กรุงเทพฯ--2 พ.ค.--สำนักงาน ป.ป.ช.
ศาสตราจารย์พิเศษ วิชา มหาคุณ ประธานมูลนิธิต่อต้านการทุจริต (ANTI - CORRUPTIONFOUNDATION) กล่าวว่า ประเทศไทยในตอนนี้ต้องการคนดีที่มีความจริงจังและจริงใจ ในการร่วมป้องกันการทุจริตในทุกรูปแบบ การจัดหาเครือข่ายในภาคส่วนต่างๆ นั้นสำคัญมาก ทั้งนี้ก็เพื่อสร้างความตระหนักรู้ให้เกิดแก่องค์กรเครือข่ายภาคประชาสังคม ภาคการศึกษาและภาคส่วนต่างๆ จึงควรให้ประชาชนที่รวมกันเป็นกลุ่มองค์กรเครือข่าย ได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับองค์กรอิสระฯ ตลอดจนหน่วยงานต่อต้านการทุจริตของภาครัฐ
มูลนิธิต่อต้านการทุจริต กำหนดจัดทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ด้านการต่อต้านการทุจริต ครั้งที่ ๒/๒๕๖๐ ระหว่างมูลนิธิต่อต้านการทุจริต กับมหาวิทยาลัยต่างๆ และ การเสวนาทางวิชาการ ด้านการต่อต้านการทุจริต วันพฤหัสบดีที่ ๔ พฤษภาคม ๒๕๖๐ เวลา ๐๘.๐๐ – ๑๒.๐๐ น. ณ ห้อง ๔๒๒๔ ชั้น ๒ อาคารสิ่งแวดล้อมพัฒนดล คณะพัฒนาสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา จังหวัดนครปฐม
ภายในงาน หลังจากมีพิธีเปิดงานอย่างเป็นทางการ โดยศาสตราจารย์พิเศษ วิชา มหาคุณ ประธานกรรมการมูลนิธิต่อต้านการทุจริต จะเป็นพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือด้านการต่อต้านการทุจริต ระหว่างมูลนิธิต่อต้านการทุจริต กับมหาวิทยาลัยต่าง ๆ จำนวน ๑๒ สถาบัน ซึ่งประกอบด้วย มหาวิทยาลัยมหิดล มหาวิทยาลัยศิลปากร มหาวิทยาลัยรามคำแหง มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา มหาวิทยาลัยสวนดุสิต มหาวิทยาลัยราชภัฏจันทรเกษม มหาวิทยาลัยราชภัฏธนบุรี และมหาวิทยาลัยราชภัฎนครปฐม
และต่อด้วยการนำเสนอหลักสูตรและการจัดกิจกรรมของมหาวิทยาลัยมหิดล เพื่อเป็นแนวทางในการพัฒนาและจัดกิจกรรมของมหาวิทยาลัยต่างๆ ที่เข้าร่วมจัดทำบันทึกข้อตกลงในครั้งนี้ และต่อด้วยการเสาวนาทางวิชาการในหัวข้อ "เยาวชนกับบทเรียนต้านโกง" โดยวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิ ศาสตราจารย์พิเศษ วิชา มหาคุณ ประธานกรรมการมูลนิธิต่อต้านการทุจริต อาจารย์ผู้แทนมหาวิทยาลัยมหิดล นายทศพร รัตนมาศทิพย์ ประธานตรวจสอบและป้องกันการทุจริต สมาคมธนาคารไทย นางศิริรัตน์ วสุวัต ผู้เชี่ยวชาญ ด้านวิจัย สำนักงาน ป.ป.ช. ดร.ณัฏฐญา พัฒนะวาณิชนันท์ ผู้ทรงคุณวุฒิ กระทรวงสาธารณสุข ผู้ดำเนินรายการ
สำหรับมูลนิธิต่อต้านการทุจริตได้ให้ความสำคัญกับการสร้างวัฒนธรรม ในการไม่ทนต่อการทุจริต โดยผ่านสถาบันหลักทางสังคมและกลุ่มเยาวชน ทั้งนี้ เพี่อเป็นการสร้างเสริม สนับสนุน เผยแพร่ ให้เกิดความร่วมมือ ในการเสริมสร้างทัศนคติ ค่านิยม ในความซื่อสัตย์สุจริต ในมหาวิทยาลัย ภาคประชาชนและชุมชน และเพื่อสร้างเครือข่ายการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในกลุ่มคณาจารย์ บุคลากร นิสิต นักศึกษา ตลอดจนนักเรียนในสถานศึกษาในสังกัด และสร้างการส่วนร่วมในการป้องกันและต่อต้านการทุจริตทุกรูปแบบ