กรุงเทพฯ--27 เม.ย.--สำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
พลเอกฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ตามที่ได้สั่งการให้มีการตรวจสอบเรือทั้งระบบ โดยมีการตั้งคณะทำงานตรวจเรือ 3 ฝ่าย ได้แก่ เจ้าท่า กองทัพเรือ กรมประมง มีเป้าหมายการตรวจสอบเรือทั้งหมด 15,679 ลำ ได้แก่ เรือที่ตรวจและทำอัตลักษณ์เรือ 12,020 ลำ ซึ่งเป็นเรือที่มีใบอนุญาตทำประมงนอกน่านน้ำและเรือขนถ่าย เรือที่ต้องตรวจสอบความมีอยู่จริง 3,659 ลำ โดยเป็นเรือไม่มีใบอนุญาต เรือแจ้งขาย หรืออับปาง พร้อมทำอัตลักษณ์เรือประมงเพื่อเป็นการยืนยันว่าเรือลำนั้นมีความถูกต้องและอยู่ในระบบเรียบร้อยแล้ว เพื่อให้การบริหารจัดการกองเรือเป็นที่ยอมรับ การตรวจวัดขนาดเรือ การตรวจสอบสภาพเรือ และ ความมีอยู่จริงของเรือจะเป็นข้อมูลสำคัญ เพื่อกำหนดขนาดกองเรือให้สมดุลกับสภาวะการใช้ทรัพยากรสัตว์น้ำอย่าง ยั่งยืนของประเทศ
จากผลการดำเนินการซึ่งได้เริ่มตั้งแต่วันที่ 17 เมษายนที่ผ่านมาถึงปัจจุบันพบว่า มีเรือเข้ารับการตรวจและทำ อัตลักษณ์แล้วจำนวน 4,029 ลำ คิดเป็นร้อยละ 33.5 ของเป้าหมายทั้งสิ้น 12,020 ลำ ประกอบด้วย 1. เรือที่ขนาดเปลี่ยนแปลงแล้วเล็กลงไม่เกินร้อยละ 10 ของขนาดที่แจ้งไว้เดิม จำนวน 3,628 ลำ คิดเป็นร้อยละ 90.1 ของที่ตรวจมาแล้ว 2. เรือที่มีขนาดเปลี่ยนแปลงเกินร้อยละ 10 ดำเนินการแล้วจำนวน 401 ลำ คิดเป็นร้อยละ 9.9 ของเป้าหมาย 3. กลุ่มที่มีขนาดใหญ่กว่าเดิมเกินร้อยละ 10 ส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มเรือที่ไม่มีผลกระทบกับการจับสัตว์น้ำมากนักดำเนินการแล้วประมาณร้อยละ 60 ส่วนจำพวกเรือที่กำหนดวันทำการประมงได้แก่ อวนลาก อวนล้อม อวนล้อมปลา กะตัก มีจำนวนรวมกัน 172 ลำ หรือร้อยละ 40
อย่างไรก็ตาม การบริหารจัดการเรือที่มีการเปลี่ยนแปลงไป กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ออกประกาศเพื่อบริหารจัดการเรือ โดยมีขั้นตอนที่ชาวประมงต้องปฏิบัติหลังจากตรวจเรือเรียบร้อยแล้วในแต่ละกลุ่ม แบ่งเป็น 1. เรือที่มีขนาดเล็กกว่าเดิมและใหญ่ขึ้นไม่เกินร้อยละ 10 ออกทำการประมงได้ โดยใช้สำเนาใบตรวจเรือแทนเอกสารอื่นๆ ไปพลางก่อน และต้องแจ้งขอแก้ไขเอกสารให้ถูกต้องที่เจ้าท่าภูมิภาค และนำทะเบียนและใบอนุญาตใช้เรือมาแก้ไขใบอนุญาตทำการประมงที่กรมประมง 2. เรือที่มีขนาดเปลี่ยนแปลงใหญ่ขึ้นเกินร้อยละ 10 แต่เป็นเรือที่ขนาดเรือที่วัดใหม่ไม่เกิน 