มติการประชุมคณะกรรมการตลาดหลักทรัพย์ประจำเดือนกันยายน

ข่าวทั่วไป Friday September 28, 2001 18:02 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--28 ก.ย.--ตลาดหลักทรัพย์ฯ
นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง กรรมการและผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์ เปิดเผยว่า ในการประชุมประจำเดือนกันยายน 2544 คณะกรรมการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ได้มีมติที่สำคัญ ได้แก่ การรับหลักทรัพย์ของบริษัท โฮม โปรดักส์ เซ็นเตอร์ จำกัด เป็นหลักทรัพย์จดทะเบียนจำนวน 60 ล้านหุ้นและหุ้นสามัญที่จะมีการเพิ่มทุนขายต่อประชาชนทั่วไปอีก 15 ล้านหุ้น อนุมัติหลักเกณฑ์การซื้อหุ้นคืนของบริษัทจดทะเบียน (Treasury Stock) โดยพิจารณาจากหลักเกณฑ์และคุณสมบัติของบริษัทที่จะออกโครงการซื้อหุ้นคืน การปรับปรุงเกณฑ์รับหลักทรัพย์ชั่วคราวเพื่อรองรับการลดหย่อนภาษีเงินได้นิติบุคคล ปรับปรุงเกณฑ์การรับบริษัทที่เกิดจากการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ รวมทั้งเพิ่มนิยามของผู้ถือหุ้นรายย่อย โดยหลักเกณฑ์ใหม่ดังกล่าวจะนำเสนอความเห็นชอบจาก ก.ล.ต.ต่อไป
1. มีมติให้รับหลักทรัพย์ของบริษัท โฮม โปรดักส์ เซ็นเตอร์ จำกัด เป็นหลักทรัพย์จดทะเบียน
คณะกรรมการตลาดหลักทรัพย์มีมติอนุมัติให้รับหุ้นสามัญของบริษัท โฮม โปรดักส์ เซ็นเตอร์ จำกัด เป็นหลักทรัพย์จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย โดยปัจจุบันบริษัทมีทุนชำระแล้วเป็นหุ้นสามัญ จำนวน 60 ล้านหุ้น มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 5 บาท รวม 300 ล้านบาท และจะเพิ่มทุนเพื่อเสนอขายหุ้นต่อประชาชนอีกจำนวน 15 ล้านหุ้น มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 5 บาท โดยมีบริษัท ยูไนเต็ด แอ๊ดไวเซอรี่ เซอร์วิส จำกัด เป็นที่ปรึกษาทางการเงิน ทั้งนี้ บริษัทฯ มีคุณสมบัติครบถ้วนตามเกณฑ์รับหลักทรัพย์จดทะเบียนแล้ว ยกเว้นเรื่องการกระจายการถือหุ้นรายย่อย ซึ่งบริษัทจะต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 6 เดือน นับจากวันที่ตลาดหลักทรัพย์แจ้งผลการพิจารณาให้ทราบ และให้กำหนด Silent Period ของหลักทรัพย์จำนวน 35% ของทุนชำระแล้วหลังเสนอหุ้นต่อประชาชนเป็นเวลา 6 เดือน นอกจากนี้ ยังให้บริษัทแต่งตั้งบริษัทศูนย์รับฝากหลักทรัพย์ (ประเทศไทย) จำกัด หรือบุคคลภายนอกที่ตลาดหลักทรัพย์ให้ความเห็นชอบทำหน้าที่เป็นนายทะเบียนหลักทรัพย์ของบริษัทให้แล้วเสร็จก่อนการเสนอขายหุ้นต่อประชาชนด้วย
