กรุงเทพฯ--28 เม.ย.--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร
สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 12 ลงพื้นที่อุทัยธานี เก็บข้อมูลอัตราค่าจ้างแรงงานและราคาปัจจัยการผลิตสับปะรดโรงงาน เพื่อใช้ประกอบการวิเคราะห์ต้นทุนการผลิตให้สอดคล้องกับพฤติกรรมของเกษตรกร เผย เกษตรกรมีการใช้ปุ๋ยอินทรีย์ เฉลี่ย 833 กก./ไร่ ปุ๋ยเคมี เฉลี่ย 40.5 กก./ไร่ แนะเกษตรกร ดึงปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ผสานเทคโนโลยี นวัตกรรม เพื่อลดต้นทุนการผลิต เน้นผลผลิตที่มีคุณภาพ ตลาดรองรับ
นายคมสัน จำรูญพงษ์ รองเลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 12 จังหวัดนครสวรรค์ (สศท.12) ได้ลงพื้นที่เก็บข้อมูลอัตราค่าจ้างแรงงานและราคาปัจจัยการผลิตสับปะรดโรงงาน เพื่อใช้ประกอบการวิเคราะห์ต้นทุนการผลิตให้เป็นปัจจุบันและสอดคล้องกับพฤติกรรมของเกษตรกรระดับจังหวัด
จากการสำรวจกลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกสับปะรดจังหวัดอุทัยธานีเกี่ยวกับการใช้แรงงานและอัตราค่าจ้างแรงงาน พบว่า ค่าจ้างแรงงานในการใส่ปุ๋ย เฉลี่ย 76.59 บาท/ไร่ ความสามารถในการใส่ปุ๋ย 6.81 ไร่/คน/วัน ค่าจ้างในการฉีดยาป้องกันกำจัดวัชพืช เฉลี่ย 160 บาท/ไร่ ความสามารถในการฉีดยาป้องกัน 12.17 ไร่/คน/วัน
อัตราค่าจ้างแรงงานในการป้องกันกำจัดโรค แมลง และสารอื่นๆ เฉลี่ย 106.67 บาท/ไร่ ความสามารถ 15 ไร่/คน/วัน อัตราค่าจ้างแรงงานในการแคะจุก เฉลี่ย 311 บาท/ไร่ ความสามารถ 0.64 ไร่/คน/วัน อัตราค่าจ้างแรงงานในการหยอดแก๊ส เฉลี่ย 300 บาท/ไร่ ความสามารถ 1.17 ไร่/คน/วัน ส่วนอัตราค่าจ้างในการคลุมหัวปิดผล เฉลี่ย 277 บาท/ไร่ ความสามารถ 0.9 ไร่/คน/วัน
สำหรับการใช้ปัจจัยการผลิตต่อไร่ พบว่า มีปริมาณการใช้ปุ๋ยอินทรีย์ เฉลี่ย 833 กก./ไร่ ปุ๋ยเคมี เฉลี่ย 40.5 กก./ไร่ สารกำจัดวัชพืช ได้แก่ ยาคุม เฉลี่ย 1.64 ลิตร/ไร่ และ ยาฆ่าหญ้า เฉลี่ย 0.80 ลิตร/ไร่ สารกำจัดศัตรูพืช เฉลี่ย 0.5 ลิตร/ไร่ สารเคมีอื่นๆ ได้แก่ ฮอร์โมน สารเร่งดอก อาหารเสริม เฉลี่ย 2.94 ลิตร/ไร่
อย่างไรก็ตาม ปัจจัยสำคัญที่จะทำให้ผลผลิตต่อไร่สับปะรดของเกษตรกรเพิ่มขึ้น นอกจากสภาพดินฟ้า อากาศที่เหมาะสมแล้ว ยังมีปัจจัยที่สำคัญอีกอย่าง คือ การดูแลรักษา ซึ่งเกษตรกรผู้ปลูกสับปะรด ควรนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง และเทคโนโลยี นวัตกรรม องค์ความรู้ใหม่ๆ เข้ามาเป็นแนวทางในการปลูกสับปะรด เพื่อให้ได้สินค้าดีมีคุณภาพ เน้นการทำการเกษตรแบบปราณีต ช่วยลดต้นทุน และมีตลาดรองรับ โดยเกษตรกรและท่านที่สนใจข้อมูลในพื้นที่ สามารถขอทราบรายละเอียดเพิ่มเติมและคำแนะนำได้ที่ สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 12 โทร. 056 803 525 หรือ อีเมล zone12@oae.go.th