กรุงเทพฯ--24 เม.ย.--ขบวนการสร้างเสริมสุขภาพภาคประชาชน
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยมาตรา 77ระบุใจความสำคัญเอาไว้ว่า ก่อนการตรากฎหมายทุกฉบับ รัฐพึงจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของผู้เกี่ยวข้อง วิเคราะห์ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากกฎหมายอย่างรอบด้านและเป็นระบบ รวมทั้งเปิดเผยผลการรับฟังความคิดเห็นและการวิเคราะห์นั้นต่อประชาชน ทว่า เวทีประชาพิจารณ์ร่าง พ.ร.บ. สสส. ที่เพิ่งผ่านไป กลับมีลักษณะเร่งรัด เร่งรีบ ไม่ฟังความคิดเห็นอย่างรอบด้าน และไม่มีการเปิดเผยผลการรับฟังต่อประชาชน จึงมิได้เป็นไปตามครรลองของรัฐธรรมนูญไทยแต่อย่างใด
เมื่อวันที่ 22 เมษายา 2559 ที่จังหวัดเชียงใหม่ เครือข่ายขบวนการประชาชนสร้างเสริมสุขภาพภาคเหนือ (ขสช.ภาคเหนือ)จัดเวทีเปิดพื้นที่ทางความคิดและเชื่อมโยงศักยภาพภาคีระดับภาค (ภาคเหนือ) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเสริมพลังเครือข่าย รับทราบสถานการณ์ต่างๆที่แต่ละเครือข่ายกำลังเผชิญ ตลอดจนวางแผนการทำงานร่วมกัน มีประเด็นที่ในเวทีให้ความสำคัญร่วมกันคือ ความเห็นต่อเวทีประชาพิจารณ์ร่าง พ.ร.บ. สสส. ที่จัดขึ้นเมื่อวันที่ 31 มีนาคม และวันที่ 3 เมษายน ที่ผ่านมา ณ กรุงเทพมหานคร ซึ่งสร้างความกังขาต่อภาคประชาชนทั่วประเทศ เนื่องจากการจัดประชาพิจารณ์ดังกล่าวขาดการมีส่วนร่วมจากผู้มีส่วนได้เสียและประชาชนตั้งแต่เริ่มกระบวนการ เป็นไปอย่างรวบรัดและไม่มีการรับฟังความเห็นอย่างรอบด้าน ทำให้มีผู้เข้าร่วมรับฟังประชาพิจารณ์จำนวนมากแสดงความไม่เห็นด้วยต่อกระบวนการร่างกฎหมายนี้ด้วยการออกจากการประชุมกลางคัน (walk out)
พันธ์ศักดิ์ คำแก้ว ตัวแทนจากศูนย์ครอบครัวเข้มแข็ง จังหวัดลำปาง สะท้อนถึงประสบการณ์ทำงานกับคนในพื้นที่ว่า ทั้งชาวบ้านและองค์กรเครือข่ายในต่างจังหวัดต่างทำงานอย่างจริงจัง แต่สิ่งที่กำลังเกิดขึ้นก็คือ ส่วนกลางกำลังแก้กฎหมาย พ.ร.บ. สสส. ที่เป็นเหมือนแกนหลักในการทำงานกับพี่น้องในต่างจังหวัด โดยไม่ได้เสียงพวกเขาแต่อย่างใด
เช่นเดียวกับ ศรินยา สิงห์ทองวรรณ องค์กรกลุ่มฅนวัยใส จังหวัดเชียงใหม่ และเป็นอีกองค์กรที่ขับเคลื่อนด้วยงบประมาณของ สสส. เป็นเวลานาน กล่าวว่า การแก้ พ.ร.บ. สสส. ที่ผ่านมา มีเนื้อหาส่วนหนึ่งที่สะท้อนความพยายามในการจำกัดการทำงานขององค์กรภาคประชาชน ทั้งในเชิงการทำงานและงบประมาณ ในขณะที่กระบวนการแก้ไขก็ไม่ได้มีการฟังเสียงสะท้อนของภาคประสังคมที่ทำงานในหลายภูมิภาคแต่อย่างใด
ในขณะที่ผู้เข้าร่วมเวทีในครั้งนี้อีกหลายคน ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นตัวแทนจากองค์กรที่รับงบประมาณจาก สสส. ในการขับเคลื่อนประเด็นปัญหาในพื้นที่ที่ต่างมีความเห็นร่วมกันว่า ส่วนกลางควรจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นต่อร่าง พ.ร.บ. สสส. ในหลายภูมิภาค ไม่ใช่จัดเพียงการรับฟังเฉพาะในกรุงเทพฯเพียงแห่งอย่างเดียวโดยไม่สนใจความเห็นจากคนเล็กคนน้อยในต่างภูมิภาค
สำหรับในช่วงท้าย เวทีเครือข่ายขบวนการประชาชนสร้างเสริมสุขภาพภาคเหนือ มีข้อเสนอร่วมกัน คือ
1. ขอรักษาเจตนารมรณ์ในการมี สสส.
2. ไม่เห็นด้วยกับการแก้ พ.ร.บ. สสส.
3. ถ้ามีความจำเป็นในการแก้ พ.ร.บ. สสส. ต้องทบทวนกระบวนการ การแก้ พ.ร.บ. สสส. ที่ต้องมีภาคีเครือข่ายเข้าไปมีส่วนร่วมในการแก้ และเปิดให้มีการรับฟังความคิดเห็นอย่างทั่วถึงทุกภูมิภาค ให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ ปี 2560 มาตรา 77