2. อนุมัติหลักเกณฑ์การซื้อหุ้นคืนของบริษัทจดทะเบียน (Treasury Stock)
ตามที่พระราชบัญญัติมหาชน (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2544 ได้อนุญาตให้บริษัทมหาชนสามารถซื้อหุ้นคืนเพื่อบริหารเงินของบริษัทได้ โดยรายละเอียดจะกำหนดไว้ในกฎกระทรวงซึ่งคาดว่าจะมีผลใช้บังคับในเร็ว ๆ นี้ นั้น คณะกรรมการตลาดหลักทรัพย์จึงเห็นควรกำหนดหลักเกณฑ์การซื้อหุ้นคืนของบริษัทจดทะเบียนโดยใช้แนวทางเดียวกับกฎกระทรวง โดยจะกำหนดหลักเกณฑ์เพิ่มเติมดังนี้
1. การซื้อหุ้นคืนของบริษัทจดทะเบียนจะต้องไม่ทำให้บริษัทจดทะเบียนมีสัดส่วนการถือหุ้นรายย่อยต่ำกว่าเกณฑ์ดำรงสถานะที่ตลาดหลักทรัพย์กำหนด (15%)
2. ห้ามบริษัทจดทะเบียนซื้อ/ขายหุ้นคืน :
- ห้ามซื้อ/ขายในช่วงที่มีการประกาศข้อมูลที่มีผลกระทบต่อราคาและสิทธิประโยชน์ของผู้ ถือหุ้น เช่น ช่วงก่อนการส่งงบการเงิน การเพิ่มทุน เป็นต้น โดยให้เป็นไปตามแนวทางปฏิบัติเกี่ยวกับการเปิดเผยสารสนเทศของบริษัทจดทะเบียน
- ห้ามซื้อ/ขายกับบุคคลที่ตนรู้ว่าเป็นผู้ที่เกี่ยวข้อง (Connected person)
3. การเปิดเผยข้อมูล
3.1 บริษัทจดทะเบียนต้องเปิดเผยมติคณะกรรมการที่อนุมัติโครงการซื้อหุ้นคืน ทันทีในวันที่ที่ประชุม คณะกรรมการมีมติ หรืออย่างช้าไม่เกินกว่าวันทำการถัดไปก่อนเปิดซื้อขายไม่น้อยกว่า 1 ชั่วโมง โดยเปิดเผยข้อมูลตามแนวทางที่กำหนดในกฎกระทรวง ดังนี้
- ข้อมูลแสดงกำไรสะสมของบริษัทและความสามารถในการชำระหนี้ของบริษัทที่ถึง
กำหนด ภายใน 6 เดือนข้างหน้า นับแต่วันที่จะซื้อหุ้นคืน
- เหตุผลในการซื้อหุ้นคืนและมติคณะกรรมการที่ให้ซื้อหุ้นคืน
- วงเงินที่กันไว้เพื่อการซื้อคืน
- วิธีการในการซื้อหุ้น จำนวนหุ้นและช่วงระยะเวลาที่จะซื้อหุ้นคืน
- วิธีการกำหนดราคาหุ้นที่จะซื้อคืน โดยเปิดเผยราคาตลาดเฉลี่ยย้อนหลัง 30 วัน เปรียบเทียบด้วย
- ผลกระทบต่อผู้ถือหุ้นและบริษัทภายหลังเมื่อซื้อหุ้นคืน
- การจำหน่ายและการตัดหุ้นที่ซื้อคืน โดยระบุจำนวน วิธีการ ระยะเวลาเริ่มจำหน่าย และวิธีการคำนวณราคาหุ้นที่จะจำหน่ายคืน รวมถึงนโยบายในการตัดหุ้นที่ซื้อคืนและการลดทุน
3.2 การรายงานผลการซื้อและขายหุ้นคืน :
- กรณีซื้อหรือขายหุ้นผ่านตลาดหลักทรัพย์ : ให้บริษัทรายงานผลการซื้อและขายหุ้นคืนภายในวันที่ทำรายการหรืออย่างช้าภายในวันทำการถัดไปก่อนเปิดซื้อขายไม่น้อยกว่า 1 ชั่วโมง โดยเปิดเผยรายละเอียดจำนวนหุ้นที่ซื้อหรือขาย ราคาสูงสุด/ต่ำสุด และมูลค่ารวมของหุ้นที่ซื้อหรือขาย
