กรุงเทพฯ--24 เม.ย.--เจซีแอนด์โค พับลิครีเลชั่นส์
กระทรวงอุตสาหกรรม โดยกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม เผยอุตสาหกรรมไทยต้องเร่งเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขัน 4 ด้าน ได้แก่ 1. ด้านการยกระดับผลิตภาพ 2. ด้านการพัฒนาเครือข่ายวิสาหกิจ/คลัสเตอร์ และการเชื่อมโยงห่วงโซ่อุปทานอุตสาหกรรม 3. ด้านการลดต้นทุนอย่างมีประสิทธิภาพ และ 4. ด้านการพัฒนาอย่างยั่งยืน พร้อมจับมือกับสมาคมส่งเสริมคุณภาพแห่งประเทศไทยเร่งยกระดับภาคอุตสาหรรม ภาครัฐวิสาหกิจ ภาคราชการและโรงพยาบาล ด้วยการจัดมหกรรมคิวซีแห่งประเทศไทยที่จัดอย่างต่อเนื่องมาถึง 31 ปี ซึ่งส่งเสริมให้ทุกภาคส่วนได้มีการแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์เพื่อนำไปปรับใช้ให้เกิดประโยชน์และเพิ่มคุณภาพด้านต่าง ๆ ภายในหน่วยงานของตนเอง ทั้งนี้ จากการจัดงานได้รับความสนใจจากหน่วยงานต่างๆ เป็นอย่างดีเยี่ยม รวมถึงพบผลงานเชิงนวัตกรรมมากมายที่นำมาใช้ในการเพิ่มประสิทธิภาพในองค์กร อาทิ นวัตกรรมการลดเวลาการเชื่อมระบบทำความเย็นตู้แช่ จากบริษัท ซีพี รีเทลลิงค์ จำกัด นวัตกรรม Contact Joystick for Overhead Crane ผลงานการพัฒนาวิธีการดึงลากเชือกนำในงานขึงสายไฟฟ้าให้ลอยสูงเหนือพื้นดิน โดยไม่ส่งผลกระทบต่อชุมชนและลดค่าใช้จ่ายให้กับองค์กร จากการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย เป็นต้น
นายกอบชัย สังสิทธิสวัสดิ์ รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า อุตสาหกรรมในโลกยุคปัจจุบันมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องสร้างความได้เปรียบทางการแข่งขันหรือคิดค้นกลยุทธ์ที่ทำให้ธุรกิจมีความแตกต่างจากผู้อื่น โดยเฉพาะ การเพิ่มขีดความสามารถในเรื่องคุณภาพและประสิทธิภาพทั้งในส่วนของภาคการผลิตและภาคบริการ ให้เกิดขึ้นทั่วทั้งองค์กรอย่างต่อเนื่อง โดยการสร้างกลยุทธ์ดังกล่าวถือเป็นความสามารถพิเศษขององค์กรธุรกิจอย่างหนึ่งที่คู่แข่งไม่สามารถลอกเลียนหรือเลียนแบบได้ยาก ไม่ว่าจะเป็นเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่นำมาใช้ในการผลิต ระบบการจัดการภายใน ระบบการบริหารและภาพลักษณ์ขององค์กร เป็นต้น ซึ่งสิ่งเหล่านี้ถือเป็นปัจจัยพื้นฐานที่สำคัญอย่างมากที่ภาคอุตสาหกรรมของไทยต้องพยายามสร้างขึ้นมาในช่วงเวลาที่ระบบการค้าเสรี กำลังมีการแข่งขันกันอย่างรุนแรง โดยเมื่อผู้ประกอบการได้พัฒนาและปรับปรุงคุณภาพของสินค้าและบริการให้ดีขึ้นแล้ว ย่อมหมายถึง ต้นทุนในด้านต่างๆ ทั้งจากขั้นตอนการทำงาน ก็จะลดน้อยลง สามารถลดความผิดพลาดได้มากขึ้น นอกจากนี้ เมื่อคุณภาพของสินค้าและบริการดีขึ้น ก็ยังจะช่วยให้ผลผลิตขององค์กรสามารถเพิ่มมูลค่าในมิติต่าง ๆ ให้สูงขึ้นได้ ดังนั้น กลยุทธ์ที่กล่าวมาข้างต้นจึงถือเป็นเครื่องมือนำทางที่สำคัญอย่างมากเพื่อช่วยให้องค์กรสามารถดำรงอยู่ได้อย่างยั่งยืนในที่สุด
