วัดเรทติ้งตลาดรับสร้างบ้านปี 2548 วัสดุก่อสร้าง/สถาบันการเงิน ปรับตัวสู้รองรับตลาดโต

ข่าวทั่วไป Wednesday November 30, 2005 11:00 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--30 พ.ย.--โอเอซิส มีเดีย
ในรอบปี 2548 ที่ผ่านมาตลาดรับสร้างบ้านมีการพัฒนา และเปลี่ยนแปลงในหลาย ๆ ด้าน ซึ่งทีมงานฝ่ายการตลาด บริษัท ปทุมดีไซน์ ดีเวลลอป จำกัด ได้จัดทำการประเมิน และวิเคราะห์ภาพรวมด้านหลัก ๆ เพื่อให้เห็นพัฒนาการและการเปลี่ยนแปลงตลอดปี 2548 โดยจัดให้คะแนนเป็น rating ว่าในแต่ละด้านได้คะแนนเป็นอย่างไร โดย rating จะมีตั้งแต่ควรปรับปรุงถึงดีมาก ( 2 ดาว — 5 ดาว) ซึ่งจะทำให้เห็นภาพการพัฒนาของตลาดรับสร้างบ้านมีความชัดเจนมากยิ่งขึ้น โดยหัวข้อทำการวิเคราะห์และประเมินจะประกอบไปด้วย
1.กลยุทธ์การตลาดกลุ่มบริษัทรับสร้างบ้าน (Marketing Strategies)
ปี 2548 นี้ แนวทางการพัฒนาตลาดรับสร้างบ้านและการแข่งขัน ของกลุ่มผู้ประกอบการรับสร้างบ้านจะเน้นหนักในเรื่องการสร้างความเข้าใจแก่ผู้บริโภค และพยายามชี้ให้เห็นถึงสิ่งที่แตกต่างในตัวผลิตภัณฑ์และบริการ ด้วยการสร้างกิจกรรมส่งเสริมการตลาดร่วมกันของกลุ่มผู้ประกอบการและพันธมิตร เช่น การจัด Event ร่วมกันเฉพาะกลุ่ม, การรวมงานออกแบบผลิตภัณฑ์ใหม่ (หนังสือแบบบ้าน 2006), การผนึกกับพันธมิตรกลุ่มผู้ผลิตวัสดุกำหนดมารฐานวัสดุก่อสร้าง ฯลฯ เป็นต้น โดยวัตถุประสงค์เพื่อเป็นการสร้างภาพลักษณ์ให้ชัดเจนยิ่งขึ้นและอย่างต่อเนื่อง พร้อมๆกับการหันมาให้ความสำคัญมากขึ้น โดยเฉพาะการใช้สื่อโฆษณาประชาสัมพันธ์ธุรกิจ และสร้างการจดจำในแบรนด์สินค้าและแบรนด์รับสร้างบ้าน ดังจะเห็นว่าตลอดปี 2548 การใช้สื่อของกลุ่มบริษัทรับสร้างบ้านเพิ่มขึ้นจากปี 2547 มากกว่าเท่าตัว ทั้งนี้คาดหวังที่จะให้ผู้บริโภคได้พิจารณาเป็นทางเลือกที่สำคัญอีกทางหนึ่ง นอกจากผู้รับเหมาทั่วไป บ้านจัดสรร และบ้านมือสอง ซึ่งผลตอบรับที่ผ่านมาถือว่ามีแนวโน้มที่ดี แต่การสื่อสารกับกลุ่มผู้บริโภคคงต้องใช้ระยะเวลาในการสร้างการรับรูอีกระยะหนึ่ง โดยเฉพาะการชี้ให้เห็นถึงความแตกต่างระหว่างบริษัทรับสร้างบ้าน และผู้รับเหมารายย่อย
2.ความร่วมมือต่อสมาคมธุรกิจรับสร้างบ้าน (Home Builder Association Development)