- กรณีเสนอซื้อจากผู้ถือหุ้นทั่วไป : ให้บริษัทจดทะเบียนรายงานผลการซื้อหรือขายหุ้นคืนภายใน 5 วันทำการ นับจากวันที่เกิดรายการ และเปิดเผยข้อมูลเช่นเดียวกับการทำรายการผ่านตลาดหลักทรัพย์ทั้งนี้ ตลาดหลักทรัพย์จะนำหลักเกณฑ์การซื้อหุ้นคืนนี้เสนอขอความเห็นชอบจากคณะกรรมการ ก.ล.ต.ต่อไป
3. ปรับปรุงเกณฑ์การรับหลักทรัพย์และเกณฑ์การกระจายรายย่อยของบริษัทจดทะเบียน
ตามที่คณะกรรมการตลาดหลักทรัพย์เคยมีมติเกี่ยวกับการแก้ไขเกณฑ์รับหลักทรัพย์ให้สอดคล้องกับมาตรการพัฒนาตลาดทุนและเพื่อรองรับการลดหย่อนภาษีเงินได้นิติบุคคลในเดือนมิถุนายนและกรกฎาคม 2544 นั้น คณะกรรมการ กลต. ได้พิจารณาแล้วมีความเห็นให้ตลาดหลักทรัพย์ทบทวนในบางประเด็น ซึ่งคณะกรรมการตลาดหลักทรัพย์ได้พิจารณาแล้วมีความเห็นสรุปได้ ดังนี้
3.1. ปรับปรุง เกณฑ์รับหลักทรัพย์ชั่วคราวเพื่อรองรับการลดหย่อนภาษีเงินได้นิติบุคคล
กำหนดขนาดทุนชำระแล้วของบริษัทที่จะเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ว่าต้องมากกว่าหรือเท่ากับ 200 ล้านบาท และทุนชำระแล้วของบริษัทใน MAI ว่าต้องน้อยกว่า 200 ล้านบาท และเมื่อบริษัทใน MAI มีทุนเพิ่มขึ้นจนเกินกว่า 200 ล้านบาท บริษัทดังกล่าวจะต้องย้ายจาก MAI ไปยังตลาดหลักทรัพย์ เว้นแต่ทุนที่เพิ่มหลังเข้า MAI ไม่เกินกว่าทุนที่เพิ่มเพื่อเข้า MAI และทุนชำระแล้วต่ำกว่า 250 ล้านบาท
3.2. ปรับปรุงเกณฑ์การรับบริษัทที่เกิดจากการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ
ตามที่คณะกรรมการตลาดหลักทรัพย์เคยมีมติว่าบริษัทที่เกิดจากการแปรรูปรัฐวิสาหกิจสามารถยื่นคำขอและให้ตลาดหลักทรัพย์รับเป็นหลักทรัพย์จดทะเบียนไว้ก่อน โดยยังไม่ต้องยื่นขออนุญาตเสนอขายหุ้นจาก ก.ล.ต. แต่ให้บริษัทเสนอขายหุ้นต่อประชาชนทั่วไปภายในระยะเวลาที่คณะกรรมการตลาดหลักทรัพย์กำหนด นั้น
คณะกรรมการตลาดหลักทรัพย์เห็นควรเพิ่มเติมให้กำหนดกรอบเวลาเมื่อบริษัทที่เกิดจากการแปรรูปรัฐวิสาหกิจเริ่มกระจายหุ้นแก่ประชาชน จะต้องดำเนินการให้มีคุณสมบัติครบถ้วนภายใน 1 ปี โดยคณะกรรมการตลาดหลักทรัพย์มีอำนาจผ่อนผันระยะเวลากระจายหุ้นเมื่อครบกำหนดดังกล่าวได้ในกรณีที่มีเหตุสุดวิสัยที่จำเป็นและสมควร และไม่กระทบต่อความน่าเชื่อถือของตลาดหลักทรัพย์โดยรวม
3.3. ปรับปรุงเกณฑ์กระจายรายย่อยของบริษัทจดทะเบียนปรับปรุงนิยามผู้ถือหุ้นรายย่อย โดยให้นับการถือหุ้นของผู้ดำรงตำแหน่งบริหารสี่รายแรกนับต่อจากผู้จัดการและเทียบเท่าผู้ดำรงตำแหน่งบริหารรายที่สี่ทุกรายเป็น Strategic shareholders ด้วย ดังนั้นจึงทำให้ผู้เข้าข่ายที่ไม่นับรวมเป็นรายย่อย ได้แก่
