กรุงเทพฯ--24 เม.ย.--ทีโอที
วันนี้ (22 เมษายน 2560) ที่หมู่บ้านควนดินดำ อำเภอมะนัง จ.สตูล กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม(ดศ.) โดย ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เป็นประธาน แถลงข่าวกิจกรรม show case "เน็ตประชารัฐ@สตูล การพัฒนาที่ยั่งยืน" โครงการยกระดับโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคมเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ เพื่อส่งเสริมเศรษฐกิจฐานรากของประเทศ ให้เข้มแข็งลดความเหลื่อมล้ำและสร้างโอกาสในการเข้าถึงโครงข่ายอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง โดยมี น.อ.สมศักดิ์ ขาวสุวรรณ์ รองปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม นายภัทรพนธ์ รัตนพิเชฏฐชัย ผู้ว่าราชการจังหวัดสตูล และนายมนต์ชัย หนูสง กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ทีโอที พร้อมผู้บริหารกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม หัวหน้าส่วนราชการจังหวัดสตูล ผู้บริหารระดับสูง บมจ.ทีโอที และชุมชนหมู่บ้านควนดินดำร่วมงาน
ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กล่าวว่า การจัดกิจกรรม Show case ที่จ.สตูล พร้อม Conference ไปยังหมู่บ้าน 6 จังหวัด 5 ภูมิภาค ทั้ง ราชบุรี, หนองบัวลำภู, พะเยา, สระแก้ว, นครศรีธรรมราช และกระบี่ เพื่อให้ชุมชนรับรู้ถึงโครงการยกระดับโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคมเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ หรือโครงการเน็ตประชารัฐ ซึ่งเป็นนโยบายหลักของรัฐบาลโดยท่านนายก รัฐมนตรีที่มีเป้าหมายในการสร้างความเท่าเทียมและทั่วถึงในการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงของประชาชนตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ในการนำเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามามีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนนโยบายไทยแลนด์ 4.0 สร้างประโยชน์สูงสุดให้กับชุมชน ซึ่งตามเป้าหมายภายในปี 2560 นี้ บมจ.ทีโอที จะเป็นผู้วางระบบเคเบิลใยแก้วนำแสงที่มีความเร็ว คุณภาพสูง ความยาวรวมกว่า 131,320 กิโลเมตร ไปตามหมู่บ้านที่ไม่มีอินเทอร์เน็ตจำนวน 24,700 หมู่บ้านภายในธ.ค.60 นี้ ซึ่งจะทำให้คนในชุมชนสามารถใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีดิจิทัลในการดำรงชีวิตได้ทุกมิติ ทั้งการเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร การศึกษา การสาธารณสุข การท่องเที่ยว การสร้างอาชีพ สร้างรายได้ ส่งเสริมด้านเศรษฐกิจให้กับชุมชน รวมถึงการเข้าถึงบริการภาครัฐ ซึ่งจะส่งผลให้คนในชุมชนมีคุณภาพชีวิตที่ดี
ทั้งนี้ จังหวัดสตูลมีความโดดเด่นในด้านเศรษฐกิจท่องเที่ยวมีพื้นดินอยู่ใต้ทะเลมาร่วม 500 ล้านปี โดยมีการพบซากดึกดำบรรพ์ที่มีความสำคัญและโดดเด่นทั้งธรณีวิทยาและแหล่งเรียนรู้ ซึ่งเมื่อวันที่ 14 สิงหาคม 2557 ประเทศไทยได้ประกาศจัดตั้งอุทยานธรณีสตูลขึ้น นับเป็นพื้นที่เดียวที่มีฟอสซิลยุคต่างๆอยู่ในหินและภูเขาจำนวนมาก นอกจากนี้ สตูล ยังมีธรรมชาติและทะเลสวยงามเทียบเท่าสถานที่ท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงจากทั่วโลก รายล้อมด้วยหมู่เกาะทะเลใสมัลดีฟส์ของเมืองไทย อย่างไรก็ตามจากสถิติปี 2558 สตูลมีนักท่องเที่ยวรวมทั้งหมดเพียง 932,911 คน โดยเป็นชาวไทยร้อยละ 88 และชาวต่างประเทศเพียงร้อยละ 12 ซึ่งเน็ตประชารัฐจะเป็นประโยชน์ต่อชุมชนทำให้สตูลเป็นที่รู้จักของคนไทยกว่า 65 ล้านคน และคนทั่วโลกว่า 4,200 ล้านคน และขณะเดียวกัน
ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กล่าวเพิ่มเติมว่า ด้วยเทคโนโลยีที่ก้าวหน้ามีการใช้งานในทุกระดับไม่เพียงแต่องค์กร แต่ลงไปถึงตัวบุคคล ทุกภาคอุตสาหกรรม ทุกภาคบริการ และทุกธุรกิจ ซึ่งการจะขับเคลื่อนประเทศไปสู่ไทยแลน์ 4.0 นอกจากการวางโครงสร้างพื้นฐานระบบเคเบิล ใยแก้วนำแสงแล้ว กระทรวงดิจิทัลได้มีความร่วมมือกับส่วนงานต่าง ๆ เพื่อผลักดันทั้งในเรื่องของดิจิทัลชุมชน สนับสนุนให้เกิด e-Commerce เพื่อให้ชุมชนขายผลิตภัณฑ์และสินค้าต่างๆ ระบบตลาดกลาง e-Marketplace / ระบบการจ่ายเงิน e-Payment และระบบการขนส่ง e-Logistics โดยมีศูนย์ดิจิทัลชุมชน 2,280 แห่งทั่วประเทศ ของกระทรวง เป็นศูนย์กลางในการส่งเสริมให้เกิดการทำ e-Commerce สร้างรายได้ให้กับชุมชน ระบบ e-Health โดยร่วมมือกับกระทรวงสาธารณสุขในการร่วมพัฒนาระบบการแพทย์ทางไกล (telemedicine) ในการเชื่อมโยงและบูรณาการด้านข้อมูลทางการแพทย์และสาธารณสุข ส่งผลให้ประชาชนได้รับการบริการทางการแพทย์ที่มีคุณภาพและทั่วถึง ระบบ e-Education ที่จะทำให้เยาวชนสามารถเรียนรู้ด้วยตนเองและเท่าเทียมกับเด็กในทุกภูมิภาค และ Local e-Government เพื่อให้ชุมชนท้องถิ่นสามารถบูรณาการระหว่างหน่วยงานในการทำงานแบบอัจฉริยะในการให้บริการ โดยมีชุมชนและประชาชนเป็นศูนย์กลาง
น.อ.สมศักดิ์ ขาวสุวรรณ์ รองปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กล่าวว่า ตามเป้าหมายโครงข่ายเน็ตประชารัฐ จะติดตั้งอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงให้ครอบคลุมหมู่บ้านในพื้นที่ที่ไม่มีศักยภาพเชิงพาณิชย์และ ยังไม่มีบริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงจำนวน 24,700 หมู่บ้านทั่วประเทศที่ระดับความเร็วไม่ต่ำกว่า 30 Mbps/10 Mbps (Download/Upload) พร้อมจัดจุดให้บริการอินเทอร์เน็ตไร้สายความเร็วสูง อย่างน้อยหมู่บ้านละ 1 จุด โดยไม่คิดค่าใช้จ่าย เพื่อให้ชุมชนได้ใช้ประโยชน์จากอินเทอร์เน็ตร่วมกัน ทั้งนี้ โครงการเน็ตประชารัฐได้เปิดอย่างเป็นทางการเมื่อ 26 ธ.ค.2559 พร้อมการลงนามบันทึกข้อตกลงคุณธรรม (Integrity Pact) เพื่อร่วมมือป้องกันและต่อต้านการทุจริตในการดำเนินโครงการร่วมกับองค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่น รวมถึงการลงนามบันทึกข้อตกลงการบูรณาการการใช้ทรัพย์สินของรัฐให้เกิดประโยชน์สูงสุดระหว่างกระทรวงดิจิทัล การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค และการไฟฟ้านครหลวง นอกจากนี้ เพื่อให้เกิดการใช้ประโยชน์จากโครงการฯ อย่างมีประสิทธิภาพ กระทรวงฯ ได้ผลักดันการให้ความรู้เกี่ยวกับการใช้ประโยชน์ของอินเทอร์เน็ตในทั้งชีวิตประจำวันและอาชีพ โดยการจัดหลักสูตรอบรมจากสถาบันวิชาการของ ทีโอที ให้กับกลุ่มเป้าหมายในพื้นที่ทั้งผู้นำชุมชน ผู้แทนชุมชน และตัวแทนชุมชน ในกลุ่มด้านการศึกษา กลุ่มด้านสาธารณสุข และกลุ่มเศรษฐกิจ ทั้งด้านการเกษตร การท่องเที่ยว เป็นต้น สำหรับหลักสูตรอบรมประกอบด้วยการใช้อินเทอร์เน็ต การใช้งาน Google App. การเปิดร้านค้าออนไลน์ การใช้งาน you tube และการรู้ทันภัยไซเบอร์ ซึ่งในการอบรมจะมีการสร้าง Face book ของกลุ่มในชุมชน เพื่อให้ชุมชนในแต่ละกลุ่มได้ใช้เป็นช่องทางในการสื่อสารระหว่างชุมชนและนอกชุมชนนำไปสู่การพัฒนาการใช้สื่อSocial Media ในการซื้อขายออนไลน์ เพื่อสร้างชุมชนให้เข็มแข็งด้วยคนในชุมชน ทั้งนี้ หลักสูตรที่อบรมจะจัดทำเป็นหลักสูตร e-Learning เพื่อ up loade ขึ้นบน Website เน็ตประชารัฐ เพื่อให้ชุมชนสามารถเรียนรู้และเข้าใจได้ด้วยตนเอง