สำหรับปี 2548 ถือเป็นปีที่มีการจัดตั้งสมาคมธุรกิจรับสร้างบ้านมาเป็นระยะเวลา 1 ปี ซึ่งนับว่ายังคงมีอุปสรรคอยู่บ้าง เนื่องจากกลุ่มผู้ประกอบการที่มีจำนวนมากกว่า 200 รายในปัจจุบัน ยังมีความแตกต่างกันมากทั้งในแง่ของคุณสมบัติและศักยภาพในการบริหารจัดการของผู้ประกอบการรายเล็ก-รายใหญ่ ดังจะเห็นว่าเมื่อมีความพยายามจะรวมตัวกันจัดตั้งหน่วยงานกลางหรือสมาคมธุรกิจรับสร้างบ้านขึ้นมา เพื่อจะร่วมกันพัฒนาตลาดรับสร้างบ้านให้เติบโตอย่างมีศักยภาพนั้น ปรากฏว่าสามารถรวบรวมตัวกันได้เพียง 20 กว่ารายเท่านั้น ดังนั้นทิศทางการพัฒนาตลาดรับสร้างบ้านให้เติบโตอย่างมั่นคง จึงเป็นเรื่องที่ท้าทายสำหรับกลุ่มบริษัทรับสร้างบ้าน ที่ต้องการจะเห็นการพัฒนาของธุรกิจให้มีความเข้มแข็งในอนาคต
3.การปรับตัวของกลุ่มผู้ผลิตวัสดุก่อสร้าง (Building Material Development)
การที่มีผู้ประกอบการชั้นนำในกลุ่มรับสร้างบ้านที่มารวมตัวกัน ซึ่งส่วนใหญ่มีประสบการณ์และดำเนินธุรกิจมานานกว่า 10 ปีขึ้นไปอยู่ประมาณเกือบ 20 ราย ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างผู้ประกอบการรับสร้างบ้านกับผู้ผลิตและจำหน่ายวัสดุก่อสร้างที่ผ่านมาเป็นไปด้วยดี โดยเฉพาะในช่วงวิกฤติเศรษฐกิจก็ได้พิสูจน์ให้เห็นมาแล้วว่าผู้ประกอบกลุ่มนี้ฝ่าฟันมาได้ไม่ยากนัก ที่ผ่านมากลุ่มผู้ผลิตและจำหน่ายวัสดุก่อสร้าง ไม่สามารถจะเข้าถึงความต้องการของกลุ่มบริษัทรับสร้างบ้านก็เพราะว่าขาดผู้นำหรือศูนย์กลางด้านความคิดที่จะร่วมมือกันพัฒนา ผลิตภัณฑ์วัสดุก่อสร้าง โดยเฉพาะปัญหาด้านแรงงานและสิ่งแวดล้อม นอกจากนี้การกระจายกันต่างสถานที่ตั้งขององค์กรแต่ละแห่ง ก็ทำให้การรวบรวมข้อมูลและการประสานงานเป็นไปด้วยความยากลำบากและเสียเวลามาก แต่มา ณ วันนี้จะเห็นว่าเมื่อมีการรวมตัวกันจัดตั้งเป็นหน่วยงานกลางขึ้นมา โอกาสในการที่จะแลกเปลี่ยนความคิดเห็น เพื่อนำไปสู่ทิศทางการพัฒนาธุรกิจร่วมกัน มีความสะดวก รวดเร็ว และประสานประโยชน์ร่วมได้มากขึ้น จนหลายๆองค์กรที่ดำเนินธุรกิจแบบ Conservative ก็เริ่มปรับตัวและยอมรับกับวัสดุและผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ มากขึ้น จึงนับเป็นการเริ่มต้นที่ดีระหว่างทั้ง 2 ธุรกิจในการจะพัฒนาผลิตภัณฑ์ร่วมกันอย่างมีทิศทาง แตกต่างจากอดีตที่เกิดขึ้นน้อยมาก
4.สถาบันการเงิน และการตอบสนองต่อตลาดรับสร้างบ้าน (Financial Support)
ก่อนหน้านี้มีสถาบันการเงินหรือธนาคารพาณิชย์เพียง 1-2 แห่งเท่านั้น ตัวอย่างเช่น ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) ที่มองเห็นศักยภาพและโอกาสของตลาดรับสร้างบ้านและผู้ประกอบการกลุ่มนี้ ที่สามารถจะสนับสนุนและพัฒนาตลาดการเงินและที่อยู่อาศัยร่วมกัน โดยจุดเด่นพิเศษสำหรับการปล่อยสินเชื่อกลุ่มนี้ก็คือ มีความเสี่ยงต่ำมากเมื่อเทียบกับธุรกิจที่อยู่อาศัยในกลุ่มบ้านจัดสรร ขณะที่ในปี 2548 ตลาดบ้านจัดสรรเริ่มถดถอยให้เห็นชัดเจนมากขึ้น