ดร.พสุ โลหารชุน อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กล่าวเพิ่มเติมว่า อุตสาหกรรมของไทยยังต้องปรับตัวในด้านการใส่ใจคุณภาพเพื่อให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงไปตามบริบทของกระแสความต้องการของโลกและผู้บริโภค โดยในช่วงหลายปีที่ผ่านมา กระทรวงอุตสาหกรรม โดยกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมได้พยายามมองหาจุดอ่อนที่ผู้ประกอบการ องค์กร และภาคธุรกิจกำลังประสบกับอุปสรรคในหลากหลายประเภท ซึ่งพบว่าองค์กรต่าง ๆ กำลังเผชิญกับปัญหาหลัก ดังนี้
1. ด้านการยกระดับผลิตภาพ หลากหลายองค์กรธุรกิจยังขาดการปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตเพื่อให้ผลผลิตมีปริมาณหรือคุณภาพสูงขึ้น ทั้งยังขาดการคำนึงถึงการใช้ความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์มาปรับปรุงปัจจัยในการผลิต อาทิ การใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรม ทักษะความชำนาญและความสามารถของบุคลากรรอบด้าน การใช้พลังงานที่มีอยู่อย่างคุ้มค่า การสร้างเอกลักษณ์และความแตกต่าง รวมทั้งยังขาดความต่อเนื่องในการปรับปรุงธุรกิจหรือผลิตภัณฑ์
2. ด้านการพัฒนาเครือข่ายวิสาหกิจ / คลัสเตอร์ และการเชื่อมโยงห่วงโซ่อุปทานอุตสาหกรรม หลายองค์กรยังมีการทำงานแบบโดดเดี่ยว ทำให้ไม่สามารถเรียนรู้หรือประยุกต์สิ่งต่าง ๆ ในการดำเนินธุรกิจได้การส่งเสริมการรวมกลุ่มเครือข่ายธุรกิจจึงมีข้อดีคือช่วยก่อให้เกิดการพัฒนาเทคนิคและรูปแบบผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ ทั้งยังช่วยในการแสวงหาปัจจัยการผลิตจากองค์กรภายในกลุ่ม
3. ด้านการลดต้นทุนอย่างมีประสิทธิภาพ ปัจจุบันองค์กรหลายๆ แห่งยังขาดความสามารถและความรู้ที่เพียงพอในการแสวงหาวิธีว่าจะลดต้นทุนได้อย่างไร ขณะที่บางแห่งใช้กลวิธีในการลดต้นทุนที่ไม่ถูกต้องจนทำให้เกิดผลกระทบต่อคุณภาพของสินค้า ซึ่งปัญหาในข้อนี้ผู้ประกอบการจำเป็นที่จะต้องเรียนรู้จากองค์กรธุรกิจที่เป็นต้นแบบ เพื่อให้สามารถนำกลยุทธ์นี้ไปประยุกต์ใช้เพื่อความอยู่รอดขององค์กรธุรกิจในยุคที่เศรษฐกิจมีความไม่แน่นอนในวันข้างหน้า
4. ด้านการพัฒนาอย่างยั่งยืน องค์กรและภาคอุตสาหกรรมในยุคใหม่จำเป็นจะต้องมีการพัฒนาอุตสาหกรรมอย่างยั่งยืน ทั้งยังต้องสร้างผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ด้วยการมุ่งเน้นพัฒนาอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ (Eco Industrial) และส่งเสริมอุตสาหกรรมสีเขียว (Green Industry) เช่น สิ่งทอและวัสดุก่อสร้างสีเขียว รถยนต์พลังงานไฟฟ้า พลาสติกชีวภาพ เป็นต้น
