กรุงเทพฯ--27 เม.ย.--มพช.
กรมส่งเสริมสหกรณ์ใช้งบ มพช. อัดฉีดบุคลากรติวเข้ม 600 สหกรณ์การเกษตร เพื่อพัฒนาสมรรถนะการดำเนินงานและเสริมสร้างขีดความสามารถด้านการผลิตและการตลาดให้เกษตรกรรายย่อยในพื้นที่ชนบท
นางวรรณี รัตนวราหะ รองอธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ ในฐานะประธานคณะกรรมการบริหาร โครงการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและการจัดการของสหกรณ์ภาคการเกษตร เปิดเผยว่า กรมส่งเสริม สหกรณ์ได้รับเงินสนับสนุนภายใต้มาตรการเสริมการพัฒนาชนบทและชุมชน (มพช.) วงเงิน 63.2 ล้านบาท ในโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและการจัดการของสหกรณ์ภาคการเกษตร ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนการดำเนินงานของเกษตรกรรายย่อยในพื้นที่ชนบทให้สามารถประกอบธุรกิจภาคเกษตรได้อย่างมั่นคงยิ่งขึ้น เพื่อยกระดับการประกอบอาชีพและพัฒนาคุณภาพชีวิตให้มีมาตรฐาน
ทั้งนี้เนื่องจากประชาชนในชนบทส่วนใหญ่ที่เป็นเกษตรกรรายย่อย ยังประสบปัญหาความด้อย ประสิทธิภาพในการดำเนินงาน แม้ว่าทางกระทรวงเกษตรและสหกรณ์จะได้ผลักดันให้มีการรวมกลุ่มจัดตั้งเป็นสหกรณ์ภาคเกษตร เพื่อให้สามารถดำเนินธุรกิจภาคเกษตรครบวงจร และเอื้อประโยชน์ต่อสมาชิกในกลุ่มก็ตาม แต่ก็ยังมีความเสียเปรียบองค์กรธุรกิจขนาดใหญ่ ที่มีความพร้อมด้านเงินทุน เทคโนโลยี และการตลาด ซึ่งได้เข้ามามีบทบาทในการดำเนินธุรกิจภาคการเกษตรครบวงจร นับตั้งแต่การผลิต การแปรรูป และการจำหน่าย
ปัจจุบันมีเกษตรกรที่รวมกลุ่มจัดตั้งเป็นสหกรณ์ภาคการเกษตร จำนวน 3,178 สหกรณ์ มีสมาชิกรวมทั้งสิ้น 4.78 ล้านคน แบ่งเป็นสหกรณ์ขนาดใหญ่ 1,228 สหกรณ์ สหกรณ์ขนาดกลาง 767 สหกรณ์ และสหกรณ์ขนาดเล็ก 1,183 สหกรณ์
"เท่าที่ติดตามดูแลการดำเนินธุรกิจของสหกรณ์ในภาคการเกษตรเหล่านี้ ยังไม่ประสบผลสำเร็จ เท่าไรนัก โดยเฉพาะสหกรณ์ขนาดกลางและขนาดเล็ก สาเหตุเนื่องจากสมาชิกสหกรณ์โดยเฉลี่ยมีการศึกษาน้อย มีฐานะยากจน บางรายยังประสบปัญหาด้านหนี้สินทั้งในและนอกระบบ ขณะที่ผู้บริหารสหกรณ์เองก็มีความรู้ด้านธุรกิจ การบริหารจัดการไม่เพียงพอ ขาดแคลนเงินทุนในการประกอบธุรกิจ ขาดข้อมูลข่าวสาร เทคโนโลยีด้านการผลิต การพัฒนาคุณภาพสินค้า และความรู้ด้านการตลาด ซึ่งปัญหาเหล่านี้ภาครัฐจะต้องเข้าไปช่วยเหลือสนับสนุน"
โครงการดังกล่าวภายใต้มาตรการ มพช. จึงมุ่งเน้นการพัฒนาสมรรถนะการดำเนินงานให้กับ สหกรณ์ภาคการเกษตร ให้มีความเข้มแข็ง และเพิ่มขีดความสามารถด้านการผลิต/การตลาด โดยจัดส่งลูกจ้างชั่วคราวปฏิบัติงานช่วยเหลือสหกรณ์ จำนวน 600 คนเข้าไปให้คำแนะนำเกี่ยวกับการจัดการและแนวทางการดำเนินกิจกรรมให้สหกรณ์ภาคการเกษตรขนาดกลางที่มีความพร้อมที่จะขยายธุรกิจ เพื่อพัฒนากิจกรรมให้หลากหลาย และสหกรณ์ขนาดเล็กที่กำลังพัฒนา จำนวน 600 สหกรณ์
ลูกจ้างชั่วคราวที่ได้รับการจ้างงานจากงบ มพช.นั้น แบ่งเป็น 2 ระดับ คือ วุฒิปริญญาตรี จำนวน 400 คน และ ปวส. จำนวน 200 คน ซึ่งได้รับการอบรมจากศูนย์ฝึกอบรมสหกรณ์ จะรับผิดชอบช่วยเหลือสหกรณ์ในการวางแผนพัฒนาสหกรณ์ เช่น ในด้านการบริหารจัดการ การดำเนินธุรกิจ รวมถึงการพัฒนาคุณภาพชีวิตและการส่งเสริมการประกอบอาชีพให้กับสมาชิกสหกรณ์ ตลอดจนการเสริมประสิทธิภาพในการดำเนินงานสหกรณ์ในเรื่องของการจัดทำบัญชี การดำเนินธุรกิจการซื้อ การขาย และการเงิน
"หลังจากเสร็จสิ้นโครงการแล้ว คาดว่าสหกรณ์เป้าหมายที่ผ่านการคัดเลือกโดยสำนักงานสหกรณ์จังหวัด ทั้ง 600 สหกรณ์ จะมีความเข้มแข็งในระดับหนึ่งพอที่จะเอื้อประโยชน์ ช่วยยกระดับความเป็นอยู่ของสมาชิกที่เป็นเกษตรกรรายย่อยให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น และจำนวนสหกรณ์ภาคเกษตรที่ประสบผลสำเร็จในการจัดการธุรกิจจะมีมากขึ้น" รองอธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์กล่าว.
ข้อมูลเพิ่มเติมโปรดติดต่อ : ศูนย์ประชาสัมพันธ์ มพช.
คุณสุภาพร หวานเสนาะ / คุณสร้อยนภา สงฆ์โนนเหล็ก
โทร. 279-8001, 616-2270-1--จบ--
-อน-