ตลอดจนกลุ่มสถาบันการเงินก็มีการแข่งขันกันอย่างรุนแรง เพื่อแย่งชิงลูกค้าภายใต้สถานการณ์ที่เริ่มเข้มงวดเครดิตผู้กู้ยืมมากขึ้น ดังนั้นกลุ่มลูกค้าในตลาดรับสร้างบ้านจึงเริ่มเป็นที่สนใจ ทั้งธนาคารของรัฐอย่างเช่น ธนาคารอาคารสงเคราะห์ และธนาคารพาณิชย์อีกหลายๆรายต่างก็มุ่งเข้ามาร่วมแบ่งเค๊กก้อนนี้ อาทิ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด(มหาชน) ธนาคารกสิกรไทย จำกัด(มหาชน) ฯลฯ เป็นต้น
ฉะนั้นจึงนับเป็นเรื่องที่น่ายินดีและเป็นสิ่งสำคัญที่กลุ่มบริษัทรับสร้างบ้าน น่าจะใช้โอกาสและเครื่องมือนี้ขยายตลาดรับสร้างบ้านให้ครอบคลุมกลุ่มผู้บริโภคได้มากขึ้น หากทั้ง 2 ธุรกิจจะประชาสัมพันธ์ให้ผู้บริโภคได้เข้าใจถึงสินเชื่อสร้างบ้านมากขึ้น นับว่าจะเป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภคที่มีที่ดินอยู่แล้ว ซึ่งจะได้ไม่ต้องใช้เวลาเก็บเงินสร้างบ้านจนครบ และในส่วนผู้บริโภคที่มีความต้องการจะใช้บริการสินเชื่อ ก็จะมีทางเลือกเพิ่มมากขึ้นกว่าเดิมเนื่องจากสถาบันการเงินต่างนำเสนอ Package รูปแบบใหม่ ๆ ให้กับผู้บริโภคได้มากขึ้น
5.ภาพรวมตลาดรับสร้างบ้าน (Overall Market)
แม้ว่าธุรกิจรับสร้างบ้านจะถือกำเนิดมานานกว่า 40 ปี โดยวัตถุประสงค์ของผู้เริ่มดำเนินธุรกิจรายแรกนั้น เข้าใจว่ามาจากแนวคิดที่ต้องการจะเป็นมืออาชีพรับสร้างบ้าน โดยการนำระบบการบริหารจัดการและการตลาดเข้ามาใช้ในการรับสร้างบ้าน ซึ่งแตกต่างจากการว่าจ้างผู้รับเหมารายย่อยๆทั่วไป โดยถือว่าประสบผลสำเร็จด้วยดีจนเป็นที่รู้จักมานานและนับว่าเป็นจุดเด่นที่ชัดเจน เมื่อเปรียบกับผู้รับเหมาทั่วไป และการเป็นมืออาชีพก็ส่งผลให้องค์กรสามารถยืนอยู่ได้ยาวนาน ด้วยความที่มีมาตรฐานและเป็นที่ยอมรับของผู้บริโภค
สำรับจุดด้อยที่เห็นได้ชัดเจนดังที่ผ่านมานั้นก็คือ การจะขยายหรือการเติบโตของธุรกิจไม่สามารขยายได้มากนัก เพราะธุรกิจรับสร้างบ้านมีข้อจำกัดหลายด้านเกี่ยวกับการบริหารจัดการ ตัวอย่างสำคัญเช่น สถานที่ก่อสร้างกระจัดกระจายไปทั่ว, ต้องใช้บุคลากรจำนวนมาก, ปัญหาขาดแคลนแรงงานฝีมือ, ผลกำไรต่ำ ฯลฯ โดยส่วนใหญ่เท่าที่สำรวจพบมักจะอาศัยชื่อเสียง และประสบการณ์จากการเป็นผู้ประกอบการรับสร้างบ้าน ไปใช้ในการขยายเครือข่ายธุรกิจอื่นๆที่ต่อเนื่องมากกว่า การขยายบริษัทรับสร้างบ้านให้เติบโต นอกจากนี้ด้วยความที่ธุรกิจรับสร้างบ้านสามารถจะเริ่มต้นได้ไม่ยาก ที่ผ่านมาจึงทำให้ผู้ประกอบที่เรียกตัวเองว่าเป็นบริษัทรับสร้างบ้าน(แต่จริงๆแล้วขาดคุณสมบัติและขาดความพร้อม) ได้มุ่งเข้ามาสู่ธุรกิจรับสร้างบ้านนี้กันมากมาย จนกระทั่งผู้บริโภคเริ่มจะแยกแยะไม่ออกว่ามีความเป็นมืออาชีพจริงหรือไม่ และมีอะไรที่แตกต่างจากผู้รับเหมารายย่อยทั่วไป
