กรุงเทพฯ--24 เม.ย.--แบงค์คอก ไรเตอร์ แอนด์ พาร์ทเนอร์ส
ม.ธุรกิจบัณฑิตย์ (DPU) ปฎิวัติวงการการศึกษา ก้าวสู่การเป็น "Startup University" มุ่งพัฒนาศักยภาพการศึกษาไทยตอบโจทย์นโยบายรัฐบาลยุค "Thailand 4.0" อย่างมีประสิทธิภาพ ชูแนวคิด "ความสำเร็จ ไม่ต้องรอให้เรียนจบ" เปลี่ยนห้องเรียนเป็น Makerspace เน้นลงมือปฎิบัติจริง พร้อมวางรากฐานความรู้เรื่อง Innovation, Technology, Creativity สอดรับความต้องการของโลกธุรกิจในยุคปัจจุบัน
นายสิริเกียรติ์ บุญวรเศรษฐ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัทบริดจ์ คอนซัลติ้ง จำกัด (Bridge Consulting Co., Ltd.) และกรรมการบริหาร มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ เปิดเผยว่า จากนโยบายของรัฐบาลในการพัฒนาเศรษฐกิจประเทศก้าวสู่ Thailand 4.0 ด้วยการกำหนดทิศทางโครงสร้างเศรษฐกิจ ไปสู่ "Value–Based Economy" หรือ "เศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม" โดยมีฐานคิดหลัก คือ เปลี่ยนจากการผลิตสินค้า "โภคภัณฑ์" ไปสู่สินค้าเชิง "นวัตกรรม" เปลี่ยนจากการขับเคลื่อนประเทศด้วยภาคอุตสาหกรรม ไปสู่การขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยี ความคิดสร้างสรรค์ และนวัตกรรม รวมทั้งเปลี่ยนจากการเน้นภาคการผลิตสินค้า ไปสู่การเน้นภาคบริการมากขึ้น ส่งผลให้ภาคธุรกิจต้องการบุคลากรที่มีทักษะของศตวรรษที่ 21 ได้แก่ความคิดสร้างสรรค์ จินตนาการและนวัตกรรม การแก้ไขปัญหา การคิดริเริ่ม เพื่อให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของโลกธุรกิจในยุคปัจจุบัน
ด้วยเหตุนี้ บริษัท บริดจ์ คอนซัลติ้ง จำกัด (Bridge Consulting Co., Ltd.) ผู้ให้คำปรึกษาด้านการพัฒนาหลักสูตรการศึกษาให้กับ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ (DPU) จึงได้ร่วมทำการปรับโฉมหลักสูตรการศึกษาใหม่ มุ่งสู่การเป็น "Startup University" แห่งแรกในประเทศ เพื่อตอบรับกับยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลง และเพื่อสอดรับกับนโยบายรัฐบาลในการพัฒนาศักยภาพเด็กไทย ให้ก้าวเข้าสู่ยุค Thailand 4.0 ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ดังนั้น แนวคิดใหม่ของการเรียนในมหาวิทยาลัย จึงควรปรับการเรียนการสอนจากเดิมที่ครูผู้สอนมักเน้นให้ท่องจำเป็นหลัก เปลี่ยนเป็นการเรียนการสอนที่ให้นักศึกษาเป็นศูนย์กลาง โดยครูผู้สอนเป็นคนให้คำแนะนำ และจำลองสถานการณ์การทำงานจริงมาอยู่ที่มหาวิทยาลัย ซึ่งนักศึกษาจะได้เรียนรู้จากการทำงานจริง มีโอกาศได้ทดลองปฏิบัติและเรียนรู้ปัญหาที่เกิดขึ้นจริง โดยการเรียนแบบนี้จะฝึกนักศึกษาสามารถแก้ปัญหา มีความริเริ่มสร้างสรรค์ และได้ทำงานจริงที่แต่ละคนชอบและถนัด ซึ่งการทำงานดังกล่าวจะเกิดขึ้นจากการที่นักศึกษาได้ค้นหาตนเอง คิด และสร้างธุรกิจจริงที่ใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีเป็นตัวขับเคลื่อน หรือที่เรียกว่า Startup ขึ้นมาตั้งแต่ปี 2 และปี 3 ที่เรียนในมหาวิทยาลัย
ทั้งนี้ รูปแบบการศึกษาของธุรกิจบัณฑิตย์ในแนวคิดใหม่ (DPU/Way) คือ การเป็นมหาวิทยาลัยที่ผลักดันให้นักศึกษาสามารถสร้างความสำเร็จด้านการทำงานและประกอบธุรกิจจริงตั้งแต่อยู่ในรั้วมหาวิทยาลัย "ความสำเร็จ ไม่ต้องรอให้เรียนจบ" โดยนักศึกษาสามารถเริ่มต้น (Startup) ประกอบธุรกิจได้ตั้งแต่อยู่ในรั้วมหาวิทยาลัย โดย DPU จะเป็นผู้สร้าง Ecosystem (ระบบ อุปกรณ์ เครื่องมือ บุคลากร) ที่พร้อมสนับสนุนนักศึกษาให้ประสบความสำเร็จก่อนนักศึกษาของมหาวิทยาลัยอื่นๆ
