กรุงเทพฯ--26 เม.ย.--มรภ.สงขลา
นักศึกษานาฏยรังสรรค์ มรภ.สงขลา ส่งผลงานระบำขับเพลงแข่งเรือยาวบางกล่ำ อนุรักษ์การร้องเพลงเรือแหลมโพธิ์ที่ใกล้สูญหาย คว้ารางวัลบทความวิจัยดีเด่นระดับชาติ สาขาศิลปะการแสดงฯ
นางทัศนียา คัญทะชา ประธานโปรแกรมวิชานาฏศิลป์และการแสดง คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา (มรภ.สงขลา) เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆ นี้การแสดงสร้างสรรค์ชุด ระบำขับเพลงแข่งเรือยาวบางกล่ำ ผลงานนักศึกษาชั้นปีที่ 4 วิชาเอกนาฏศิลป์พื้นเมืองและโนรา หลักสูตรนาฏยรังสรรค์ มรภ.สงขลา ได้รับรางวัลบทความวิจัยดีเด่น สาขาศิลปะการแสดงและการจัดการ จากโครงการประชุมวิชาการระดับชาติ มอ.ตรัง วิจัย 2017 โดยมี อ.รวิสรา ศรีชัย และ อ.ทัศนียา คัญทะชา เป็นอาจารย์ที่ปรึกษา ซึ่งการแสดงชุดดังกล่าวผู้สร้างสรรค์ได้รับแรงบันดาลใจจากการขับเพลงเรือและการแข่งเรือยาวใน อ.บางกล่ำ จ.สงขลา จึงได้มีการลงพื้นที่เพื่อเก็บข้อมูล นำมาสร้างสรรค์เป็นชุดการแสดงที่มีความสนุกสนาน ให้สีสันและบรรยากาศของการแข่งขันเรือยาว อีกทั้งยังเป็นการช่วยฟื้นฟูและอนุรักษ์การร้องเพลงเรือแหลมโพธิ์ที่ใกล้จะสูญหายให้กลับมาอีกครั้ง
ด้าน น.ส.รวิสรา ศรีชัย ในฐานะอาจารย์ที่ปรึกษาและผู้ควบคุมการฝึกซ้อม กล่าวว่า ระบำชุดนี้เป็น ผลงานระบำพื้นบ้านภาคใต้ตอนบน ที่นักศึกษารหัส 564804 กลุ่มนาฏศิลป์พื้นเมืองและโนรา ดำเนินการสร้างสรรค์ร่วมกับอาจารย์ที่ปรึกษา ผ่านกระบวนการวิจัย เก็บข้อมูลภาคสนามที่ อ.บางกล่ำ จ.สงขลา นำมากำหนดแนวคิด ออกแบบท่ารำและเครื่องแต่งกาย บรรจุเพลงโดยศิลปินแห่งชาติ นายควน ทวนยก ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านดนตรีพื้นเมืองหนังตะลุงและโนรา ซึ่งก่อนหน้านี้ผลงานสร้างสรรค์ระบำแนวพื้นบ้านภาคใต้ตอนบนของหลักสูตรนาฏยรังสรรค์ มรภ.สงขลา เคยได้รับรางวัลในงานเดียวกันเมื่อ พ.ศ.2558 จากชุดการแสดงระบำเทพศรีศรัทธา ถือเป็นสิ่งการันตีศักยภาพของหลักสูตรนาฏยรังสรรค์ได้เป็นอย่างดีว่า เราสามารถรังสรรค์ผลงานนาฏศิลป์เป็นที่ยอมรับในสังคม และเป็นชุดการแสดงที่สะท้อนวิถีชีวิตชาวใต้อย่างแท้จริง
นายธนาธร หนูคูขุด นักศึกษาชั้นปีที่ 4 โปรแกรมวิชานาฏยรังสรรค์ มรภ.สงขลา หนึ่งในผู้สร้างสรรค์ผลงานกล่าวว่า ระบำขับเพลงแข่งเรือยาวบางกล่ำเป็นการหยิบยกเรื่องราวของวิถีชุมชนมานำเสนอผ่านกระบวนการสร้างสรรค์นาฏศิลป์และการแสดง โดยเป็นการทำงานร่วมกันระหว่างนักศึกษาและอาจารย์ที่ปรึกษาในทุกขั้นตอน ตั้งแต่เริ่มเสนอหัวข้อ ลงพื้นที่เก็บข้อมูล นำข้อมูลที่ได้มาวิเคราะห์เรื่องราว เรียนรู้และปรับแก้ไปด้วยกัน ทำให้ผลงานชุดนี้ออกมาเป็นที่ประทับใจและได้การตอบรับที่ดี ตนในฐานะผู้ร่วมกระบวนการสร้างสรรค์ผลงานชิ้นนี้ มีความภูมิใจเป็นอย่างมาก และดีใจที่ได้มีส่วนร่วมในการอนุรักษ์วิถีชุมชนของคนบางกล่ำและเพลงเรือแหลมโพธิ์ ให้ผู้ชมได้เห็นผ่านการแสดงดังที่ปรากฏ