ณ เวลานี้เราจึงเห็นการรวมตัวกันของกลุ่มผู้ประกอบการ ซึ่งหันมาให้ความสำคัญในเรื่องมาตรฐานและการพัฒนาองค์กรตัวเองอย่างจริงจัง จึงนับว่าเป็นเรื่องที่ดีและจะเกิดประโยชน์ต่อธุรกิจและสังคม ทั้งนี้เชื่อว่ามีหลายสิ่งหลายอย่างที่ผู้ประกอบการจะต้องปรับตัว โดยเฉพาะเพื่อรับการเปลี่ยนแปลงของคำว่ามืออาชีพและสอดคล้องกับพฤติกรรมของผู้บริโภคในปัจจุบัน จึงนับเป็นสิ่งท้าทายของกลุ่มผู้ประกอบการรุ่นใหม่ ที่จะสร้างจุดเด่นและความชัดเจนในสายตาผู้บริโภคมากขึ้น
ตลาดรับสร้างบ้านในปี 2549
นายสิทธิพร สุวรรณสุต ประธานกรรมการ บริษัท ปทุมดีไซน์ ดีเวลลอป จำกัด กล่าวว่า ความต้องการโดยรวมในเรื่องที่อยู่อาศัยในปี 2549 คาดว่าจะมีความต้องการลดลงจากปี 2548 นี้และปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะบ้านจัดสรรประเภทบ้านเดี่ยว แต่ในส่วนของความต้องการสร้างบ้านเอง ประเมินว่าปริมาณความต้องการในเขตกรุงเทพและปริมณฑลยังมีแนวโน้มการเติบโตขึ้น โดยตัวเลขจากฝ่ายวิชาการธนาคารอาคารสงเคราะห์ระบุว่าตัวเลขบ้านสร้างเองในปี 2547 มีจำนวนรวม 19,859 หน่วย ขณะที่ตัวเลข ณ 31 ตุลาคม 2548 บ้านสร้างเองมีจำนวนรวม 18,000 หน่วย ซึ่งฝ่ายวิชาการ ธอส. ประเมินว่ายอดตัวเลขบ้านสร้างเองปี 2548 น่าจะสูงถึง 24,000 หน่วย ซึ่งความต้องการสร้างบ้านเองในปี 2548 มีการขยายไปยังพื้นที่ต่างจังหวัดด้วย เช่น ชลบุรี เชียงใหม่ นครราชสีมา ภูเก็ต และเพชรบุรี ขณะที่ในปี 2549 คาดว่าตลาดโดยรวมน่าจะเติบโตเพิ่มอีกประมาณ 15%
สำหรับตลาดรับสร้างบ้านนั้น ซึ่งเป็นเซ็กเม้นต์หนึ่งในภาพรวมของ บ้านสร้างเอง จะยังสามารถเติบโตได้สูงกว่าค่าเฉลี่ยของตลาดรวมบ้านสร้างเองที่เพิ่มขึ้น ทั้งนี้ก็ด้วยปัจจัยต่างๆที่เอื้อต่อผู้ประกอบการรับสร้างบ้านที่เป็นมืออาชีพ ซึ่งจะส่งผลให้สามารถแชร์ส่วนแบ่งตลาดหรือความต้องการสร้างบ้านเอง มาจากผู้รับเหมารายย่อยๆ ทั่วไป(หรือบริษัทรับสร้างบ้านที่แฝงตัวเข้ามาแต่ยังไม่เป็นมืออาชีพจริง) ควบคู่กับการพัฒนาภาพรวมธุรกิจทั้ง 5 ปัจจัยดังที่กล่าวมาข้างต้น.
ข้อมูลเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ
บริษัท โอเอซิส มีเดีย จำกัด
โทร.0-2937-4658-9,0-2937-4735
คุณชัชวาล ตรีเนตร / คุณศรัญญรัตน์ สุวรรณคาม / คุณปิยะพร จำเนียร
Email : chatchaval@oasismedia.co.th,
saranyarat@oasismedia.co.th , piyaporn@oasismedia.co.th--จบ--

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