กรุงเทพฯ--2 พ.ค.--สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม
สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) ผลักดันมาตรฐานการทดสอบเสียงจากยางล้อที่สัมผัสผิวถนน การยึดเกาะถนนบนพื้นเปียกและความต้านทานการหมุนฉบับใหม่ (มอก. 2721-2559) เป็นมาตรฐานบังคับ โดย กมอ. ให้ความเห็นชอบ เมื่อวันที่ 27 เมษายน ที่ผ่านมา หลังจากที่เห็นชอบให้มาตรฐานยางล้อ จำนวน 3 รายการ เป็นมาตรฐานบังคับแล้วเมื่อเดือนมิถุนายน 2559 เพื่อพัฒนาศักยภาพผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมยางล้อในประเทศให้มีคุณภาพและความปลอดภัยยิ่งขึ้น
นายพิสิฐ รังสฤษฎ์วุฒิกุล เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม กล่าวว่า คณะกรรมการ มาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (กมอ.) ให้ความเห็นชอบมาตรฐานการทดสอบเสียงจากยางล้อที่สัมผัส ผิวถนน การยึดเกาะถนนบนพื้นเปียกและความต้านทานการหมุน มอก. 2721-2559 เป็นมาตรฐานบังคับ หลังจากที่ กมอ. เห็นชอบมาตรฐานยางล้อจำนวน 3 รายการ เป็นมาตรฐานบังคับแล้ว ได้แก่
1. มอก. 2718 มาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมยางล้อแบบสูบลมสำหรับรถยนต์และส่วนพ่วง
2. มอก. 2719 มาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมยางล้อแบบสูบลมสำหรับรถยนต์เชิงพาณิชย์และส่วนพ่วง
3. มอก. 2720 มาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมมาตรฐานยางล้อแบบสูบสำหรับรถจักรยานยนต์และโมเปด
ยางล้อเป็นส่วนประกอบสำคัญของรถที่มีผลต่อความปลอดภัยในการใช้งานโดยตรง หากยางไม่มีคุณภาพอาจก่อให้เกิดอุบัติเหตุได้ ซึ่งการกำหนดให้มาตรฐานผลิตภัณฑ์ยางล้อสำหรับรถจักรยานยนต์ รถยนต์ และรถยนต์เชิงพาณิชย์เป็นมาตรฐานบังคับแล้ว สมอ. ยังกำหนดให้ยางล้อที่ประกอบมากับรถยนต์ต้องผ่านมาตรฐานการทดสอบเสียงจากยางล้อที่สัมผัสผิวถนน การยึดเกาะถนนบนพื้นเปียกและความต้านทานการหมุนให้เป็นไปตาม มอก. 2721-2559 ด้วย ทั้งนี้เพื่อความปลอดภัยของผู้ใช้งานและช่วยลดสถิติการเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนนของประเทศไทย ที่ติดอันดับการเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนนเป็นอันดับ 2 ของโลกด้วย
การกำหนดให้ มอก. ยางล้อทั้ง 4 ฉบับเป็นมาตรฐานบังคับ สมอ. อ้างอิงมาจากมาตรฐานสากล ดังนี้ 1.) มอก.2718 อ้างอิงมาจากมาตรฐาน UN-R30 2.) มอก.2719 อ้างอิงมาจากมาตรฐาน UN-R54 3.) มอก.2720 อ้างอิงมาจากมาตรฐาน UN-R75 4.) มอก.2721 อ้างอิงมาจากมาตรฐาน UN-R117 ซึ่งเป็นมาตรฐานระหว่างประเทศที่ทั่วโลกกำลังให้ความสำคัญอย่างมากในปัจจุบัน และมีขั้นตอนการทดสอบหลายอย่าง เช่น ทดสอบความยืดหยุ่นในการรับน้ำหนัก การทดสอบสมรรถนะน้ำหนักต่อความเร็วของยางล้อ การสึกดอกยาง ทดสอบความร้อนกับความดันยาง เป็นต้น
เลขาธิการ สมอ. กล่าวเพิ่มเติมว่า หากมาตรฐานทั้ง 4 เรื่องประกาศบังคับใช้ จะมีผลทำให้ผู้ทำและผู้นำเข้าต้องได้รับอนุญาตจาก สมอ. ก่อนทำและนำเข้า ขณะเดียวกันผู้จำหน่ายก็ต้องจำหน่ายสินค้าที่มีเครื่องหมาย มอก. เท่านั้น หากพบว่ามีการกระทำผิดจะถูกดำเนินคดีทางกฎหมายทันที สำหรับบทลงโทษในกรณีทำหรือนำเข้าผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมโดยไม่ได้รับใบอนุญาต มีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี ปรับไม่เกิน 1,000,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ร้านค้าที่จำหน่ายผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมที่ไม่เป็นไปตามมาตรฐาน มีโทษจำคุกไม่เกิน 1 เดือน หรือปรับตั้งแต่ 5,000-50,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และแสดงเครื่องหมาย มอก. โดยไม่ได้รับอนุญาต มีโทษจำคุก 3 เดือน ปรับตั้งแต่ 100,000-1,000,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ทั้งนี้ เพื่อปกป้องคุ้มครองผู้บริโภคให้ได้รับความปลอดภัยจากการใช้สินค้าที่มีคุณภาพ ผู้ประกอบการและผู้ที่เกี่ยวข้องสามารถรับทราบการกำหนดมาตรฐานอย่างต่อเนื่อง และติดตามความเคลื่อนไหวด้านการมาตรฐานได้ที่ www.tisi.go.th หรือ www.facebook.com/tisiofficial