ด้านนายมนต์ชัย หนูสง กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ทีโอที กล่าวว่า สำหรับความคืบหน้าโครงการฯทีโอที ได้ลงนามในสัญญากับบริษัทซึ่งชนะการประกวดราคาสำหรับงานซื้อเคเบิลใยแก้วนำแสง Optical Fiber Cable จาก The Consortium of B and K บริษัท ฟู่หนวน บิซิเนส จำกัด และกิจการร่วมไฟเบอร์ออฟติคไทย งานซื้ออุปกรณ์ข่ายสาย ODN จากบริษัท ลี้ คิม เทรดดิ้ง จำกัด บริษัท อินเตอร์ลิงค์ คอมมิวนิเคชั่น จำกัด (มหาชน)และบริษัท โกลบอล เมช จำกัด งานซื้ออุปกรณ์ OLT ONU พร้อมอุปกรณ์ประกอบ และงานซื้ออุปกรณ์ Switch งบ จากบริษัท แอ๊ดวานซ์อินฟอร์เมชั่นเทคโนโลยี (มหาชน) และงานซื้ออุปกรณ์กระจายสัญญาณแบบไร้สาย Wireless Access Point จากบริษัท เอสวีโอเอ จำกัด (มหาชน) และล่าสุดการจัดซื้อ Dropwire จากบริษัท เค.เอช.เอ็นจิเนียริ่ง 2000 จำกัด เป็นจำนวนเงินรวมประมาณ 3,200 กว่าล้านบาท ซึ่งต่ำกว่าราคากลางคิดเป็นประมาณร้อยละ 24.5 โดยจะมีการส่งมอบสินค้างวดแรกประมาณปลายเมษายน 2560 นี้ และจะเริ่มติดตั้งเคเบิลใยแก้วนำแสงเพื่อส่งมอบตามโครงการฯ ให้กับกระทรวงฯ ตามกรอบเวลาประมาณปลายเดือนพฤษภาคม 2560ทีโอที อย่างน้อย 3,000 หมู่บ้าน หลังจากนั้นจะส่งมอบทุกเดือนๆ จนครบทั้งหมด 24,700 หมู่บ้านภายในธันวาคม 2560 โดยแบ่งเป็นภาคเหนือจำนวน 4,398 หมู่บ้าน (18%) ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จำนวน 13,435 หมู่บ้าน (55%) ภาคตะวันออก จำนวน 1,542 หมู่บ้าน (6%) ภาคใต้จำนวน 4,398 หมู่บ้าน (18%) ภาคกลางจำนวน 2,072 หมู่บ้าน (8%) และนครหลวง จำนวน 81 หมู่บ้าน ทั้งนี้ เพื่อให้การติดตั้งอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงโครงการเป็นไปตามเป้าหมาย สำนักงานขายและบริการลูกค้าภูมิภาคทั่วประเทศของ ทีโอที ได้จัดประชุมชี้แจงทำความเข้าใจเกี่ยวกับโครงการ และกระบวนการตามขั้นตอนในการจัดซื้อจัดจ้างให้กับนิติบุคคลผู้ประกอบการในแต่ละพื้นที่ภูมิภาค เกี่ยวกับกรอบแนวทางมาตรฐานการดำเนินโครงกา ได้แก่งานแขวนสาย OFC งานติดตั้งตู้ Out Door Closure OLT/SWงานติดตั้งอุปกรณ์ปลายทางและระเบียบการพาดสายสื่อสารบนเสาไฟฟ้าของ กฟภ. รวมถึงการทำข้อตกลงคุณธรรม (Integrity Pact) ความร่วมมือป้องกันและต่อต้านการทุจริตในการจัดซื้อจัดจ้าง โดยภาคขายและบริการลูกค้าภูมิภาคที่ 2 (ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ) ได้จัดประชุมชี้แจงเมื่อวันที่ 19 เมษายน 2560 ที่ผ่านมาสำหรับภูมิภาคที่เหลือจะดำเนินการตั้งแต่ปลายเดือนเมษายนถึงต้นเดือนพฤษภาคม นี้ นอกจากนี้เพื่อให้การบริหารจัดการโครงการฯ มีประสิทธิภาพสูงสุด ทีโอที ได้จัดเตรียมระบบบริหารข้อมูลโครงข่าย ระบบบริหารจัดการบริการซึ่งจะควบคุมการติดตั้งและการส่งมอบบริการปลายทาง ระบบรักษาความปลอดภัยการเข้าใช้งานอินเทอร์เน็ต และระบบบริหารจัดการและจัดเก็บข้อมูลจราจรทางคอมพิวเตอร์ เพื่อรองรับโครงการฯ
สถานภาพข้อมูลจังหวัดสตูล สภาพพื้นที่ส่วนใหญ่มีลักษณะเป็นเกาะ ประชากรประกอบอาชีพเกษตรกรรม และประมงทะเล จังหวัดสตูล ประกอบด้วย 7 อำเภอ 36 ตำบล 259 หมู่บ้าน มีประชากรทั้งสิ้นจำนวน 317,199 คน มีรายได้เฉลี่ย/เดือน/ครัวเรือน 9,337.58 บาท สำหรับ บ้านควนดินดำ ต.ปาล์มพัฒนา มีจำนวน 10 หมู่บ้าน มีจำนวนครัวเรือน 3,527 ครัวเรือน จำนวนประชากร 10,315 คน