กรุงเทพฯ--2 พ.ค.--PC & Associates Consulting
ปูนซีเมนต์นครหลวง เป็นบริษัทแรกในประเทศไทยที่ปรับเปลี่ยนการดำเนินงานเป็นระบบดิจิทัลด้วย "โรงงานดิจิทัลอัจฉริยะ" (Digital Connected Plant)
บริษัท ปูนซีเมนต์นครหลวง จำกัด (มหาชน) หนึ่งในผู้ผลิตปูนซีเมนต์ชั้นนำของประเทศไทย ได้ติดตั้งโครงสร้างพื้นฐาน Pervasive Network และระบบเชื่อมต่อไร้สายครอบคลุมทั่วทุกพื้นที่ภายในโรงงานผลิตปูนซีเมนต์ โรงงาน 3 จังหวัดสระบุรี นับเป็นครั้งแรกของอุตสาหกรรมในการติดตั้งเทคโนโลยีดังกล่าวในประเทศไทย โดยใช้เทคโนโลยีที่ก้าวล้ำจากซิสโก้ และบริการติดตั้งระบบจากฟูจิตสึ
การติดตั้งระบบโครงสร้างพื้นฐานครั้งนี้เป็นส่วนหนึ่งของกลยุทธ์ "อินดัสเตรียล อินเทอร์เน็ต ออฟ ธิงส์ หรือ อินดัสเตรียล ไอโอที (Industrial Internet of Things: IIoT) ของปูนซีเมนต์นครหลวง ซึ่งมีจุดมุ่งหมายในการเปลี่ยนระบบงานแบบเดิมที่ต้องใช้แรงงานจำนวนมาก รวมถึงเอกสารที่เป็นกระดาษ พร้อมปรับปรุงกระบวนการทำงานภายในองค์กร โดยอาศัยการทำงานร่วมกันกับผู้เชี่ยวชาญผ่านการเชื่อมต่อระยะไกล (Remote Expert Collaboration) และเทคโนโลยีการเรียนรู้ของเครื่องจักร (Machine Learning) ปูนซีเมนต์นครหลวงได้ติดตั้งอุปกรณ์เชื่อมต่อ WiFi และความถี่วิทยุ (RF) ที่หลากหลายรุ่นตามจุดต่างๆ ภายในโรงงานผลิตปูนซีเมนต์ โรง 3 โดยความร่วมมือจากฟูจิตสึ รวมถึงแอ็คเซสพอยต์ Cisco Aironet® 1532E จำนวน 374 เครื่องสำหรับการใช้งานภายนอกอาคาร และสวิตช์เครือข่าย Cisco® Industrial Ethernet (IE) 4000 Series จำนวน 40 เครื่อง จากซิสโก้ ภายใต้กรอบระยะเวลาที่กำหนด (เดือนมีนาคม 2560) หลังจากที่ดำเนินการติดตั้งเสร็จสมบูรณ์ เครือข่ายดังกล่าวสามารถรองรับอุปกรณ์พกพาได้อย่างไม่จำกัดจำนวน สามารถเชื่อมต่อได้ทุกเวลา ด้วยอัตราความเร็วเฉลี่ย 1.3-1.5 กิกะบิตต่อวินาที
นอกเหนือจากการลดระยะเวลาการทำงานที่หยุดชะงักอย่างไม่คาดคิด (Downtime) ลดค่าบำรุงรักษารายปี และปัญหาอุปกรณ์ที่ขาดประสิทธิภาพแล้ว ปูนซีเมนต์นครหลวงจะใช้เครือข่ายนี้เป็นรากฐานสำหรับการติดตั้งโซลูชั่น IIoT ในอนาคต เช่น ระบบตรวจสอบติดตามตำแหน่งที่ตั้งแบบเรียลไทม์ของพนักงาน ผู้รับเหมา และอุปกรณ์ต่างๆ รวมไปถึงกระบวนการตรวจสอบคุณภาพงานในรูปแบบดิจิตอล ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพและความปลอดภัยให้กับบุคลากรและเครื่องจักรภายในโรงงาน ความร่วมมือกับซิสโก้ และฟูจิตสึ ช่วยให้ปูนซีเมนต์นครหลวงสามารถพัฒนาระบบดิจิตอลที่ยั่งยืน ควบคู่ไปกับการติดตั้งระบบรักษาความปลอดภัยแบบครบวงจรที่ครอบคลุมโครงสร้างพื้นฐานทั้งหมด
คำกล่าวสนับสนุน
คุณอิฑยา ศิริวสุกาญจน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท อินทรี ดิจิตอล จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทในกลุ่มบริษัทปูนซีเมนต์นครหลวง กล่าวว่า
"ในฐานะผู้ผลิตปูนซีเมนต์ชั้นนำของไทย เราตระหนักถึงความจำเป็นในการสร้างความแตกต่างเพื่อขยายธุรกิจให้เติบโตอย่างต่อเนื่อง และรักษาส่วนแบ่งตลาดในระยะยาว เครือข่าย Pervasive Network นี้จะช่วยให้เราสร้างความได้เปรียบจากการเริ่มดำเนินการก่อนองค์กรอื่นๆ ทั้งยังช่วยให้พนักงานและคู่ค้าได้รับประโยชน์จากระบบโมบิลิตี้ ความยืดหยุ่น และความปลอดภัยสำหรับการทำงานอย่างเต็มศักยภาพ