"หากมองด้านระบบการศึกษาไทยที่ผ่านมา ส่วนใหญ่เป็นหลักสูตรที่ใช้กันมากว่า 10 ปี โดยหลักสูตรเหล่านั้นถูกสร้างขึ้นมาจากยุคอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นยุคที่ต้องการองค์กรขนาดใหญ่เพื่อต่อสู้กันที่ scale หรือขนาดขององค์กร ให้ได้ประสิทธิภาพสูงสุด ดังนั้นหลักสูตรยุคอุตสาหกรรมจึงได้ถูกสร้างขึ้นเพื่อให้นักศึกษาจบไปเป็นลูกจ้างขององค์กรขนาดใหญ่นั้นๆ ซึ่งปัจจุบัน หลักสูตรดังกล่าวไม่ตอบโจทย์กับยุคของ startup ที่ยิ่งนับวันยิ่งเติบโตมากขึ้นเรื่อยๆ
อีกประการหนึ่ง การศึกษาไทยยังเป็นระบบที่ใช้อาจารย์และหนังสือเรียนเป็นศูนย์กลาง มากกว่าใช้นักศึกษาเป็นศูนย์กลาง ปัญหาก็คือในขณะที่ พฤติกรรมและความต้องการของนักศึกษาเปลี่ยนไปตามเทรนด์ใหม่ (Generation Z) ของโลกอย่างรวดเร็ว ซึ่งตัวหลักสูตร รวมถึงอาจารย์และหนังสือเรียนไม่สามารถปรับตามโลกได้ทัน ดังนั้น ม ธุรกิจบัณฑิตย์จึงปรับทั้งหลักสูตร วิธีการเรียนการสอน และสภาพแวดล้อมให้เหมาะกับนักศึกษาในยุคศตวรรษที่ 21 นั่นเอง"
สำหรับหลักสูตรใหม่ของม. ธุรกิจบัณฑิตย์ (DPU) จะเน้นการเรียนเป็นเน้นการริเริ่ม สร้างและพัฒนา เปลี่ยนจากการให้ความสำคัญกับการวัดผลจากเกรด การจบการศึกษาหรือปริญญาบัตร (Graduation) มาเป็นการสร้างความสามารถและพัฒนาความสำเร็จให้กับนักศึกษา ด้วยการบูรณาการสร้างความสำเร็จตั้งแต่อยู่ในรั้วมหาวิทยาลัยเข้าไปยังหลักสูตร โดยปรับใช้รูปแบบการเรียนการสอนแบบ Finland Model คือลดการสอนแบบรายหัวข้อเป็นการสอนตามสถานการณ์และแฝงความรู้ตามหัวข้อต่าง ๆ อยู่ในสถานการณ์นั้น ๆ เช่น การแข่งขันการบังคับ Robot สามารถสร้างความรู้แก่นักศึกษาในหลายหัวข้อในวิชาคณิตศาสตร์ เช่น มุม (Angles) พิกัด (Coordinates) บัญญัติไตรยางค์ (Extrapolation) ความสัมพันธ์ระหว่างระยะทาง ความเร็วและเวลา (Relationship between speed, distance and time) การทำ Optimization
ที่สำคัญ หลักสูตรใหม่มีการวางรากฐานความรู้เรื่อง Innovation, Technology, Creativity ให้เข้าไปอยู่ในทุก ๆ วิชาของทุกวิทยาลัยและคณะ โดยนักศึกษาทุกคณะจะได้เรียน และฝึกการใช้งานเทคโนโลยีต่าง ๆ เช่น Artificial Intelligence/Big Data, Robot, Virtual Reality/Artificial Reality, Brain Computer Interface (BCI) รวมถึงนักศึกษาทุกคนจะได้มีโอกาสพัฒนาทักษะการเขียนโปรแกรม เช่น Python, Java, Arduino ทั้งนี้ เนื่องจากการเขียนโปรแกรมคือการสร้างและพัฒนาสิ่งใหม่ สอดคล้องกับแนวคิดการเป็น Makers และความรู้ด้าน innovation & technology ยังถือเป็นทักษะสำคัญอย่างยิ่งที่เหล่า Startup ที่ประสบความสำเร็จจะขาดไม่ได้
ทั้งนี้ การปรับวิธีการสอนของอาจารย์จากการสอนเป็นการสร้างแรงบันดาลใจและให้คำแนะนำ ด้วยการลดการสอนแบบ Lecture เปลี่ยนเป็นการสอนแบบการสร้าง การคิดริเริ่มโดยตัวนักศึกษา ลดการสอนแบบอธิบายทฤษฎี แต่เปลี่ยนเป็นการกระตุ้นและสนับสนุนให้นักศึกษาคิดวิธีหรือทฤษฎีของตัวเองขึ้นมาได้เอง เปลี่ยนสื่อการสอนแบบฉายสไลด์จาก powerpoint เป็นการสอนโดยใช้ Multimedia เช่น VDO, Animation, Infographic, Gamification, Workshop การเปลี่ยนการสอนในห้องเรียน เป็นการสอนนอกห้องเรียน เช่น สถานประกอบการ ห้อง workshop เป็นต้น
