กรุงเทพฯ--25 พ.ค.--อย.
อุดช่องรั่วไหลวัตถุออกฤทธิ์ฯ ประเภท 4 และยาเสพติดให้โทษ ประเภท 3 อย.ออกโรงแจ้งเตือนร้านขายยาและเภสัชกรประจำร้านให้เข้มงวดเรื่องการขายโดยจะขายได้เฉพาะในร้านขายยาที่ได้รับอนุญาตเท่านั้น ส่วนเภสัชกรประจำร้านต้องควบคุมดูแล หากฝ่าฝืน ทั้งร้านขายยาและเภสัชกรต้องได้รับโทษตามกฎหมาย
น.พ.ศิริวัฒน์ ทิพย์ธราดล รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา เปิดเผยกับผู้สื่อข่าวว่า ปัญหายาเสพติดเป็น 1 ใน 3 ปัญหาที่รัฐบาลให้ความสำคัญและเร่งที่จะขจัดให้หมดไป เพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ โดยมีมาตรการทั้งการควบคุมสารตั้งต้น การบำบัดรักษา ป้องกัน และปราบปราม รวมถึงการเผาทำลาย ซึ่งเมื่อเร็วๆนี้ กระทรวงสาธารณสุขโดยสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้ดำเนินการเผาทำลายยาเสพติดไปแล้วจำนวนมาก แต่อย่างไรก็ตาม ปัญหาที่ยังคงพบอยู่ คือ การลักลอบขายวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทประเภท 4 และยาเสพติดให้โทษในประเภท 3 ในร้ายขายยาที่ไม่ได้รับอนุญาตให้ขาย รวมทั้งการปฏิบัติที่ไม่ถูกต้องในร้านขายยาที่ได้รับอนุญาตให้ขาย ซึ่งเป็นจุดรั่วไหลที่ทำให้มีการนำไปใช้ในทางที่ผิด โดยวัตถุออกฤทธิ์ฯ ในประเภท 4 ที่เป็นปัญหา ได้แก่ อัลปราโซแลม (ชื่อทางการค้า ซาแน็ก) และไดอาซีแปม (ชื่อการค้า แวเลี่ยม) และยาเสพติดให้โทษในประเภท 3 ที่เป็นปัญหา ได้แก่ ยาแก้ไขผสมโคเดอีน อย.จึงขอแจ้งเตือนร้านขายยาทุกแห่งทั่วประเทศโปรดอย่าเสี่ยงฝ่าฝืน มิฉะนั้น จะได้รับโทษตามกฎหมาย ทั้งนี้ ตามกฎหมายแล้ว การจำหน่ายวัตถุออกฤทธิ์ฯ ในประเภท 4 ต้องจำหน่ายในร้านขายยาที่ได้รับอนุญาตขายวัตถุออกฤทธิ์ฯ ในประเภท 4 เท่านั้น โดยเภสัชกรต้องควบคุมการขายตามใบสั่งแพย์ และต้องทำบัญชีการซื้อ-ขาย ตามที่กฎหมายกำหนด ร้านขายยาใดฝ่าฝืนจำหน่ายต้องได้รับโทษปรับตั้งแต่หนึ่งหมื่นบาทเช่นกัน นอกจากนี้ ร้านขายยาใดไม่จัดทำบัญชีการขายวัตถุออกฤทธิ์ฯ ต้องได้รับโทษปรับตั้งแต่สองหมื่นบาทถึงหนึ่งแสนบาท ส่วนเภสัชกรผู้ใดไม่ลงบัญชีรายละเอียดการขายมีโทษปรับไม่เกินหนึ่งพันบาท และในระหว่างที่เภสัชกรไม่อยู่ ห้ามผู้อื่นขายแทน หากฝ่าฝืนต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ทางด้านการจำหน่ายยาเสพติดให้โทษในประเภท 3 นั้น กฎหมายอนุญาตให้จำหน่ายได้ในร้านขายยาที่ได้รับอนุญาตจำหน่ายยาเสพติดให้โทษในประเภท 3 เท่านั้น โดยเภสัชกรประจำร้านต้องอยู่ควบคุมการจำหน่ายตลอดเวลาที่เปิดทำการ และควรระมัดระวังไม่จำหน่ายแก่เยาวชน หรือบุคคลที่สงสัยว่าจะนำไปใช้ในทางที่ผิด และควรจำหน่ายในปริมาณที่เหมาะสมในการรักษาแต่ละครั้ง เภสัชกรผู้ใดไม่ปฏิบัติตาม ต้องรับโทษปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท นอกจากนี้ ร้านขายยาดังกล่าวจะต้องทำบัญชีรับจ่ายยาเสพติดให้โทษเสนอเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา เป็นรายเดือนและรายปีอีกด้วย ผู้ฝ่าฝืนมีโทษปรับไม่เกินห้าพันบาท
รองเลขาธิการฯ กล่าวในตอนท้ายว่า อย.ขอให้ร้านขายยาและเภสัชกรปฏิบัติให้ถูกต้องในเรื่องการจำหน่ายวัตถุออกฤทธิ์ฯ และยาเสพติด โปรดอย่าเสี่ยงฝ่าฝืนกฎหมาย เพราะ อย.จะมีการตรวจสอบอย่างเข้มงวด หากพบจะส่งดำเนินการตามกฎหมายทันที--จบ--
-สส-