดต่อได้ที่ สายด่วนกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (Green Call) 1310 กด 4 ทุกวันและเวลาราชการ