กรุงเทพฯ--26 เม.ย.--สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย
สถาบันพลังงานเพื่ออุตสาหกรรม สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ร่วมกับกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน กระทรวงพลังงาน จัดสัมมนาสรุปผลการดำเนินการ ภายใต้ "โครงการพัฒนาปรับปรุงและส่งเสริมการใช้งานโปรแกรมบริหารจัดการขนส่งเพื่อการประหยัดพลังงาน" ในวันอังคารที่ 25 เมษายน 2560 ณ ห้องกิ่งเพชร ชั้น 3 โรงแรมเอเชีย กรุงเทพ เพื่อเผยแพร่ประชาสัมพันธ์โปรแกรมบริหารจัดการขนส่งที่ได้พัฒนาขึ้นภายใต้โครงการฯ เนื่องจากการแข่งขันที่สูงขึ้นในการให้บริการด้านขนส่งในอนาคต ผู้ประกอบการขนส่งไทยจึงมีความจำเป็นที่จะต้องเร่งพัฒนาระบบการบริหารงานขนส่ง เพื่อยกระดับมาตรฐานและความน่าเชื่อถือในด้านการบริการ รวมถึงการลดต้นทุนการขนส่ง โดยเฉพาะต้นทุนพลังงานที่มีความผันผวนและมีแนวโน้มสูงขึ้นในอนาคต
นายวีรศักดิ์ โฆสิตไพศาล ประธานคณะกรรมการบริหารสถาบันพลังงานเพื่ออุตสาหกรรม สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า สภาอุตสาหกรรมฯ เล็งเห็นถึงโอกาส และความสำคัญในการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารงานและลดการใช้เชื้อเพลิง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาคการขนส่งทางบก เนื่องจากประเทศไทยยังคงพึ่งพาการขนส่งทางบกเป็นหลัก ซึ่งในปัจจุบันผู้ประกอบการภาคขนส่งและภาคอุตสาหกรรมในประเทศไทย ส่วนใหญ่นั้นยังขาดเทคโนโลยีที่ช่วยในการบริหารงานและเก็บข้อมูลต่างๆในการขนส่ง จึงไม่สามารถวิเคราะห์หาแนวทางการปรับปรุงระบบการบริหารงานและการใช้พลังงานในการขนส่งให้มีประสิทธิภาพได้ ส่งผลให้ต้นทุนการขนส่งของประเทศไทยเพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งต้นทุนด้านพลังงานซึ่งปัจจุบันราคามีแนวโน้มเพิ่งสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ดังนั้นจึงควรส่งเสริมให้มีการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารงานและลดการใช้พลังงานให้กับผู้ประกอบการขนส่งในประเทศไทย เพื่อรับมือกับสถานการณ์ต้นทุนพลังงานและการแข่งขันที่สูงขึ้นในอนาคต
ด้วยเหตุดังกล่าว กองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน กระทรวงพลังงาน จึงสนับสนุนให้ สถาบันพลังงานเพื่ออุตสาหกรรม สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ดำเนิน "โครงการพัฒนาปรับปรุงและส่งเสริมการใช้งานโปรแกรมบริหารจัดการขนส่งเพื่อการประหยัดพลังงาน ระยะที่ 2 (Enhancement and Encouragement of Logistics and Transport Management Application; LTMA2)" ซึ่งในช่วงที่ผ่านมา ได้มีการพัฒนาโปรแกรมบริหารจัดการขนส่งเพื่อการประหยัดพลังงาน โดยการศึกษาข้อมูลกระบวนการขนส่งของผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการฯ และทำการพัฒนาโปรแกรมที่มีส่วนฟังก์ชั่นต่างๆ ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพระบบบริหารงาน โดยโปรแกรมจะมีการเก็บรวบรวมข้อมูลการขนส่ง เพื่อให้ผู้ประกอบการนำข้อมูลต่างๆ มาวิเคราะห์หาแนวทางการพัฒนาระบบงานและการใช้พลังงานในการขนส่งของตนเองได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ซึ่งกระผม หวังเป็นอย่างยิ่งว่า โปรแกรมบริหารจัดการขนส่งเพื่อการประหยัดพลังงาน จะเป็นเครื่องมือที่ช่วยยกระดับประสิทธิภาพการบริหารงาน และลดการใช้พลังงานในสาขาขนส่ง รวมถึงเพิ่มความน่าเชื่อถือในการบริการให้กับองค์กรของท่าน และประเทศไทยอย่างยั่งยืน ต่อไป
