กรุงเทพฯ--24 เม.ย.--ซีพีเอฟ
บริษัทเจริญโภคภัณฑ์อาหารจำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ โชว์กระบวนการผลิตขนมปังบัน ด้วยเทคโนโลยีขั้นสูงเป็นระบบอัตโนมัติตลอดสายการผลิต "ลดการสัมผัสมือ" ตอกย้ำการเป็นผู้นำคุณภาพและอาหารปลอดภัย 4.0 สร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภคด้วยมาตรฐานอาหารปลอดภัยสามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ตลอดห่วงโซ่การผลิต
นายวีรชัย รัตนบานชื่น ประธานผู้บริหารฝ่ายปฏิบัติการ ซีพีเอฟ กล่าวว่า โรงงานแปรรูปอาหาร บางน้ำเปรี้ยว แห่งนี้ ได้รับการรับรองหลักเกณฑ์วิธีการปฏิบัติที่ดีในการผลิต (Good Manufacturing Practices: GMP) และระบบการวิเคราะห์อันตรายและจุดวิกฤตที่ต้องควบคุม (Hazard Analysis and Critical Control Point: HACCP) ตามมาตรฐานอาหารสากล Codex จาก บริษัท เอสจีเอส (ประเทศไทย) จำกัด โดยมี นางหิรัญญา สุจินัย เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน ( บีโอไอ ) ให้เกียรติร่วมในพิธีรับมอบมาตรฐานดังกล่าว
การผ่านการรับรองมาตรฐานดังกล่าวของ ซีพีเอฟ แสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นในการยกระดับกระบวนการผลิตสู่มาตรฐานสุขลักษณะและความปลอดภัยอาหารในระดับสากล และยังเป็นส่วนหนึ่งในการนำนโยบายคุณภาพซีพีเอฟ (CPF Quality Policy) มาใช้ในกระบวนการผลิตเพื่อส่งมอบคุณภาพและความปลอดภัยอาหารมาตรฐานเดียวกันทั่วโลก
โรงงานเบเกอรี่แห่งนี้เป็นโรงงานระบบปิดทั้งหมด ใช้เงินลงทุน 650 ล้านบาท ได้รับการส่งเสริมการลงทุนจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) เพื่อส่งเสริมให้มีการผลิตสินค้าที่มีคุณภาพและปลอดภัยสำหรับผู้บริโภค โรงงานเปิดดำเนินการเมื่อปี 2559 โดยกระบวนการผลิตใช้เครื่องจักรและเทคโนโลยีที่ทันสมัย มีการใช้โปรแกรม SCADA ที่เชื่อมต่อเครื่องจักรทุกเครื่องและอุปกรณ์ จุดเด่นคือมีการติดตั้งเครื่องเทอร์โมมิเตอร์อินฟาเรดในการตรวจสอบอุณหภูมิสินค้าด้วยระบบออนไลน์เพื่อแสดงผลแบบเรียลไทม์ และมีการใช้ Smart QC ซึ่งเป็นเครื่องจักรตรวจสอบอัตโนมัติแบบ Visual Inspector ในการตรวจสอบและคัดแยกคุณภาพสินค้าที่ไม่ผ่านเกณฑ์ออก เพื่อให้ผู้บริโภคได้รับสินค้าที่มีคุณภาพดีสม่ำเสมอ และมั่นใจในความปลอดภัยอาหาร
สำหรับสินค้าหลักของโรงงาน ได้แก่ ขนมปังเบอร์เกอร์ และขนมปังฮอทดอก โดยมีกำลังการผลิต 480,000 ชิ้นต่อวัน ซึ่งเป็นการผลิตเพื่อส่งต่อไปยังโรงงานอาหารในเครือ CPF เพื่อผลิตเป็นอาหารพร้อมรับประทาน ภายใต้ตราสินค้าซีพี เช่น เบอร์เกอร์ไก่ย่างถ่าน เบอร์เกอร์หมูซุปเปอร์สไปซี่ เวฟด็อกไส้กรอกชีส เป็นต้น
"บริษัทได้พัฒนาบุคลากรทุกระดับให้มีทักษะหลายด้าน (Multifunctional skills) พร้อมก้าวสู่ Thailand 4.0 ทำให้โรงงานมีประสิทธิภาพสูง โดยใช้คนเพียง 32 คน เทียบกับรงงานเบเกอรี่ทั่วไปที่ใช้คนมากกว่า 100 คน เช่น วิศวกรหนึ่งคนสามารถทำหน้าที่ควบคุมการผลิต บำรุงรักษาเครื่องจกร และควบคุมคุณภาพในเวลาเดียวกัน ซึ่งเป็นผลมาจากการออกแบบ ติดตั้งเครื่องจักรและซอฟต์แวร์ที่เป็นระบบอัตโนมัติและต่อเนื่อง ที่สำคัญคือ ลดการสัมผัสมือ" นายวีรชัย กล่าว
นอกจากนี้ การนำระบบ HACCP มาใช้ในโรงงานเพื่อค้นหาจุดควบคุมที่สำคัญ หรือ จุดวิกฤต (Critical Control Point; CCP) เพื่อควบคุมให้สินค้ามีความปลอดภัยต่อผู้บริโภค โดยบริษัทได้จัดตั้งคณะทำงานความปลอดภัยอาหาร (HACCP Team) เพื่อวิเคราะห์หาจุดวิกฤตทุกขั้นตอน ตั้งแต่วัตถุดิบ ขั้นตอนการผลิต การจัดจำหน่าย จึงประกันได้ว่าสินค้าที่ส่งมอบให้แก่ผู้บริโภค ถูกสุขลักษณะ และปลอดภัย
ความสำเร็จในการได้รับการรับรอง GMP และ HACCP ตามมาตรฐานอาหารสากล Codex สะท้อนให้เห็นศักยภาพในการผลิตอาหารให้มีคุณภาพ มาตรฐานและปลอดภัยตลอดห่วงโซ่อาหารซีพีเอฟ และสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภคเพิ่มมากยิ่งขึ้น