30 ตันกรอส แยกเป็น 3 กรณี คือ กรณีที่ 1 ถ้าเป็นเรือขนาด 10 ตันกรอส แต่ไม่ถึง 30 ตันกรอส และใช้เครื่องมือประมงที่ไม่ได้ มีการจำกัดวันทำประมง สามารถออกทำการประมงได้ โดยใช้สำเนาใบตรวจเรือแทนเอกสารอื่นๆ ไปพลางก่อน และต้องแจ้งขอแก้ไขเอกสารให้ถูกต้อง โดยเสียค่าปรับตามกฎหมายของกรมเจ้าท่า จากนั้นเจ้าท่าจะส่งเรื่องให้กรมประมงแก้ไขใบอนุญาตทำการประมง กรณีที่ 2 เป็นเรือปั่นไฟ เครื่องมือจำพวกเบ็ด แผงปูจักจั่น คราดหอย รุนเคย สามารถออกทำประมงได้ โดยใช้สำเนาใบตรวจเรือแทนเอกสารอื่นๆ ไปพลางก่อน และต้องแจ้งขอแก้ไขเอกสารให้ถูกต้องที่เจ้าท่าภูมิภาค โดยเสียค่าปรับตามกฎหมายของกรมเจ้าท่า และส่งเรื่องให้กรมประมงแก้ไขใบอนุญาตทำการประมง กรณีที่ 3 ถ้าเป็นเรือขนาด 10 ตันกรอส แต่ไม่ถึง 30 ตันกรอส และใช้เครื่องมือประมงที่ต้องนับวันทำประมง ให้เจ้าท่าออกคำสั่งให้เจ้าของเรือนำเรือไปจอด ให้เจ้าของเรือแจ้งศูนย์ควบคุมการแจ้งเรือเข้า – ออก (PIPO) ห้ามออกทำการประมงให้เจ้าของเรือแจ้งเจ้าท่าภูมิภาคล๊อกเรือ เจ้าของเรือเสียค่าปรับเพื่อแก้ไขทะเบียนและใบอนุญาตใช้เรือ ที่เจ้าท่าภูมิภาค เจ้าท่าเมื่อแก้ไขทะเบียนและใบอนุญาตใช้เรือแล้ว จะส่งข้อมูลให้กรมประมงแก้ไขใบอนุญาต จากนั้นกรมประมงจะแจ้งเจ้าของใบอนุญาต 1 วันหลังจากแก้ใบอนุญาตแล้วให้ไปรับที่สำนักงานประมง อำเภอตามภูมิลำเนา หากขนาดเรือใหม่ใหญ่เกินกว่าเรือเดิมที่เสียค่าธรรมเนียมไว้ตามระเบียบ ผู้รับใบอนุญาตต้องเสีย ค่าธรรมเนียมใหม่และต้องทำเครื่องหมายประจำเรือใหม่ แล้วจึงจะออกทำการประมงได้
สำหรับเรือขนาดเกินร้อยละ 10 และขนาดเรือใหม่เกิน 30 ตันกรอสทุกลำนั้น กรมเจ้าท่าได้ออกคำสั่งให้เจ้าของเรือนำเรือไปจอดพร้อมแจ้ง PIPO ห้ามออกทำการประมง ซึ่งเจ้าของเรือจะต้องเสียค่าปรับเพื่อแก้ไขทะเบียนและใบอนุญาตใช้เรือ และแจ้งกรมประมงภายใน 5 วัน นับจากวันที่ได้รับชำระค่าปรับแล้ว ให้กรมประมงแก้ไขใบอนุญาตทำการประมงให้ตรงกับข้อมูลในทะเบียนเรือและใบอนุญาตใช้เรือ และให้กำหนดวันทำประมงใหม่ให้สอดคล้องกับขนาดที่เปลี่ยนไป โดยให้เสร็จสิ้นภายใน 3 วันนับแต่ได้รับแจ้งจากกรมเจ้าท่า กรมประมงแจ้งชาวประมงภายใน 1 วันนับจากแก้ไขเสร็จแล้ว ถ้ามีรายการที่ต้องเสียค่าธรรมเนียมเพิ่ม ให้ไปเสียค่าธรรมเนียมได้ที่สำนักงานประมงอำเภอ ภูมิลำเนา และรับใบอนุญาตใหม่ ต้องทำเครื่องหมายประจำเรือใหม่และติดระบบติดตามเรือ VMS ก่อนออกทำประมง