กรุงเทพฯ--27 เม.ย.--กรมฝนหลวงและการบินเกษตร
นายสุรสีห์ กิตติมณฑล อธิบดีกรมฝนหลวง และการบินเกษตร เปิดเผยถึงความคืบหน้าโครงการ R3 ที่ประสานความร่วมมือระหว่างกรมฝนหลวง และการบินเกษตร กรมชลประทาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกรมป่าไม้ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในการสร้างความร่วมมือเพื่อการบริหารจัดการน้ำและป่าต้นน้ำอย่างบูรณาการ พื้นที่โครงการเขื่อนแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี
กรมฝนหลวงและการบินเกษตร ได้มีการขึ้นปฏิบัติการฝนหลวงอย่างต่อเนื่องในพื้นที่ลุ่มรับน้ำ เขื่อนแก่งกระจาน เพื่อเพิ่มความชุ่มชื้นให้กับพื้นที่ในโครงการ โดยการขึ้นบินปฏิบัติการฝนหลวงของหน่วยปฏิบัติการฝนหลวงหัวหินบริเวณลุ่มรับน้ำเขื่อนแก่งกระจาน ตั้งแต่เริ่มตั้งหน่วยปฏิบัติการฝนหลวง วันที่ 3 มีนาคม ถึงวันที่ 25 เมษายน 2560 มีการขึ้นบินปฏิบัติการทั้งสิ้น 18 วัน จำนวน 141 เที่ยวบิน ทำให้ มีฝนตกในบริเวณดังกล่าวทั้ง 18 วัน มีปริมาณน้ำไหลเข้าเขื่อนแก่งกระจานสะสมรวม 16.49 ล้านลูกบาศก์เมตร ผืนป่าบริเวณเขื่อนแก่งกระจานมีความชุ่มชื้น ทางกรมป่าไม้จึงได้ดำเนินการปลูกป่าภาคเอกชน พร้อมทั้งได้มีการสำรวจพื้นที่จัดทำฝายชะลอน้ำ จำนวนประมาณ 70 จุดไปแล้ว ปัจจุบัน จากที่ได้ประสานงานกับทางสำนักชลประทานจังหวัดเพชรบุรี ทราบว่าทางเขื่อนแก่งกระจาน มีปริมาณน้ำเพียงพอในการระบายน้ำในช่วงฤดูฝน โดยพื้นที่การเกษตรในจังหวัดเพชรบุรี ส่วนใหญ่จะอยู่ในเขตพื้นที่ชลประทาน ทางหน่วยปฏิบัติการฝนหลวงหัวหิน จึงปรับแผนการปฏิบัติการเป็นเน้นบริเวณพื้นที่ลุ่มรับน้ำเขื่อนปราณบุรี อ่างเก็บน้ำยางชุม และพื้นที่การเกษตรจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ และจังหวัดราชบุรี พื้นที่การเกษตรจังหวัดเพชรบุรี นอกพื้นที่เขตชลประทานเป็นหลัก โดยในส่วนของพื้นที่ลุ่มรับน้ำเขื่อนแก่งกระจานจะเป็นพื้นที่เป้าหมายรอง ซึ่งกรมฝนหลวงและการบินเกษตรจะยังคงติดตามสถานการณ์ในพื้นที่ลุ่มรับน้ำเขื่อนแก่งกระจานอย่างต่อเนื่องเพื่อเตรียมพร้อมสนับสนุนพื้นที่การเกษตรและสร้างความชุ่มชื้นให้กับผืนป่าตามโครงการดังกล่าว
นายสุรสีห์กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับพื้นที่ที่ได้มีการขอรับบริการฝนหลวง กรมฝนหลวง และการบินเกษตรได้ดำเนินการให้ความช่วยเหลืออย่างเต็มที่และต่อเนื่อง เพื่อบรรเทาปัญหาการขาดแคลนน้ำ เพื่อการอุปโภค บริโภค และการเกษตร และผลการปฏิบัติการฝนหลวงตั้งแต่เริ่มตั้งหน่วยปฏิบัติการฝนหลวง เมื่อวันที่ 3 มีนาคม - 25 เมษายน 2560 มีการขึ้นปฏิบัติการฝนหลวง จำนวน 51 วัน มีวันฝนตก จากการปฏิบัติการฝนหลวงคิดเป็นร้อยละ 97.3 ขึ้นปฏิบัติการจำนวน 807 เที่ยวบิน (1190:25 ชั่วโมงบิน) ปริมาณการใช้สารฝนหลวง 685.50ตัน พลุซิลเวอร์ไอโอไดด์สำหรับภารกิจปฏิบัติการฝนหลวงจำนวน 271 นัดและภารกิจปฏิบัติการยับยั้งความรุนแรงพายุลูกเห็บ จำนวน 789 นัด จังหวัดที่มีรายงานฝนตกรวม 54 จังหวัด และทำให้มีปริมาณน้ำไหลเข้าอ่างสะสมรวม 151.87 ล้าน ลบ.ม. ทั้งนี้สามารถติดตามข้อมูลข่าวสารอย่างต่อเนื่องได้ที่เพจ Facebook กรมฝนหลวงและการบินเกษตร หรือ เว็บไซต์กรมฝนหลวงและการบินเกษตร