การร่วมมือของซิสโก้ที่มีความเชี่ยวชาญอย่างมากในการผลักดันคุณประโยชน์ของระบบเชื่อมต่อแบบใหม่ รวมถึงเทคโนโลยี Internet of Things และฟูจิตสึในฐานะผู้ติดตั้งระบบชั้นนำระดับโลก ช่วยยกระดับประสิทธิภาพและการทำงานร่วมกันของบุคลากร และช่วยให้เราพัฒนาการดำเนินงานภายใต้วิสัยทัศน์ "ไทยแลนด์ 4.0" เรามีแผนที่จะขยายระบบดิจิตอลของเราสู่อุตสาหกรรมการผลิต เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ผลิตรายอื่นๆ ได้เรียนรู้จากประสบการณ์ของเราในการสร้างความเติบโตที่ยั่งยืน และบรรลุเป้าหมายของอุตสาหกรรม 4.0 (Industry 4.0)"
คุณวัตสัน ถิรภัทรพงศ์, กรรมการผู้จัดการประจำประเทศไทยและภูมิภาคอินโดจีนของซิสโก้
"รายงานอุตสาหกรรมชี้ให้เห็นว่า การใช้จ่ายด้าน IoT ในประเทศไทยจะเพิ่มเป็น 33,500 ล้านบาทภายในปี 2563 โดยภาคอุตสาหกรรมการผลิตจะมียอดการลงทุนในส่วนนี้ราว 15,000 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม ถ้าไม่มีระบบเชื่อมต่อเครือข่ายที่แข็งแกร่ง และปรับขนาดได้อย่างยืดหยุ่น ผู้ผลิตก็จะไม่สามารถใช้ประโยชน์อย่างเต็มที่จากเทคโนโลยีที่ทันสมัย เช่น เทคโนโลยี Internet of Things เรารู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้เป็นส่วนช่วยในการติดตั้งระบบเชื่อมต่อภายในโรงผลิตปูนซีเมนต์ โรงงาน 3 จังหวัดสระบุรี ของปูนซีเมนต์นครหลวง เพื่อวางรากฐานสำหรับการปรับปรุงประสิทธิภาพ ความปลอดภัย และการสร้างสรรค์นวัตกรรมดิจิตอลสำหรับอนาคต องค์กรธุรกิจอื่นๆ ควรพิจารณาโซลูชั่นนี้ที่ถือเป็นกรณีศึกษาอย่างเป็นรูปธรรมในการพัฒนาสู่อุตสาหกรรม 4.0 โซลูชั่นดังกล่าวช่วยเสริมสร้างประสิทธิภาพการทำงานของปูนซีเมนต์นครหลวงในฐานะผู้ผลิต พันธมิตรอุตสาหกรรม และองค์กรที่ดีเยี่ยมทั้งในประเทศไทย และในระดับภูมิภาค"
มร. อิจิ ฟูรูคาวา, กรรมการผู้จัดการ บริษัท ฟูจิตสี (ประเทศไทย) จำกัด
"ในยุคที่ทุกธุรกิจต้องพร้อมรับมือกับความเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว การก้าวเข้าสู่ยุค Digital Transformation หรือการปรับเปลี่ยนธุรกิจโดยใช้ดิจิทัลมาเป็นกลไกหลักในการขับเคลื่อน เราใช้ ฟูจิตสึ ดิจิทัล แพทฟอร์ม ในการเริ่มขับเคลื่อนบริการให้กับลูกค้าในหลากหลายอุตสาหกรรม อาทิ กลุ่มอุตสาหกรรมโรงงาน กลุ่มค้าปลีก กลุ่มการเงินธนาคาร กลุ่มโลจิสติกส์และขนส่ง เรานำเสนอภาพรวมของดำเนินธุรกิจทั้งหมด เพื่อสร้างให้เกิด "ธุรกิจดิจิทัลอัจฉริยะ" ซึ่งการขับเคลื่อนเทคโนโลยีนี้ ไม่เพียงแต่เกี่ยวเนื่องกับเทคโนโลยีทีทันสมัย แต่เป็นการส่งผ่านความรู้ไปยังคนรุ่นต่อไปและสร้างให้เกิดคุณภาพชีวิตที่ดีต่อมวลมนุษย์ชาติ นั่นคือปรัชญาในการทำงานของฟูจิตสึ ที่ให้ความสำคัญกับคนและสังคมเป็นศูนย์กลาง (Human Centric Intelligence SOCIETY) และ SCCC คือความสำเร็จที่ ฟูจิตสึ ภูมิใจที่ได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนสู่ระบบโรงงานอัจฉริยะ ซึ่งฟูจิตสึเชื่อว่าความสำเร็จที่เกิดขึ้นกับ SCCC จะช่วยเสริมสร้างคุณภาพชีวิตของบุคคลในองค์กรและขยายผลถึงความสำเร็จอุตสาหกรรมในภาพรวมและประเทศไทยด้วย"