กรุงเทพฯ--21 เม.ย.--มหาวิทยาลัยมหาสารคาม
ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของสังคมปัจจุบัน อาจทำให้เด็กและเยาวชนห่างหายจากการเรียนรู้รากเหง้า วิถีชีวิตภูมิปัญญา ศิลปวัฒนธรรม และประเพณี จากชุมชน หรือครอบครัว ซึ่งเป็นเบ้าหลอมสำคัญเพื่อ ขัดเกลา สร้างสมาชิกที่จะเป็นกำลังสำคัญต่อการพัฒนาชุมชน ท้องถิ่นและสังคม
มหกรรมดีจังอีสานตุ้มโฮม ปี 4 สื่อสารสร้างสรรค์: เรื่องกินเรื่องใหญ่ ตระหนักถึงการเปิดพื้นที่เพื่อเสริมสร้างการเรียนรู้แก่เด็ก เยาวชนในเรื่องวิถีภูมิปัญญาอีสาน อาหารพื้นบ้าน ศิลปะสร้างสรรค์ และสื่อพื้นบ้าน ซึ่งเด็ก และเยาวชนได้ร่วมกันจัดขึ้น เพื่อพัฒนาเด็ก เยาวชนด้านการออกแบบกระบวนการสื่อสารสร้างสรรค์ ขยายแนวคิด 3 ดี คือ พื้นที่ดี สื่อดี ภูมิดี ให้เกิดการทำงานเสริมพลัง สร้างความเข้มแข็งแก่เด็ก เยาวชน ชุมชน นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงชุมชนให้ดีขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม
การจัดงานครั้งนี้ ด้วยความร่วมมือของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สถาบันสื่อเด็กและเยาวชน (สสย.) มูลนิธิเพื่อการพัฒนาเด็ก (มพด.) และภาคีเครือข่ายนิเทศศาสตร์ 4 สถาบันในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ประกอบด้วย มหาวิทยาลัยมหาสารคาม, มหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์, มหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี, มหาวิทยาลัยราชภัฏสุรินทร์ และเครือข่ายเด็ก เยาวชนศรีสะเกษติดยิ้ม จังหวัดศรีสะเกษ
กิจกรรมในงานได้รับความสนใจจากผู้เข้าร่วมงาน ได้แก่ ลานวิถีอาหารอีสานกับแกงหน่อไม้ ขนมเทียนแก้ว จากจังหวัดมหาสารคาม ข้าวโป่ง บ้านแคนน้อย ยโสธร เรื่องราวของเกลือ และอาหารพื้นบ้านจากอุดรธานี โดนัดเขมร จากสุรินทร์ ปลาส้ม และหมูทุบของชาวกาฬสินธุ์ ส้มตำและปลาร้าทอด จากพื้นที่ศรีสะเกษ ขนมจีนจากพื้นที่ร้อยเอ็ด ลานศิลปะสร้างสรรค์ มีกิจกรรมระบายสีปูนปลาสเตอร์ การทำพัดกระดาษ ถักเชือกข้อมือ ตุงใยแมงมุม พวงมะโหตร และตาข่ายดักฝัน
นอกจากนี้ ยังมีการแสดงพื้นบ้านอีสาน วงแคน หนังประโมทัย คณะเพชรอีสาน จากโรงเรียนดงบังพิสัย นวการนุสรณ์ หมอลำหุ่นกระติ๊บข้าว ของคณะเด็กเทวดา จังหวัดมหาสารคาม การแสดงสืบสานตำนานเมืองสุรินทร์ จากมหาวิทยาลัยราชภัฏสุรินทร์ ละครเร่ การฉายหนังสั้น สารคดีผลงานของเด็กและเยาวชน
นายเสน่ห์ นนทะโชติ ผู้ว่าราชการจังหวัดมหาสารคาม เล็งเห็นความสำคัญของการส่งเสริมให้เด็ก และเยาวชน ได้พัฒนาศักยภาพของตนเองอย่างสร้างสรรค์ ที่สำคัญคือ เด็ก และเยาวชนเป็นพลังสำคัญต่อการขับเคลื่อนชุมชน สังคม และประเทศ ที่ครอบครัว และผู้ใหญ่ควรสนับสนุนและเปิดพื้นที่การเรียนรู้แก่พวกเขา
ด้าน ผู้ช่วยศาสตราจาย์ ดร.สุจิน บุตรดีสุวรรณ คณบดีคณะวิทยาการสารสนเทศ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม กล่าวถึง การมีส่วนร่วมอย่างเข้มแข็งของเครือข่ายสถาบันการศึกษาในภาคอีสานที่จะเป็นกลไกสนับสนุนสำคัญของการสร้างกระบวนการรียนรู้ หนุนเสริมการทำงานของพื้นที่ ชุมชนท้องถิ่นเพื่อพัฒนาศักยภาพของเด็ก และเยาวชนได้เป็นอย่างดี ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงในด้านต่าง ๆ ทั้งทางด้านเทคโนโลยี เศรษฐกิจ การเมือง และสังคม
ขณะที่ นายสิทธิเดช ผงสิริ แกนนำเยาวชนอีสานตุ้มโฮม นิสิตคณะวิทยาการสารสนเทศ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม กล่าวว่า เยาวชนในเครือข่ายภาคอีสานได้ทำงานสื่อสารสร้างสรรค์ เรียนรู้ศักยภาพของตนเองที่เป็นกำลังสำคัญสร้างการเปลี่ยนเปลี่ยนแปลงแก่ชุมชน และสังคมได้ นอกจากนี้ยังได้ฝึกฝนการสร้างสื่อเพื่อบอกเล่าเรื่องราววิถีชีวิต ศิลปวัฒนธรรม ภูมิปัญญาอีสาน ทำให้พวกเขาเห็นถึงความความสำคัญที่จะร่วมสืบสานรากเหง้านี้อย่างภาคภูมิใจ
มหกรรมดีจังอีสานตุ้มโฮม ปี 4 สื่อสารสร้างสรรค์ : เรื่องกินเรื่องใหญ่ครั้งนี้ สะท้อนความสำคัญของการเปิดพื้นที่ให้เด็ก เยาวชนได้สร้างสรรค์เรื่องราวต่าง ๆ ที่เป็นภูมิปัญญา รากเหง้าของตนเองอย่างรู้คุณค่าสื่อสารสู่สาธารณะ ในท้ายที่สุดแล้วพลังของเด็กและเยาวชนจะสามารถนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นของสังคมและชุมชน