กรุงเทพฯ--27 เม.ย.--มทร.ธัญบุรี
รศ.ดร.ประเสริฐ ปิ่นปฐมรัฐ อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี (มทร.ธัญบุรี) เปิดเผยว่า ขณะนี้งานวิจัยของคณาจารย์ของ มทร.ธัญบุรี ได้รับรางวัลจากการส่งผลงานเข้าประกวดอย่างต่อเนื่อง โดยล่าสุดได้ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ส่งผลงานวิจัยเข้าประกวดในงาน 45Th International Exhibition of Inventions Geneva ณ นครเจนีวา สมาพันธรัฐสวิส ซึ่งเป็นงานประกวดผลงานวิจัยประดิษฐ์คิดค้น และจัดนิทรรศการ ซึ่งจัดเป็นประจำทุกปี โดยได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลสวิสฯ และองค์การทรัพย์สินทางปัญญาแห่งโลก หรือ WIPO (The World Intellectual Property Organization) มีผลงานเข้าร่วมประกวดและจัดนิทรรศการมากกว่า 1,000 ผลงาน มีองค์กร หน่วยงานต่างๆ เข้าร่วมกว่าจาก 45 ประเทศ
โดย มทร.ธัญบุรี ได้ส่งผลงานเข้าประกวด 4 ผลงานและได้รับรางวัลรวม 6 รางวัล ประกอบด้วย ผลงานเรือหุ่นยนต์สองทุ่นแบบใช้งานระยะยาวสำหรับสำรวจข้อมูลอุทกศาสตร์ ของ ผศ.ดร.ปรัชญา เปรมปราณีรัชต์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ ได้รับรางวัลเหรียญทองเกียรติยศ และรางวัลพิเศษ จาก HKSTP Invention Award เขตบริหารพิเศษฮ่องกง
ผลงานมาส์กว่านหางจระเข้ผสมสารสกัดว่านตาลเดี่ยว ได้รับรางวัลเหรียญเงิน และรางวัลพิเศษจากAssociation Russian House for International Scientific and Technology Cooperation ประเทศรัสเซีย ผลงานแว๊กนวดอะโรม่าสำหรับบรรเทาอาการปวดเมื่อย ได้รับรางวัลเหรียญทองแดง
ซึ่งทั้งสองผลงานนี้เป็นของ ผศ.ดร.กรวินท์วิชญ์ บุญพิสุทธินันท์ วิทยาลัยการแพทย์แผนไทยและอีกหนึ่งผลงานคือ เครื่องทดสอบเส้นใยเดี่ยวสำหรับทดสอบความรู้สึกที่เท้าของผู้ป่วยโรคเบาหวาน ของ ดร.ณรงค์ชัย โอเจริญ คณะวิศวกรรมศาสตร์ ได้รับรางวัลเหรียญทองแดงอธิการบดี มทร.ธัญบุรี กล่าวอีกว่า การได้รับรางวัลในครั้งนี้ ทาง วช. ได้มอบทุนสนับสนุนให้มีการต่อยอดผลงานวิจัย ซึ่งในหลายปีที่ผ่านมา หลายผลงานที่ได้รับรางวัลมีภาคเอกชนมาซื้องานวิจัยเพื่อพัฒนาเป็นสินค้า และมีผู้ประกอบจากต่างประเทศสนใจงานวิจัยของมหาวิทยาลัยเป็นอย่างมาก เช่น ผลงานที่เกี่ยวกับว่านหางจระเข้ และตำรับยาไทยที่เกี่ยวกับสเปย์ร้อน สเปย์เย็นได้มีผู้ประกอบการรัสเซียเข้ามาติดต่อ นอกจากนี้ผลิตภัณฑ์ว่านหางจระเข้ที่เป็นเจลครีมสำหรับบำรุงผิวหน้า ซึ่งเป็นงานวิจัยที่มหาวิทยาลัยร่วมมือทำกับภาคเอกชนของไทย และได้ทำการขายลิขสิทธิ์ให้กับภาคเอกชนไปแล้ว มูลค่า 1.2 ล้านบาท โดยภาคเอกชนได้นำไปผลิตเป็นสินค้าเพื่อจัดจำหน่ายในเชิงพาณิชย์ มียอดขายปีละ 30 ล้านบาท ซึ่งแสดงให้เห็นว่างานวิจัยของมหาวิทยาลัยเป็นที่ยอมรับจากภาคเอกชน และสามารถช่วยภาคธุรกิจให้สามารถต่อสินค้านำไปออกจำหน่ายได้อีกด้วย ทั้งนี้ มทร.ธัญบุรี พร้อมที่จะร่วมมือกับภาคเอกชนในการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ เพื่อให้เกิดประโยชน์และสามารถสร้างรายได้ให้กับประเทศไทย
ผู้สนใจสามารถติดตามข้อมูลข่าวสารของ มทร.ธัญบุรี เพิ่มเติมได้ที่ www.rmutt.ac.th หรือwww.facebook.com/rmutt.klong6