นอกจากนี้ ม.ธุรกิจบัณฑิตย์ (DPU) ยังเปลี่ยนห้องเรียนเป็นห้องปฎิบัติการ หรือ Makerspace โดยจะเป็นสถานที่ที่นักศึกษาจากหลากหลายคณะ หลากหลายพื้นฐานความรู้ รวมถึงบุคคลภายนอกที่มีความต้องการในการสร้างธุรกิจหรือสร้างโครงการของตัวเอง โดยเฉพาะด้าน Innovation และ Technology สามารถเข้ามาทำงานร่วมกันเพื่อสร้างนวัตกรรมต่าง ๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อภาคธุรกิจและภาคสังคมได้ โดยใน Makerspace มหาวิทยาลัยจะสนันสนุนทั้งด้านการสร้างไอเดีย อุปกรณ์ทั้ง Hardware และ Software เช่น 3D Printers, 3D Scanners, Laser Cutters, 3D Design Software, Web Hosting และมี mentor คอยให้การสนับสนุน และช่วยเหลือเพื่อให้นักศึกษาสามารถนำโครงการที่วางแผนไว้มาสร้างได้สำเร็จอย่างเป็นรูปธรรม
นายสิริเกียรติ์ กล่าวต่อว่า สำหรับรูปแบบการเรียนการสอนตลอด 4 ปีนั้น แบ่งเป็น ปีที่ 1 ปีแห่งการสร้างแรงบันดาลใจ โดยเปลี่ยนการสอนตามลำดับขั้นตอนเดิม คือเริ่มจากเรียนวิชาพื้นฐานในปีแรก ๆ เป็นสอนแบบสร้างแรงบันดาลใจ (Inspiration) นำวิชาหลักสำคัญๆ ที่ต้องเรียนในปี 3 และ 4 มาเรียนในชั้นปีที่ 1 และมีการนำเอากรณีศึกษาของบุคคลที่ประสบความสำเร็จในด้านธุรกิจและด้านต่าง ๆ มาพูดคุยและให้คำแนะนำนักศึกษา รวมถึงการเปลี่ยนหมวดวิชาศึกษาทั่วไป (General Education) เป็นวิชาที่เน้น Innovation และ Technology เพื่อให้นักศึกษาเห็นโอกาสในการสร้างธุรกิจใหม่ ๆ และ/หรือโอกาสที่จะเข้าไปสร้างคุณค่าให้กับภาคธุรกิจและภาครัฐ
ปีที่ 2 ปีแห่งการค้นหาไอเดียทางธุรกิจ โดยนักศึกษาจะต้องสามารถทำแผนธุรกิจ แผนการเงิน แผนการตลาด สร้าง Prototype และทดสอบผลิตภัณฑ์และบริการ รวมถึงหาแหล่งเงินทุนเพื่อสร้างกิจการหรือโครงการของตัวเอง โดยกิจการหรือโครงการดังกล่าวเป็นกิจการที่หารายได้ และ/หรือสร้างคุณค่าให้ภาคธุรกิจหรือภาครัฐได้จริง และเป็นกิจการหรือโครงการที่เน้น Innovation และ Technology
ปีที่ 3 เป็นปีแห่งการนำไอเดียการประกอบธุรกิจหรือโครงการต่าง ๆ ที่คิดในปีที่ 2 มาสร้างขึ้นมาอย่างเป็นรูปธรรม และสามารถเริ่มปฏิบัติการได้ภายในปี ¬3 โดยการเรียนส่วนใหญ่เรียนจาก Capstone Class โดยหัวข้อเป็นหัวข้อที่นักศึกษาเลือกได้เอง (จากปีที่ 2) และปีที่ 4 เป็นปีแห่งการเรียนรู้นอกมหาวิทยาลัย คือการผลักดันให้กิจการหรือโครงการของตัวเองที่ได้เริ่มต้นในปีที่ 3 มาต่อยอดให้ประสบความสำเร็จมากยิ่งขึ้น และ/หรือการทำ Internship หรือ สหกิจ แบบเต็มปี
อนึ่ง บริษัท บริดจ์ คอนซัลติ้ง จำกัด (Bridge Consulting) เป็นบริษัทที่ปรึกษาด้านยุทธศาสตร์ การเงินและการจัดการ ซึ่งครอบคลุม Strategic Development, Corporate Restructuring, Business development, Corporate Finance และ Value Based Management ให้กับองค์กรชั้นนำหลายแห่งทั้งในประเทศและภูมิภาค มีประสบการณ์ในอุตสาหกรรมสำคัญๆ อาทิ ธนาคาร ขนส่ง สินค้าอุปโภคและบริโภค สินค้าอุตสาหกรรม ยานยนต์ ค้าปลีก พลังงาน เกษตร และหน่วยงานของรัฐวิสาหกิจ ให้องค์กรชั้นนำของประเทศ เช่น ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) บริษัท ปตท จำกัด (มหาชน) กลุ่ม SCG การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย