กรุงเทพฯ--26 เม.ย.--กรมฝนหลวงและการบินเกษตร
กรมฝนหลวงและการบินเกษตร ประสานความร่วมมือกับจังหวัดอุบลราชธานี และสำนักชลประทานที่ 7 กรมชลประทาน ช่วยเหลือเกษตรกรเพิ่มน้ำในพื้นที่บรรเทาปัญหา "สาหร่ายบลูม"
วันที่ 24 เมษายน 2560 เวลา 12.00 น. นายสุรสีห์ กิตติมณฑล อธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร กล่าวว่าหลังจากที่กรมฝนหลวงและการบินเกษตรได้วางแผนช่วยเหลือเกษตรกรในพื้นที่ลุ่มรับน้ำเขื่อนลำโดมใหญ่ อำเภอเดชอุดม จังหวัดอุบลราชธานี ซึ่งเกิดจากปริมาณน้ำไม่เพียงพอต่อการระบายกำจัดสาหร่ายบลูม บริเวณลุ่มน้ำโดม ทำให้ประชาชนผู้ใช้น้ำเดือดร้อนไม่สามารถใช้น้ำได้ จึงได้สั่งการให้ศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ดำเนินการขึ้นบินปฏิบัติการทำฝนกว่า 3 ชั่วโมง ในวันที่ 23 เมษายน 2560 มีการใช้ปริมาณสารฝนหลวง จำนวน 2 ตัน ปรากฏว่ามีฝนตกเล็กน้อยถึงปานกลาง บริเวณอำเภอเดชอุดม อำเภอน้ำยืน อำเภอพิบูลมังสาหาร จังหวัดอุบลราชธานี และพื้นที่รับน้ำเขื่อนลำโดมใหญ่ เขื่อนสิรินธร ทำให้มีปริมาณน้ำเพื่อการระบายออกบรรเทาปัญหา จำนวน 3.12 ลบ.ม./วินาที ขณะเดียวกัน กรมฝนหลวงและการบินเกษตร ได้ประสานกับสำนักชลประทานที่ 7 กรมชลประทาน สอบถามถึงความต้องการน้ำเพิ่มเติมและพร้อมปฏิบัติการทำฝนในทุกโอกาส
นายสุรสีห์ กล่าวเพิ่มเติมว่า นอกจากนี้กรมฝนหลวงและการบินเกษตร ได้ขึ้นปฏิบัติการทำฝนเพื่อช่วยเหลือปัญหาภัยแล้งจังหวัดสระแก้ว โดยศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคตะวันออก ได้ขึ้นปฏิบัติการ7.45 ชั่วโมง ใช้สารฝนหลวง 3.60 ตัน ทำให้มีฝนตกเล็กน้อยถึงปานกลาง ในพื้นที่ อำเภอวัฒนานคร อำเภอเขาฉกรรจ์ อำเภอวังน้าเย็น อำเภอวังสมบูรณ์ จังหวัดสระแก้ว ครอบคลุมจนถึงพื้นที่ อำเภอท่าตะเกียบ จังหวัดฉะเชิงเทรา และพื้นที่ลุ่มรับน้ำอ่างเก็บน้ำคลองสียัด มีปริมาณน้ำไหลลงอ่างเก็บน้ำสะสมรวม 3.21 ลบ.ม. ทั้งนี้ ผลการปฏิบัติการฝนหลวงตั้งแต่เริ่มตั้งหน่วยปฏิบัติการเมื่อวันที่ 3 มีนาคม – 23 เมษายน 2560 มีการขึ้นปฏิบัติการฝนหลวง จำนวน 49 วัน ขึ้นปฏิบัติงานจำนวน 770 เที่ยวบิน (1,138:50 ชั่วโมงบิน) ปริมาณการใช้สารฝนหลวง 654.90 ตัน พลุซิลเวอร์ไอโอไดด์ จำนวน 271 นัด และภารกิจปฏิบัติการยับยั้งความรุนแรงพายุลูกเห็บ จำนวน 789 นัด มีจังหวัดที่มีรายงานฝนตกรวม 54 จังหวัด และทำให้มีปริมาณน้ำไหลเข้าอ่างสะสมรวม 147.93 ล้าน ลบ.ม.