1. รัฐบาล รัฐวิสาหกิจ และหน่วยงานของรัฐ
2. คณะกรรมการและผู้บริหารของบริษัท นับรวมผู้ที่เกี่ยวข้อง
3. ผู้ถือหุ้นที่ถือหุ้นในสัดส่วนเกินกว่าร้อยละ 5 ของทุนชำระแล้วขึ้นไป โดยนับรวมการถือหุ้นของผู้ที่เกี่ยว ข้องด้วย แต่ทั้งนี้ไม่รวม บริษัทหลักทรัพย์ บริษัทประกันชีวิต บริษัทประกันภัย กองทุนรวม กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ กองทุนประกันสังคม กองทุนบำเหน็จ / บำนาญ
4. ผู้ถือหุ้นที่ไม่เข้าข่ายตามข้อ 1-3 แต่มีเหตุอันทำให้เชื่อได้ว่าถือครองหุ้นในลักษณะ Strategic Holdings
ทั้งนี้ ตลาดหลักทรัพย์จะนำหลักเกณฑ์ที่ปรับปรุงใหม่ดังกล่าวเสนอขอความเห็นชอบจากคณะกรรมการ ก.ล.ต.ต่อไป
4. การเพิกถอนหลักทรัพย์ของบริษัท ไทยโมเดิร์น พลาสติก อินดัสตรี จำกัด (มหาชน)เนื่องจากบริษัท ไทยโมเดิร์น พลาสติก อินดัสตรี จำกัด (มหาชน) (TM) ได้เข้าข่ายอาจถูกเพิกถอนหลักทรัพย์ตั้งแต่วันที่ 8 มิถุนายน 2541 เนื่องจากบริษัทเปิดเผยงบการเงินประจำปีสิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม 2540 ไม่ตรงต่อความเป็นจริง อันอาจมีผลร้ายแรงต่อสิทธิประโยชน์หรือการตัดสินใจของผู้ลงทุนหรือการเปลี่ยนแปลงราคาหลัก
ทรัพย์ของบริษัท จากนั้น TM ได้เข้าสู่ประบวนการฟื้นฟูกิจการตามกฎหมายล้มละลาย และผลจากการปรับปรุงฐานะการเงินทำให้ TM มีส่วนของผู้ถือหุ้นติดลบ ซึ่งเข้าข่ายอาจถูกเพิกถอนหลักทรัพย์ และต่อมาผู้บริหารแผนของบริษัทได้แจ้งว่า บริษัทได้ขายสินทรัพย์หลักของบริษัท อันมีผลทำให้บริษัทไม่มีรายได้จากการดำเนินงานหลังการขายสินทรัพย์และรายได้จากการขายสินทรัพย์ทั้งหมดไม่เพียงพอชำระหนี้ อันมีผลทำให้ TM ขาดคุณสมบัติในการเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์
ดังนั้น คณะกรรมการตลท.อาศัยอำนาจตามมาตรา 171 (4) แห่งพรบ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 จึงมีมติเพิกถอนหลักทรัพย์ของบริษัทไทยโมเดิร์น พลาสติก อินดัสตรี จำกัด (มหาชน) หรือ TM ออกจากการเป็นหลักทรัพย์จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2544 เป็นต้นไป
ต้องการข้อมูลเพิ่มเติมติดต่อส่วนประชาสัมพันธ์ ฝ่ายสื่อสารองค์กร : ลดาวัลย์ ไทยธัญญพานิช โทร. 0-2229 - 2036 / กุลวิดา จินตกะวงส์ โทร. 0-2229 - 2037 / จิวัสสา ติปยานนท์ โทร. 0-2229 - 2039--จบ--
-สส-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