ด้าน นายธิบดี หาญประเสริฐ ประธานคณะทำงานโครงการพัฒนาปรับปรุงและส่งเสริมการใช้งานโปรแกรมบริหารจัดการขนส่งเพื่อการประหยัดพลังงาน เปิดเผยว่า สิ่งสำคัญของการพัฒนาระบบการขนส่งในประเทศไทย คือการวิเคราะห์ข้อมูลการขนส่งเพื่อหาแนวทางเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารงาน โดยปัจจุบันผู้ประกอบการภาคขนส่งและภาคอุตสาหกรรมส่วนมากเป็นผู้ประกอบการ SMEs ซึ่งยังขาดเทคโนโลยีที่จะช่วยในจัดการระบบงานขนส่งและเก็บข้อมูล ทำให้ไม่สามารถรวบรวมข้อมูล เพื่อวิเคราะห์หาแนวทางพัฒนาระบบบริหารงานและลดการใช้พลังงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งสอดคล้องกับแผนอนุรักษ์พลังงานในปี 2558 - 2579ที่เล็งเห็นถึงความสำคัญของการขยายตัวทางเศรษฐกิจของไทยและการเตรียมความพร้อมเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (Asean Economic Community: AEC) โดยมีวัตถุประสงค์ในการลดการใช้พลังงานของประเทศคิดเป็นร้อยละ 30 เมื่อเทียบกับการใช้พลังงานในปี 2553
ด้วยเหตุปัจจัยดังกล่าว กองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน กระทรวงพลังงาน ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญในการพัฒนาระบบบริหารงานและลดการใช้พลังงานในสาขาขนส่ง จึงสนับสนุนให้ สถาบันพลังงานเพื่ออุตสาหกรรม สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ดำเนิน โครงการพัฒนาปรับปรุงและส่งเสริมการใช้งานโปรแกรมบริหารจัดการขนส่งเพื่อการประหยัดพลังงาน ระยะที่ 2 (Enhancement and Encouragement of Logistics and Transport Management Application; LTMA2) เพื่อจัดทำโปรแกรมที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารงาน และลดการใช้พลังงานให้กับผู้ประกอบการภาคขนส่งและภาคอุตสาหกรรมในประเทศไทย
นายธิบดี กล่าวว่า จากการดำเนินโครงการฯ เมื่อ 2 ปีที่ผ่านมา นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2558 จนถึงปัจจุบันนั้น ได้มีการศึกษาข้อมูลกระบวนการขนส่งของผู้ประกอบการภาคขนส่งและภาคอุตสาหกรรมทั้ง 5 คลัสเตอร์ ประกอบด้วย กลุ่มสินค้าทั่วไป กลุ่มผลิตผลการเกษตร กลุ่มวัสดุก่อสร้าง กลุ่มอาหาร และกลุ่มเคมีภัณฑ์ เพื่อทำการวิเคราะห์และพัฒนาโปรแกรมบริหารจัดการขนส่งเพื่อการประหยัดพลังงาน ซึ่งประกอบด้วยส่วนต่างๆ 4 ส่วน คือ
ส่วนเว็บไซต์ของโครงการ (LTMA Website)
ส่วนการจัดการของผู้ดูแลระบบ (Back Office Application)
ส่วนการจัดการของผู้ใช้ระบบ (Member User Application)
ส่วนโมดูลขนส่งที่รองรับบนอุปกรณ์เคลื่อนที่ (Smart Phone Application)
สำหรับผลการดำเนินงานภายใต้โครงการฯ ที่ผ่านมานั้น ได้มีการจัดทำโปรแกรมบริหารจัดการขนส่งเพื่อการประหยัดพลังงานที่สามารถรองรับการดำเนินงานขนส่งของผู้ประกอบการทั้ง 5 คลัสเตอร์ และได้ขยายผลการใช้งานโปรแกรมไปยังผู้ประกอบการภาคขนส่งและภาคอุตสาหกรรมจำนวนมากกว่า 170 บริษัท โดยจัดอบรมการใช้งานโปรแกรมให้กับผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการฯ เพื่อให้ทราบถึงหลักการใช้งานโปรแกรม และสามารถนำไปประยุกต์ใช้กับการดำเนินงานขนส่งของบริษัทให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด นอกจากนั้นได้ส่งเสริมสร้างเครือข่ายผู้ประกอบการเพื่อลดการจัดส่งสินค้าเที่ยวเปล่า (Backhaul) จำนวน 1 กลุ่ม ซึ่งจากการดำเนินงานภายใต้โครงการสามารถประหยัดพลังงานเฉลี่ยรวมกันของผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการถึง 6%
"เรามุ่งหวังที่จะทำการพัฒนาปรับปรุงโปรแกรมฯ ให้ครอบคลุมผู้ประกอบการในกลุ่มธุรกิจขนาดกลางและกลุ่มธุรกิจขนาดย่อม (SMEs) เพื่อขยายผลการใช้งานโปรแกรมฯ และสร้างเครือข่ายระหว่างผู้ประกอบการที่มีลักษณะคล้ายคลึงกันทำให้สามารถเชื่อมโยงข้อมูลที่จะนำไปสู่การรวมสินค้าเข้าด้วยกัน ในการจัดส่งทั้งเที่ยวไปและเที่ยวกลับ (Backhaul) อันจะช่วยให้เกิดการประหยัดพลังงานในการขนส่งได้อย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งจากผลการพัฒนาปรับปรุงโปรแกรมดังกล่าว สถาบันพลังงานฯ จึงจัดให้มีการสัมมนาในวันนี้ เพื่อเผยแพร่ประชาสัมพันธ์โปรแกรมบริหารจัดการขนส่งเพื่อการประหยัดพลังงาน ที่จะช่วยให้ผู้ประกอบการขนส่งในประเทศไทย พัฒนาประสิทธิภาพการบริหารงานและลดการใช้พลังงานในสาขาขนส่ง รวมถึงเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันได้ต่อไป" นายธิบดี กล่าว