ทั้งนี้ นอกเหนือจากการมองหาจุดอ่อนที่ภาคธุรกิจกำลังประสบกับอุปสรรคต่าง ๆ แล้ว กสอ.ยังได้ผลักดันให้ผู้ประกอบการสร้างจุดแข็งเข้ามาแทนที่ปัญหาซึ่งองค์กรธุรกิจกำลังประสบหรือเผชิญอยู่ ทั้งด้วยการใช้ประโยชน์จากการเป็นศูนย์กลางของภูมิภาค การมีวัตถุดิบทางการเกษตรที่หลากหลายและมีคุณภาพ การมีแรงงานฝีมือการมีภาคเกษตรและภาคบริการที่เอื้อต่อการต่อยอดการพัฒนาห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain) และการมีทุนทางวัฒนธรรมและภูมิปัญญาไทยที่สามารถนำมาสร้างมูลค่าเพิ่มให้สินค้าและบริการ ทั้งนี้ จุดแข็งดังกล่าวสามารถนำมาสร้างความได้เปรียบจากโอกาสที่เกิดขึ้น เช่น การเข้าสู่ AEC ทำให้มีวัตถุดิบที่มีต้นทุนต่ำกว่า และสามารถเข้าถึงตลาดใหม่ในภูมิภาคได้ง่ายขึ้น การเน้นพัฒนาอุตสาหกรรมบนพื้นฐานศักยภาพของประเทศ และการสร้างมูลค่าเพิ่มด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี นวัตกรรม การวิจัย และพัฒนา เป็นต้น
โดยในปี 2560 กสอ. ได้ร่วมกับสมาคมส่งเสริมคุณภาพแห่งประเทศไทย จัดงานมหกรรมคิวซีแห่งประเทศไทยขึ้นเป็นปีที่ 31 เพื่อส่งเสริมให้ทุกภาคส่วนมีการพัฒนาและเปลี่ยนแปลงอย่างก้าวกระโดด โดยมุ่งเน้นการพัฒนาใน 3 ภาคส่วน ได้แก่ ภาคเอกชน ภาครัฐวิสาหกิจ และภาคราชการและโรงพยาบาล เพื่อยกระดับคุณภาพของสินค้าและบริการตามหลักการของคิวซี รวมทั้งสิ้น 117 กลุ่ม โดยแบ่งเป็นภาคอุตสาหกรรม 52 กลุ่มภาครัฐวิสาหกิจ 17 กลุ่ม ภาคราชการและโรงพยาบาล 48 กลุ่ม ทั้งนี้ ที่ผ่านมาในแต่ละปีผลงานขององค์กรต่าง ๆ ที่เข้าร่วมกิจกรรมกลุ่มคิวซีสามารถลดต้นทุนและเพิ่มมูลค่าในภาพรวมได้กว่า 10,000 ล้านบาท ขณะที่บางองค์กรสามารถเพิ่มมูลค่าได้กว่า 200 ล้านบาท อาทิ บริษัท เอสซีจี พลาสติกส์ จำกัด ลดต้นทุน/เพิ่มผลผลิตได้ 288,000,000 บาทบริษัท กระเบื้องกระดาษไทย จำกัด (โรงงงานสระบุรี) ลดต้นทุน/เพิ่มผลผลิตได้ 30,00,000 บาท บริษัท ซี พี แรม จำกัด ลดต้นทุน/เพิ่มผลผลิตได้ 15,580,000 บาท บริษัท ไทยโพลิเอททีลีน จำกัด ลดต้นทุน/ เพิ่มผลผลิตได้ 15,00,000 บาท บริษัท บางจากปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) ลดต้นทุน/เพิ่มผลผลิตได้ 9,100,000 บาท บริษัท ไออาร์พีซี จำกัด ลดต้นทุน/เพิ่มผลผลิตได้ 3,605,000 บาท เป็นต้น
สำหรับงานมหกรรมคิวซีแห่งประเทศไทย กำหนดจัดขึ้นระหว่างวันที่ 24-28 เมษายน 2560 ณ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม สำหรับผู้ประกอบการที่สนใจรายละเอียด สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ โทรศัพท์ 02-2024414 – 17 หรือ เข้าไปที่ www.dip.go.th