กรุงเทพฯ--28 เม.ย.--สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม
สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เผย ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) ประจำเดือนมีนาคม 2560 ขยายตัวจากเดือนก่อนร้อยละ 12.13 ส่งผลให้ MPI ในไตรมาสที่ 1 ปี 2560 ขยายตัวที่ร้อยละ 0.1 บ่งบอกถึงเศรษฐกิจไทยกำลังฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง และมีแนวโน้มเติบโตได้ดีตามความต้องการในตลาดโลก โดยอุตสาหกรรมสำคัญที่ส่งผลบวก ได้แก่ เหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็ก น้ำมันปิโตรเลียม เนื้อไก่แช่แข็ง ฮาร์ดดิสก์ไดร์ฟ และน้ำตาล
นายวีรศักดิ์ ศุภประเสริฐ รองผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เปิดเผยว่า ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) ประจำเดือนมีนาคม ขยายตัวอย่างมากจากเดือนกุมภาพันธ์ถึงร้อยละ 12.13 แต่ลดลงร้อยละ 0.5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันในปีก่อน แม้ความผันผวนจากค่าเงินบาทที่อาจทำให้ผู้ประกอบการมีความเสี่ยงด้านต้นทุนสูงขึ้น แต่ในภาพรวมดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมในไตรมาสที่ 1 ขยายตัวที่ร้อยละ 0.1 แสดงให้เห็นถึงความแข็งแกร่งของภาคอุตสาหกรรม โดยอุตสาหกรรมสำคัญที่ส่งผลบวก ได้แก่ เหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็ก น้ำมันปิโตรเลียม เนื้อไก่แช่แข็ง ฮาร์ดดิสก์ไดร์ฟ และน้ำตาล
อุตสาหกรรมหลักที่ส่งผลให้ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) มีการขยายตัว ได้แก่
เหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็ก ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 9.01 จากช่วงเดียวกันในปีก่อน จากเหล็กลวด ลวดเหล็กแรงดึงสูง เหล็กเส้นข้ออ้อย และท่อเหล็กกล้า ที่ได้รับคำสั่งซื้อเพื่อใช้ในงานโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ ของภาครัฐ และผลจากมาตรการตอบโต้การนำเข้า (AD) ของกระทรวงพาณิชย์ที่ลดปริมาณเหล็กนำเข้าราคาถูกได้ดีขึ้น ในขณะที่เหล็กแผ่นเคลือบสังกะสี และเหล็กแผ่นรีดเย็น ได้รับคำสั่งซื้อเพิ่มขึ้นเนื่องจากราคาเหล็กยังอยู่ในระดับสูง
น้ำมันปิโตรเลียม ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 7.41 จากช่วงเดียวกันในปีก่อน โดยประเภทน้ำมันเชื้อเพลิงสำเร็จรูปที่ผลิตเพิ่มขึ้น ได้แก่ น้ำมันดีเซลหมุนเร็ว น้ำมันแก๊สโซฮอล์ 91 และน้ำมันแก๊สโซฮอล์ 95
เนื้อไก่แช่แข็ง ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 7.51 จากช่วงเดียวกันในปีก่อน เนื่องจากการจำหน่ายในประเทศ และการส่งออกผลิตภัณฑ์เนื้อไก่แช่แข็งและแช่เย็นขยายตัวเพิ่มขึ้น
ฮาร์ดดิสก์ไดร์ฟ ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 32.66 จากช่วงเดียวกันในปีก่อน โดยในปีนี้มีคำสั่งซื้อกลับเข้ามาหลังจากชะลอตัวไปเมื่อปีก่อน โดยเฉพาะการส่งออกไปยังตลาดหลัก เช่น สหรัฐอเมริกา ฮ่องกง เพิ่มขึ้น
น้ำตาล ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 13.67 จากช่วงเดียวกันในปีก่อน จากน้ำตาลทรายดิบ และน้ำตาลทรายขาวบริสุทธิ์ เนื่องจากมีการเปิดหีบอ้อยช้ากว่าปีก่อน ทำให้มีการขยายการผลิตมาถึงเดือนมีนาคม 2560
อุตสาหกรรมหลักที่ส่งผลลบต่อดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) ได้แก่
รถยนต์ ปรับตัวลดลงร้อยละ 11.12 จากช่วงเดียวกันในปีก่อน โดยมีสาเหตุจากการส่งออกรถยนต์ไปยังประเทศแถบตะวันออกกลางชะลอตัวลง จากปัญญาทางด้านเศรษฐกิจและการเมือง
เครื่องยนต์สำหรับรถยนต์ ปรับตัวลดลงร้อยละ 6.26 จากช่วงเดียวกันในปีก่อน โดยมีสาเหตุจากความต้องการใช้เครื่องยนต์เบนซินและดีเซลลดลงจากปีก่อน
อุตสาหกรรมสำคัญที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นใน 1/2560 และคาดว่าจะปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่องในไตรมาส 2/2560 ได้แก่
อุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ในไตรมาส 1/2560 การผลิตในภาพรวมปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 14.16 จากการขยายตัวของกลุ่ม Other IC เป็นหลัก ตามการขยายตัวของความต้องการสินค้าชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ในตลาดโลก
อุตสาหกรรมเภสัชกรรม เคมีภัณฑ์ที่ใช้รักษาโรค ในไตรมาส 1/2560 การผลิตในภาพรวมปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 18.03 โดยมีการเปิดตลาดยาเม็ดได้ใหม่ในหลายประเทศ อาทิ ฮ่องกง เกาหลี
อุตสาหกรรมเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็กกล้าขั้นมูลฐาน ในไตรมาส 1/2560 การผลิตในภาพรวมปรับตัวเพิ่มขั้นร้อยละ 9.59 ตามความต้องการใช้งานในโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐอย่างต่อเนื่องและในระยะยาว
อุตสาหกรรมการแปรรูปและการถนอมสัตว์น้ำ ในไตรมาส 1/2560 การผลิตปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.18 จากสินค้าปลาและปลาหมึกแช่แข็ง